คณะรัฐมนตรีรับทราบเรื่องการดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้
กระทรวงพาณิชย์รายงานว่า ได้มีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรี และนำเรียนเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อนำเรียนคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เรื่อง การกำกับดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในช่วงปี 2551 และแนวทางการกำกับดูแลราคาสินค้าในปี 2552 ซึ่ง สศช. ได้นำเสนอคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 แล้ว สรุปความได้ว่า สินค้าที่ติดตามดูแลความเคลื่อนไหวของราคาจำหน่าย จำนวน 200 รายการ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2550 ปรากฏว่ามีกลุ่มสินค้าที่ได้ปรับราคาจำหน่ายลดลงไปแล้ว จำนวน 150 รายการ คงมีเพียง 50 รายการ ที่ยังไม่ปรับลดราคาจำหน่ายลง เช่น นมถั่วเหลืองพร้อมดื่ม น้ำยาปรับผ้านุ่ม ปูนซีเมนต์ ยาป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืช น้ำมันหล่อลื่น และยางรถยนต์ เป็นต้น และคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจได้ขอให้ดำเนินการให้ผู้ประกอบการปรับลดราคาจำหน่ายสินค้าลงให้สอดคล้องกับต้นทุนที่ลดลง
การดำเนินการตามมติคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ
กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการตรวจสอบต้นทุนและราคาจำหน่ายของสินค้าทั้ง 50 รายการแล้ว ซึ่งสรุป ผลการตรวจสอบได้ ดังนี้
1. กลุ่มสินค้าที่ได้ลดราคาจำหน่ายลงตามต้นทุนที่ลดลงในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2552 เพิ่มเติมอีกจำนวน 25 รายการ ได้แก่ ผลไม้บรรจุภาชนะผนึก ซอสปรุงรสถั่วเหลือง ซอสพริก แป้งสาลี เต้าเจี้ยวบรรจุภาชนะผนึก ผลิตภัณฑ์ฟอกผ้าขาว น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น ครีมนวดผม เจล แต่งผม กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษชำระ เครื่องดูดฝุ่น พัดลม เครื่องเล่นวิทยุ-เทป กระเบื้องมุงหลังคา สีทาบ้าน แท้งค์น้ำ ถังเก็บน้ำ พลาสติกห่ออาหาร ยางรถยนต์ น้ำมันหล่อลื่น ตาข่ายกรองแสง เสียม และยาป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืช
ทั้งนี้ การปรับลดราคาสินค้าในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการกำกับดูแลราคาอย่างใกล้ชิดและ อีกส่วนหนึ่งเกิดจากการจัดงานจำหน่ายสินค้าตามโครงการธงฟ้าเป็นระยะในพื้นที่ชุมชนหนาแน่นซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพของประชาชน รวมทั้งอาหารปรุงสำเร็จ โดยสินค้าที่จำหน่ายในโครงการธงฟ้าทั้งหมดจะจัดจำหน่ายในราคาต่ำกว่าตลาดทั่วไปร้อยละ 20 ถึง 40 ทำให้ราคาสินค้าในตลาดทั่วไปไม่ปรับตัวสูงขึ้นมากนักอีกทั้งเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนผู้บริโภคในภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วงนี้ด้วย
2. กลุ่มสินค้าที่อยู่ในการกำกับดูแลของหน่วยงานอื่น จำนวน 4 รายการ ได้แก่ เกลือ(ผลผลิตของเกษตรกร) น้ำตาลทราย ก๊าซหุงต้ม และก๊าซเติมรถยนต์ เป็นต้น โดยเฉพาะน้ำตาลทรายและก๊าซหุงต้ม ก๊าซเติมรถยนต์ มีคณะกรรมการเฉพาะด้านดูแลราคาทั้งระบบครบวงจรอยู่แล้ว
3. กลุ่มสินค้าที่เหลือจำนวน 21 รายการ ที่ยังไม่ปรับลดลง เช่น ครีมเทียมข้นหวาน นมถั่วเหลืองพร้อมดื่ม กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำยาล้างห้องน้ำ จอบ รถไถเดินตาม เป็นต้น เนื่องจากเหตุผลดังนี้
3.1 ผู้ประกอบการมีสินค้าคงเหลือ ณ ต้นทุนการผลิตเดิมในปริมาณที่มากเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ความต้องการซื้อสินค้าของผู้บริโภคลดลง ผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าได้น้อยกว่าปกติ ซึ่งผู้ประกอบการขอเวลาในการระบายสินค้าต้นทุนเดิมสักระยะหนึ่งก่อน
3.2 สินค้าบางรายการราคาวัตถุดิบได้ลดลงจากช่วงที่มีราคาสูงสุดในปี 2551 แล้ว แต่ยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าราคาวัตถุดิบในช่วงที่ได้เห็นชอบให้มีการปรับราคาจำหน่ายสินค้า ประกอบกับในช่วงปลายปี 2551 ถึงปัจจุบันค่าเงินบาทอ่อนตัวลง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้ายังคงอยู่ในระดับสูง เช่น สินค้าครีมเทียมข้นหวาน ปัจจุบันราคาวัตถุดิบนมผงขาดมันเนยอยู่ที่กิโลกรัมละ 148.19 บาท(3,989 USD/ตัน) ลดลงจากช่วงที่มีราคาสูงสุดในเดือนกรกฎาคม 2551 (กิโลกรัมละ 178.84 บาทหรือ 4,980 USD/ตัน) และเมื่อเทียบกับช่วงที่ได้ปรับราคาจำหน่ายสินค้าไปแล้ว ในปี 2550 ถึง 2551 (กิโลกรัมละ 137.31 บาทหรือ 3,775 USD/ตัน)
4. ได้เชิญผู้ประกอบการสินค้าที่ยังไม่ปรับลดราคาจำหน่ายสินค้ามาหารือให้มีการปรับลดราคาลง (โดยไม่ต้องรอให้สินค้าต้นทุนเดิมหมด) เพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน และเป็นการสนับสนุนนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ปรากฏว่าผู้ประกอบการรับจะให้ความร่วมมือในการปรับลดราคาจำหน่ายลงเพิ่มเติม ได้แก่ ปุ๋ยเคมี และผงชูรส เป็นต้น และคาดว่าจะมีอีกหลายสินค้าที่จะลดราคาลงได้อีก
การกำกับดูแลราคาสินค้าในระยะต่อไป เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้กลไกการตลาดทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมทั้งเพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายของภาคประชาชน กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดมาตรการกำกับดูแลราคาสินค้าในปี 2552 ดังนี้
1. การกำกับดูแลสินค้าต้นทาง กำกับดูแลการกำหนดราคาของผู้ผลิต/ผู้นำเข้า เพื่อให้การปรับเปลี่ยนราคาจำหน่ายสินค้าเป็นธรรมกับทุกฝ่ายจะดำเนินการ ดังนี้
1.1 ติดตามภาวะราคาจำหน่ายสินค้าและราคาวัตถุดิบ รวมทั้งปัจจัยการผลิตที่สำคัญอย่างใกล้ชิดเพื่อตรวจสอบต้นทุนการผลิตของสินค้า จำนวน 200 รายการ
1.2 ติดตามพฤติกรรมของผู้ประกอบการไม่ให้มีการร่วมกันกำหนดราคาสินค้า เอาเปรียบผู้บริโภค
1.3 กำกับดูแลให้ผู้ประกอบการสินค้ามีการเปลี่ยนแปลงราคาสอดคล้องกับต้นทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีต้นทุนสินค้าลดลงจะต้องปรับลดราคาลง
2. การกำกับดูแลสินค้าปลายทาง เพื่อป้องกันมิให้ผู้จำหน่ายสินค้าฉวยโอกาสกำหนดราคาเอาเปรียบประชาชนผู้บริโภคจะดำเนินการ ดังนี้
2.1 กำหนดให้สินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพหรือมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ตลอดจนสินค้าเกษตรที่สำคัญให้มีการปิดป้ายแสดงราคาจำหน่ายปลีก (ปัจจุบันได้มีประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2552 กำหนดให้ปิดป้ายแสดงราคาแล้ว รวม 309 รายการ)
2.2 ติดตามตรวจสอบราคาจำหน่ายสินค้าและภาวะการค้าปลีก (โดยเฉพาะสินค้าที่จำเป็นและอยู่ในข่ายการติดตาม 200 รายการ) อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ไม่ให้มีการฉวยโอกาสเอาเปรียบผู้บริโภค
2.3 เร่งรัดการดำเนินการของศูนย์รับเรื่องร้องเรียนราคาสินค้า 1569 เพื่อรับข้อร้องเรียนจากผู้บริโภคและตรวจสอบข้อเท็จจริงรวมทั้งแก้ไขปัญหาให้ผู้ร้องเรียนได้รับความเป็นธรรมโดยเร็ว
3. มาตรการเสริม เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนและเพิ่มการแข่งขันในตลาดจะขยายการดำเนินการโครงการธงฟ้าราคาประหยัด ดังนี้
3.1 กลุ่มอาหารธงฟ้า โดยเพิ่มจำนวนรถเข็นธงฟ้า (ราคาข้าวแกงกับข้าว 1 อย่าง จานละ 12.50 บาท และกับข้าว 2 อย่าง จานละ 17.50 บาท) ร้านอาหารธงฟ้า (ราคาอาหารจาน/ชามละไม่เกิน 20.00 บาท) และร้านอาหารมิตรธงฟ้า (ราคาอาหารจาน/ชามละ 25.00 บาท หรือไม่เกิน 30.00 บาท) ให้มีการบริการมากขึ้น และให้ครอบคลุมพื้นที่ให้กว้างยิ่งขึ้น
3.2 โครงการธงฟ้าราคาประหยัด ขยายพื้นที่การจัดจำหน่ายสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพที่มีคุณภาพดี ราคาถูกกว่าท้องตลาดร้อยละ 20 ถึง 40 ในส่วนภูมิภาคให้มากขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะดำเนินการในปี 2552 จำนวน 300 ครั้ง
แนวโน้มสถานการณ์ราคาสินค้า
1. วัตถุดิบหลักและปัจจัยการผลิต คาดว่าส่วนใหญ่ยังคงลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดีคงมีบางรายการที่ราคายังสูงกว่าปี 2550 เช่น ครีมเทียมข้นหวาน โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบของอาหารปรุงสำเร็จราคายังอยู่ในระดับสูง เช่น ข้าวสาร สุกร ก๊าซหุงต้ม น้ำตาลทราย เป็นต้น
2. สินค้าอุปโภคบริโภค จากภาวะต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มลดลง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวการค้าปลีกในประเทศยังมีการแข่งขันรุนแรงยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะจากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ จึงคาดว่าแนวโน้มราคาสินค้าทั่วไปจะยังคงลดลง
3. ดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI) ในเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2552 ปรากฏว่าในเดือนมกราคม 2552 ลดลงร้อยละ 0.4 และ กุมภาพันธ์ 2552 ลดลงร้อยละ 0.2 สำหรับปี 2551 อยู่ที่ระดับ 5.5 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 มีนาคม 2552 --จบ--