ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 25, 2009 13:36 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ โดยขอตัดความในมาตรา 43 ซึ่งเป็นการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิชุดแรกออกทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับองค์การมหาชนแห่งอื่นในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และให้ส่งร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง แล้วให้ดำเนินการต่อไปได้

สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา

1. กำหนดนิยามของคำว่า “นวัตกรรม” “โครงการนวัตกรรม” “เครือข่ายนวัตกรรม” “สำนักงาน” “คณะกรรมการ” และ “ผู้อำนวยการ” เป็นต้น (ร่างมาตรา 3)

2. ให้จัดตั้งสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เรียกโดยย่อว่า “สนช.” และให้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “National Innovation Agency (Public Organization)” เรียกโดยย่อว่า “NIA” โดยมีสำนักงานใหญ่ ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร หรือจังหวัดใกล้เคียง และให้สำนักงานมีวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด (ร่างมาตรา 5 ถึงร่างมาตรา 8)

3. กำหนดให้ทุนและทรัพย์สินของสำนักงานประกอบด้วย เงินและทรัพย์สินที่ได้รับโอนตามมาตรา 41 เงินที่รัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนประเดิม เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้ เงินอุดหนุนจากภาคเอกชน องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่น รวมทั้งจากต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ เป็นต้น แต่การรับเงินหรือทรัพย์สินจากภาคเอกชนดังกล่าวจะต้องไม่ทำให้สำนักงานขาดความเป็นอิสระหรือความเป็นกลาง (ร่างมาตรา 9)

4. ให้สำนักงานมีอำนาจเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน หรือค่าบริการในกิจการที่อยู่ในวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ตามอัตราที่คณะกรรมการกำหนด และให้รายได้ของสำนักงานไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง และกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ทั้งนี้ ทรัพย์สินซึ่งสำนักงานได้มาจากการให้ หรือซื้อด้วยเงินรายได้ของสำนักงานเป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงาน รวมทั้งให้ใช้จ่ายเงินของสำนักงานไปเพื่อกิจการของสำนักงาน (ร่างมาตรา 10 ถึงร่างมาตรา 13)

5. ให้มีคณะกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ ประกอบด้วยประธานกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง กรรมการโดยตำแหน่ง จำนวนสามคน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกินหกคน โดยประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนด มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้ (ร่างมาตรา 14 ถึงร่างมาตรา 18 )

6. ให้คณะกรรมการมีอำนาจควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของสำนักงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด (ร่างมาตรา 19)

7. กำหนดองค์ประชุมของคณะกรรมการ และการวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุม การแต่งตั้งที่ปรึกษา คณะอนุกรรมการฯ และสิทธิการได้รับเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่นตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด (ร่างมาตรา 20 ถึงร่างมาตรา 22 )

8. ให้มีผู้อำนวยการสำนักงานซึ่งคณะกรรมการเป็นผู้มีอำนาจสรรหาแต่งตั้ง และถอดถอน โดยผู้อำนวยการต้องทำงานเต็มเวลา มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนด มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี แต่ไม่เกินสองวาระติดต่อกันมีหน้าที่บริหารกิจการของสำนักงานและมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด โดยคณะกรรมการเป็นผู้กำหนดอัตราเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้อำนวยการตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด (ร่างมาตรา 23 ถึงร่างมาตรา 30)

9. กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการประสานการปฏิบัติการของคณะกรรมการกับหน่วยงานของรัฐ เพื่อประโยชน์การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมของประเทศอย่างบูรณาการและมุ่งให้เกิดผลสัมฤทธิ์(ร่างมาตรา 31)

10.กำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานของสำนักงานมีสามประเภท คือ เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้าง ที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญ และเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมาปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราว รวมทั้งกำหนดคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม และหลักเกณฑ์การพ้นจากตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ (ร่างมาตรา 32 ถึงร่างมาตรา 35 )

11.กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับบัญชี การตรวจสอบและการประเมินผลงานของสำนักงาน (ร่างมาตรา 36 ถึงร่างมาตรา 39 )

12.กำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินกิจการของสำนักงานให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง นโยบายรัฐบาล และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง (ร่างมาตรา 40)

13.กำหนดบทเฉพาะกาลโดยให้ยุบเลิกกองทุนพัฒนานวัตกรรมและเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี การโอนกิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ และเงินของกองทุนฯ รวมทั้งบุคลากรและงบประมาณของสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ไปเป็นของสำนักงาน การปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวของคณะกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติและผู้อำนวยการ การแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา และการใช้บังคับระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือข้อกำหนด ที่มีอยู่ก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ (ร่างมาตรา 41 ถึงร่างมาตรา 45)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 มีนาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ