มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2552 (ครั้งที่ 124)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 25, 2009 14:20 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและรับทราบมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2552 (ครั้งที่ 124) เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2552 ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ดังนี้

เรื่องเพื่อพิจารณา

1. แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2551-2564 (PDP 2007: ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2)

มติที่ประชุม

1.1 เห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2551 - 2564 (PDP 2007 : ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2) โดยให้ดำเนินการตามแผนเฉพาะในปี 2552 - 2558 เพื่อให้ปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศอยู่ในระดับที่เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงลดภาระการลงทุนการขยายโครงการผลิตไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นของประเทศลงให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2559 - 2564 ให้นำไปพิจารณาทบทวนในการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศครั้งต่อไป เมื่อประมาณการภาวะเศรษฐกิจชุดใหม่ซึ่งกระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกันจัดทำแล้วเสร็จ

1.2 มอบหมายให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จัดทำแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติ ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2551-2564 (PDP 2007 : ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2) และนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเพื่อพิจารณาต่อไป

เรื่องเพื่อทราบ

1. ข้อเสนอเพื่อปรับปรุงแนวทางการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

1.1 เห็นชอบแนวทางการปรับปรุงการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานรับนโยบายดังกล่าวไปจัดทำรายละเอียดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และยกร่างประกาศการให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า พร้อมทั้งกำกับดูแลภายใต้กรอบนโยบายของรัฐต่อไป

1.2 เห็นควรให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณานโยบายการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยมีอำนาจหน้าที่ในการศึกษา วิเคราะห์ และเสนอนโยบายมาตรการสนับสนุนการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รวมทั้ง ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายเพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติให้ความเห็นชอบ

1.3 มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ศึกษาและเสนอแนะมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เหมาะสมสำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแต่ละชนิดและเทคโนโลยี ให้สอดคล้องกับศักยภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการกำหนดนโยบายการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของประเทศ และเสนอคณะอนุกรรมการพิจารณานโยบายการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประกอบการพิจารณาจัดทำข้อเสนอในด้านนโยบายต่อไป

1.4 มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยรับไปสำรวจและรวบรวมข้อมูลพื้นที่ ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ พร้อมทั้งพิจารณาร่วมกับกระทรวงพลังงานเพื่อเสนอรูปแบบหรือมาตรการจูงใจการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเพื่อพิจารณาภายใน 6 เดือน

2. นโยบายการนำส่งเงินและการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550

2.1 เห็นชอบข้อเสนอนโยบายการนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า

2.2 เห็นชอบข้อเสนอนโยบายการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า

2.3 เห็นชอบข้อเสนอแนวทางการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าในช่วงเปลี่ยนผ่าน

3. แนวทางการชำระเงินชดเชยราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) จากการนำเข้าเพื่อให้เป็นไปตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2552 ที่เห็นชอบให้ชะลอการพิจารณาการปรับราคาก๊าซ LPG ออกไปก่อน และมอบให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานรับไปพิจารณาแนวทางการชำระเงินชดเชยราคาก๊าซ LPG จากการนำเข้า ซึ่งเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2552 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติ เรื่อง แนวทางการชำระเงินชดเชยราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลวจากการนำเข้า ดังนี้

3.1 เห็นชอบให้ยกเลิกมติ กบง. เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 ในประเด็น “การปรับเพิ่มราคาก๊าซ LPG ที่ใช้ในภาคขนส่งและอุตสาหกรรม เพื่อนำเงินที่ได้จากอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปชำระเงินชดเชยการนำเข้าก๊าซ LPG”

3.2 เห็นชอบให้ใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจ่ายชดเชยการนำเข้าก๊าซ LPG ตั้งแต่เดือนมกราคม 2552 เป็นต้นไป ในวงเงินไม่เกินเดือนละ 500 ล้านบาท และมอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน กรมสรรพสามิตและสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) ร่วมกันจัดระบบการจ่ายเงินชดเชยสำหรับก๊าซ LPG ที่นำเข้ามาใช้ในประเทศ

ทั้งนี้ ในกรณีที่ยอดการจ่ายเงินชดเชยการนำเข้าก๊าซ LPG เกินวงเงินเดือนละ 500 ล้านบาท ให้ สนพ. นำเสนอ กบง.พิจารณาใหม่อีกครั้ง

3.3 มอบหมายให้สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน พิจารณาจ่ายเงินชดเชยสำหรับก๊าซ LPG จากการนำเข้าในปี 2551 เป็นจำนวนเงิน ประมาณ 7,948 ล้านบาท ระยะเวลาการจ่ายเงินชดเชยภายใน 2 ปี โดยให้ดำเนินการจ่ายเงินชดเชยหลังจากสิ้นสุดมาตรการการใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ บรรเทาผลกระทบจากการปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตน้ำมัน

4. รายงานการดำเนินการการใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับเพิ่ม อัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน

ในการปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติเห็นชอบให้ปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้บริโภค จึงทำให้ เกิดภาระแก่กองทุนน้ำมันฯ ซึ่งต่อมา กบง. มีมติให้ปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯเป็นระยะๆ เพื่อลดภาระของกองทุนน้ำมันฯ โดยตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ — 13 มีนาคม 2552 ได้ปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ไปแล้ว 6 ครั้ง ดังนี้

ครั้งที่ 1 วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552 ปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตน้ำมัน กบง. ได้ใช้กองทุนน้ำมันฯ เข้าไปรับภาระบางส่วน โดยปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 และ 91 ลง 3.48 บาท/ลิตร แก๊สโซฮอล E20 ลง 2.93 บาท/ลิตร ดีเซลหมุนเร็วลง 2.18 บาท/ลิตร และดีเซลหมุนเร็ว B5 ลง 0.86 บาท/ลิตร ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันแก๊สโซฮอลและดีเซลปรับเพิ่มขึ้นเพียง 1.55 บาท/ลิตร โดยที่กองทุนน้ำมันฯ รับภาระวันละ 125 ล้านบาท คิดเป็นภาระกองทุนน้ำมันฯ 1,500 ล้านบาท (ช่วงวันที่ 1 -12 กุมภาพันธ์ 2552)

ครั้งที่ 2 วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2552 ได้มีการปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของน้ำมันแก๊สโซฮอลและน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว เพิ่มขึ้น 0.60 บาท/ลิตร เพื่อลดภาระของกองทุนน้ำมันฯ ส่งผลให้ราคาขายปลีกเพิ่มขึ้น 0.60 บาท/ลิตร กองทุนน้ำมันฯ ลดการรับภาระเหลือวันละ 89 ล้านบาท คิดเป็นภาระกองทุนน้ำมันฯ 623 ล้านบาท (ช่วงวันที่ 13-19 กุมภาพันธ์ 2552)

ครั้งที่ 3 วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 ได้มีการปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของน้ำมันแก๊สโซฮอลและดีเซลหมุนเร็ว 0.80 บาท/ลิตร และดีเซลหมุนเร็ว B5 0.26 บาท/ลิตร โดยไม่ทำให้ราคาขายปลีกปรับเพิ่มขึ้น แต่ทำให้ค่าการตลาดของผู้ค้าลดลงอยู่ในระดับที่เหมาะสม ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ ลดการรับภาระเหลือวันละ 50 ล้านบาท คิดเป็นภาระกองทุนน้ำมันฯ 350 ล้านบาท (ช่วงวันที่ 20 — 26 กุมภาพันธ์ 2552)

ครั้งที่ 4 วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552 ปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของน้ำมันแก๊สโซฮอล 0.60 บาท/ลิตร และดีเซลหมุนเร็ว 0.20 บาท/ลิตร โดยไม่ทำให้ราคาขายปลีกปรับเพิ่มขึ้น แต่ทำให้ค่าการตลาดของผู้ค้าลดลง ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ ลดการรับภาระเหลือวันละ 36 ล้านบาท คิดเป็นภาระกองทุนน้ำมันฯ 252 ล้านบาท (ช่วงวันที่ 27 กุมภาพันธ์— 5 มีนาคม 2552)

ครั้งที่ 5 วันที่ 6 มีนาคม 2552 ปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของน้ำมันเบนซิน 91 แก๊สโซฮอล 0.70 บาท/ลิตร และดีเซลหมุนเร็ว 0.40 บาท/ลิตร โดยทำให้ค่าการตลาดของผู้ค้าอยู่ในระดับที่เหมาะสมส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ ลดการรับภาระเหลือวันละ 15 ล้านบาท โดยในระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ — 5 มีนาคม 2552 ได้ใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ เข้าพยุงราคาน้ำมันจากการขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมัน รวมทั้งสิ้น 2,725 ล้านบาท และจากภาระที่เหลืออยู่กองทุนน้ำมันฯ จะต้องปรับเพิ่มเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของน้ำมันแก๊สโซฮอล 95, 91 อีก 0.78 บาท/ลิตร น้ำมันแก๊สโซฮอล E20 อีก 0.23 บาท/ลิตร และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว อีก 0.18 บาท/ลิตร เพื่อให้อัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ กลับไปสู่อัตราเดิม

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 มีนาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ