แผนแม่บทป้องกันและบรรเทาภัยจากคลื่นสึนามิ (ระยะ 5 ปี)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 25, 2009 15:51 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนแม่บทป้องกันและบรรเทาภัยจากคลื่นสึนามิ (ระยะ 5 ปี) และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย (กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) เป็นหน่วยงานประสานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการและแผนงบประมาณรองรับแผนแม่บทฯ ดังกล่าว ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ

สาระสำคัญของแผนแม่บทฯ สรุปได้ดังนี้

วิสัยทัศน์ ลดความสูญเสียและความเสี่ยงจากภัยสึนามิ โดยการสร้างองค์ความรู้และถ่ายทอดแก่ประชาชน มีการป้องกันและบรรเทาภัยในพื้นที่เสี่ยงภัย การเตือนภัยได้มาตรฐาน ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ มีการบริหารจัดการแบบบูรณาการ เสริมสร้างศักยภาพและกำลังใจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ การกู้ภัยรวดเร็วทันเหตุการณ์ รวมทั้งการช่วยเหลือผู้ประสบภัยและฟื้นฟูสถานที่ประสบภัยให้กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว

เป้าหมาย

(1) ลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของผู้ประสบภัย

(2) ฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยและสร้างความมั่นคงของผู้ประสบภัยให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด

(3) บูรณาการการปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงาน เครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน

(4) ให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถนำไปสู่การจัดทำแผนปฏิบัติการและแผนงบประมาณ

ยุทธศาสตร์ของแผนแม่บทฯ แนวทางของยุทธศาสตร์การป้องกันและบรรเทาภัยจากคลื่นสึนามิ มีแนวคิดเน้นการบริหารจัดการภัยพิบัติแบบปฏิบัติการเชิงรุก (Proactive Approach) ตามลำดับของวัฏจักรการบริหารจัดการภัยพิบัติคือ การป้องกันและลดผลกระทบ และการเตรียมความพร้อมควบคู่กับการจัดการภัยในภาวะฉุกเฉิน และการฟื้นฟูบูรณะ โดยเน้นเรื่องการสร้างองค์ความรู้และการถ่ายทอดความรู้ให้หน่วยงานและประชาชนให้มีความเข้าใจลักษณะของภัยจากคลื่นสึนามิและการป้องกันดังกล่าวเน้นเรื่องการเตือนภัย การจัดเตรียมสถานที่ปลอดภัย การหนีภัยและการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการ ทั้งนี้ โดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการวิเคราะห์การเกิด ความเสี่ยงของพื้นที่ และการเตือนภัยควบคู่กับการใช้ความรู้ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับภัยและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเอง ช่วยเหลือตนเองได้ในระดับหนึ่ง และเน้นการแก้ไขปัญหาด้วยการประสานการปฏิบัติงานของทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้ปฏิบัติงานร่วมกันแบบบูรณาการ โดยกำหนดยุทธศาสตร์ของแผนแม่บทฯ ไว้ 4 ยุทธศาสตร์ 27 กลยุทธ์ 132 กิจกรรมหลัก คือ

ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การป้องกันและลดผลกระทบ มี 9 กลยุทธ์ (44 กิจกรรมหลัก) ได้แก่ กลยุทธ์ 1 เตรียมการป้องกันพื้นที่เสี่ยงภัยให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยง กลยุทธ์ 2 มีระบบเตือนภัยที่ดีสามารถเตือนภัยได้ล่วงหน้านานพอ และแจ้งเตือนได้ทั่วถึงจนถึงระดับครัวเรือน กลยุทธ์ 3 จัดทำแผนอพยพหนีภัยและเตรียมสถานที่ปลอดภัยและเส้นทางหนีภัยให้พร้อม กลยุทธ์ 4 ให้ความรู้แก่ประชาชน เยาวชน และผู้บริหารสถานศึกษาเรื่องภัยจากคลื่นสึนามิ กลยุทธ์ 5 ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการภัยจากคลื่นสึนามิ กลยุทธ์ 6 มีแผนปฏิบัติการและฝึกซ้อมแผนสม่ำเสมอ กลยุทธ์ 7 เตรียมการด้านรักษาพยาบาลและสาธารณสุขให้พร้อม กลยุทธ์ 8 จัดทำฐานข้อมูลและเตรียมข้อมูลบุคลากร เครื่องมือและอุปกรณ์ให้มีความพร้อม กลยุทธ์ 9 สร้างเสริมทักษะและความชำนาญให้แก่บุคลากรของรัฐและอาสาสมัคร

ยุทธศาสตร์ที่ 2 : การเตรียมพร้อมรับภัย มี 6 กลยุทธ์ (21 กิจกรรมหลัก) ได้แก่ กลยุทธ์ 1 เตรียมความพร้อมด้านกำลังคน เครื่องจักร เครื่องมืออุปกรณ์กู้ภัยและปัจจัยช่วยเหลือ กลยุทธ์ 2 การประสานงานกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อเฝ้าระวังแลกเปลี่ยนข้อมูล และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด กลยุทธ์ 3 เตรียมอุปกรณ์สื่อสารสำรอง ระบบไฟฟ้าสำรอง และรถไฟฟ้าส่องสว่าง กลยุทธ์ 4 การประกาศเตือนภัยล่วงหน้าเป็นขั้นตอน กลยุทธ์ 5 เตือนภัยล่วงหน้าให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่อยู่บริเวณชายหาดและพื้นที่เสี่ยงภัยทราบ กลยุทธ์ 6 เตรียมพร้อมด้าน ต่างๆ โดยสำรวจ และตรวจสอบจากฐานข้อมูลที่จัดทำไว้

ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การจัดการในภาวะฉุกเฉิน มี 7 กลยุทธ์ (31 กิจกรรมหลัก) ได้แก่ กลยุทธ์ 1 ตั้งศูนย์อำนวยการที่สามารถเป็นแกนในการสั่งการ ประสานงาน อย่างมีประสิทธิภาพในทุกระดับ โดยใช้ระบบการบัญชาการเหตุการณ์ (Incident Command System : ICS) กลยุทธ์ 2 ตรวจสอบข้อมูลและประสานงานหน่วยงานเครือข่ายซึ่งมีศักยภาพสูง กลยุทธ์ 3 สนธิกำลังเข้าปฏิบัติการช่วยเหลือโดยเร็ว โดยเจ้าหน้าที่กู้ภัยที่ได้รับการฝึกฝนเป็นอย่างดี ทั้งของภาคราชการและของชุมชน (One Tambon One Search and Rescue : OTOS) กลยุทธ์ 4 มีระบบสื่อสาร ที่มีประสิทธิภาพ กลยุทธ์ 5 การควบคุมสถานการณ์และการปฏิบัติการค้นหาระยะ 24 ชั่วโมงแรก กลยุทธ์ 6 การควบคุมสถานการณ์และการปฏิบัติการค้นหาระยะ 24-48 ชั่วโมง กลยุทธ์ 7 การควบคุมสถานการณ์และการปฏิบัติการค้นหาระยะ 48-72 ชั่วโมง

ยุทธศาสตร์ที่ 4 : การจัดการหลังเกิดภัย มี 5 กลยุทธ์ (36 กิจกรรมหลัก) ได้แก่ กลยุทธ์ 1 การให้ความช่วยเหลือต่างๆ เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทั่วถึงและไม่ซ้ำซ้อน กลยุทธ์ 2 ประสานการช่วยเหลือจากหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ให้มีทิศทางสอดคล้องกัน และมีข้อมูลการช่วยเหลือต่างๆ รวบรวมไว้ กลยุทธ์ 3 ประเมินความเสียหายรวดเร็วและถูกต้อง เพื่อให้การของบประมาณและขอความช่วยเหลือต่างๆ ทำได้เร็วและตรงความต้องการ กลยุทธ์ 4 ช่วยเหลือผู้ประสบภัยและฟื้นฟูบูรณะพื้นที่ประสบภัยให้กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด กลยุทธ์ 5 กรณีศึกษาโดยเรียนรู้จากบทเรียนที่ผ่านมา (Lesson Learned)

เนื่องจากแผนแม่บทฯ เป็นแผนบริหารจัดการภัยพิบัติขนาดใหญ่แบบบูรณาการการปฏิบัติงานของหน่วยงานทุกภาคส่วน โดยได้กำหนดกรอบยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ และกิจกรรมหลักของหน่วยงานต่าง ๆ ไว้ จึงมีหน่วยงานร่วมบูรณาการ จำนวน 71 หน่วยงาน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 มีนาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ