คณะรัฐมนตรีรับทราบแนวทางแก้ไขปัญหานมในภาพรวมทั้งระบบ ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ) เสนอดังนี้
จากการประชุมหารือร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ เพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหานมในภาพรวมทั้งระบบ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2552 ผลการหารือ สรุปได้ ดังนี้
1. ทบทวนการบริหารนมทั้งระบบ แนวทางดำเนินการ ดังนี้
1) น้ำนมดิบ
- ให้คณะอนุกรรมการบริหารนมทั้งระบบ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นเจ้าภาพรับผิดชอบในการกำหนดนโยบายและแผนการผลิตและจำหน่ายน้ำนมดิบ
- จัดให้มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม และศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบทั่วประเทศ ทั้งนี้ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบต้องมีใบอนุญาตจัดตั้งกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ ด้วย
- จัดให้มีการทำบันทึกข้อตกลงการบริหารจัดการน้ำนมดิบหรือ MOU ระหว่างผู้ประกอบการและศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ รวมทั้งมีสัญญาหรือระเบียบกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม MOU
2) นมโรงเรียน
- คณะอนุกรรมการจัดระบบโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน (คณะอนุกรรมการชุดใหม่) โดยกรมปศุสัตว์ และกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นเจ้าภาพร่วมกัน รับผิดชอบในการจัดสรรและรับรองสิทธิการจำหน่ายนมให้แก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ พร้อมทั้งจัดระบบและหลักเกณฑ์การจัดซื้อนมพร้อมดื่ม และจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์จำหน่ายนมในโครงการ
- กระทรวงอุตสาหกรรมตรวจสอบโรงงานและใบอนุญาตประกอบการผลิตนมให้เป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยให้พิจารณาทบทวนการขอใบอนุญาตมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจากภาคสมัครใจ เป็นภาคบังคับ ในกรณีของผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมในโครงการอาหารเสริม(นม) โรงเรียน
- กระทรวงสาธารณสุขตรวจสอบคุณภาพน้ำนมให้เป็นไปตามมาตรฐานของ อ.ย.และจัดทำคู่มือการดูแลรักษาคุณภาพนมโรงเรียน เช่น การขนส่ง การเก็บรักษาให้มีคุณภาพและปลอดภัย รวมทั้งให้จัดทำโครงการตรวจสอบและเฝ้าระวังคุณภาพนมโรงเรียน
- กำหนดคุณภาพ มาตรฐานการขนส่ง และการเก็บรักษานมโรงเรียนให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นใช้เป็นเงื่อนไขหลักเกณฑ์การจัดซื้อนมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- กำหนดคุณสมบัติผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ โดยมีเป้าหมายให้ได้ผู้ประกอบการที่มีคุณภาพมากที่สุด
- การจำหน่ายนมให้เป็นการแข่งขันโดยเสรี ไม่จำกัดพื้นที่ (ยกเลิก Zoning)
3) นมผงขาดมันเนย
- ให้คณะอนุกรรมการพิจารณาการจัดสรรโควตาและอัตราภาษีนำเข้านมผงขาดมันเนย โดยกรมปศุสัตว์ เป็นเจ้าภาพรับผิดชอบจัดสัดส่วนการนำเข้านมผงขาดมันเนยให้สอดคล้องกับการรับซื้อน้ำนมดิบในประเทศ โดยยังคงแบ่งผู้นำเข้าเป็น 2 กลุ่ม เช่นเดิม คือ กลุ่มที่รับซื้อนมดิบจัดสรรให้ร้อยละ 80 และกลุ่มผู้ประกอบการทั่วไปจัดสรรให้ร้อยละ 20 ของปริมาณที่เปิดตลาด
2. ปรับปรุงพระราชบัญญัติโคนมและผลิตภัณฑ์นม พ.ศ. 2551
3.ปรับปรุงและนำระบบโปรแกรมการบริหารจัดการนมทั้งระบบ (Fresh Milk Management) มาใช้ เพื่อจะได้ทราบข้อมูลการรับซื้อน้ำนมดิบของศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบจากเกษตรกรจำนวนกี่ราย ปริมาณเท่าใดและข้อมูลการจำหน่ายน้ำนมดิบของศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบว่า จำหน่ายให้กับผู้ประกอบการรายใดบ้าง ปริมาณเท่าใด ทำให้สามารถติดตามและแก้ไขปัญหาการไม่ปฏิบัติตาม MOU ของทุกฝ่ายได้ และเป็นข้อมูลให้ทราบว่า ในแต่ละวันมีปริมาณน้ำนมดิบเท่าใด และเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนและพัฒนาการจัดการนมทั้งระบบได้ในระยะยาว
4. การแก้ไขปัญหานมทั้งระบบในระยะยาว จะมีการศึกษารายละเอียดโครงการจัดตั้งโรงงานนมผง และแปรรูปผลิตภัณฑ์นมเพิ่มมูลค่า เพื่อรองรับปริมาณนมดิบล้นตลาดในอนาคต
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 มีนาคม 2552 --จบ--