รายงานการตรวจติดตามสถานการณ์การบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ หมอกควันไฟป่า และภัยแล้ง ในพื้นที่ จ.ลำปาง และ จ.ลำพูน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 25, 2009 17:14 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการตรวจติดตามสถานการณ์การบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ หมอกควันไฟป่า และภัยแล้งในพื้นที่ จ.ลำปาง และ จ.ลำพูน ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ดังนี้

ตามที่ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมราษฎร และตรวจติดตามสถานการณ์ความเป็นอยู่ของประชาชนใน จ.ลำปาง และ จ.ลำพูน นั้น เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2552 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เดินทางไปตรวจติดตามสถานการณ์การบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ หมอกควันไฟป่า และภัยแล้งในพื้นที่ จ.ลำปาง และ จ.ลำพูน โดยมีสาระสำคัญแยกตามประเด็นปัญหาหลัก 3 เรื่อง ประกอบด้วย ปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ปัญหาหมอกควันไฟป่า และปัญหาภัยแล้ง สรุปได้ดังนี้

1. ปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้

1.1 สถานการณ์/สภาพปัญหา

จากการบินตรวจสภาพพื้นที่ป่าบริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยก้อต อ.วังเหนือ จ.ลำปาง ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยเฮลิคอปเตอร์ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2552 พบการบุกรุกพื้นที่ป่าในท้องที่ อ.วังเหนือ จำนวนมากและเป็นบริเวณกว้าง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้สั่งการให้มีการตรวจสอบพื้นที่บริเวณดังกล่าวและบริเวณใกล้เคียง

1.2 การดำเนินงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2552 คณะเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการบินที่ 2 (เชียงใหม่) กรมป่าไม้ พร้อมด้วยผู้ประสานงานการบินกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ชร.6 (แม่เจดีย์ใหม่) เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติขุนแจ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานการบินประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (สาขาลำปาง) นำอากาศยานขึ้นบินตรวจสอบพื้นที่ตามเส้นทางบิน ผลการบินตรวจสอบมีดังนี้

(1) แนวบินในท้องที่ อ.วังเหนือ และ อ.เมืองปาน จ.ลำปาง พบมีการขยายพื้นที่ทำกินบริเวณ ต.หัวเมือง อ.เมืองปาน ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่สุก-แม่สอย

(2) แนวบินในเขตอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ท้องที่ อ.เมืองปาน จ.ลำปาง พบพื้นที่ถูกบุกรุกแผ้วถางป่าใหม่ ลักษณะขยายพื้นที่ทำกิน

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตรวจสอบพื้นที่ภาคพื้นดินโดยเร่งด่วนต่อไป ทั้งนี้ ให้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย และกองทัพภาคในพื้นที่

2. ปัญหาหมอกควันไฟป่า

2.1 สถานการณ์/สภาพปัญหา

สถิติการเกิดไฟป่าในท้องที่ จ.ลำพูน ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์-17 มีนาคม 2552 ความถี่การเกิด 194 ครั้ง พื้นที่เสียหาย 1,589 ไร่ และตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2552 พบการเพิ่มสูงขึ้นของปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กจนเกินมาตรฐานในพื้นที่ภาคเหนือ ประกอบกับข้อมูลจากการบินตรวจสภาพพื้นที่ป่าโดยเฮลิคอปเตอร์ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2552 พบว่ามีราษฎรเผาพื้นที่ทำการเกษตร พืชไร่ และเศษวัสดุการเกษตร ทำให้เกิดการลุกลามของเปลวไฟเข้าไปในพื้นที่ป่า ซึ่งถือเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง โดยนอกจากจะส่งผลให้พื้นที่ป่าได้รับความเสียหายแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนอีกด้วย

2.2 การดำเนินงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

2.2.1 สรุปผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหาในพื้นที่

(1) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ลำพูน ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล ฝึกซ้อมแผนป้องกันและระงับไฟป่าในช่วงฤดูแล้ง จัดสายตรวจเคลื่อนที่ ฉีดน้ำล้างถนนในเขตเทศบาลเพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองและเพิ่มความชื้นให้อากาศในเขตเมือง และรณรงค์ประชาสัมพันธ์ และ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ลำปาง ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าในระดับจังหวัด และระดับอำเภอ เปิดตัวโครงการรณรงค์การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า ฝึกอบรมอาสาสมัครดับไฟและทำแนวกันไฟ จัดเดินรณรงค์ประชาสัมพันธ์ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน จัดประกวดวาดภาพระบายสี รวมทั้งจัดทำแผ่นพับ ป้ายคัตเอาท์ แผ่นสปอตวิทยุ โทรทัศน์ และเสียงตามสายหมู่บ้าน เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนลดการเผาในพื้นที่โล่ง และพื้นที่ทำการเกษตร

(2) สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร โดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงที่ 1 (ภาคเหนือตอนบน) ได้บินปฏิบัติการฝนหลวง ในระหว่างวันที่ 10 กุมภาพันธ์-18 มีนาคม 2552 รวม 136 เที่ยวบิน เพื่อเป็นการสร้างความชุ่มชื้นและลดมลพิษในอากาศ

2.2.2 มาตรการเพิ่มเติม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังนี้

(1) มอบหมายให้ จ.ลำปาง จ.ลำพูน ร่วมกับ อปท. และหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง จัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจและรณรงค์ประชาสัมพันธ์หยุดการเผาในที่โล่งและการเผาในภาคเกษตร ให้แก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชุมชน ตลอดจนประสานความร่วมมือกับเกษตรจังหวัด พัฒนาที่ดินจังหวัด เกษตรตำบล หมอดิน ตลอดจนปศุสัตว์ ในการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง

(2) มอบหมายให้ อปท. พิจารณาการบังคับใช้ข้อบัญญัติให้เข้มงวด หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น อาจต้องพิจารณาประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษ

(3) มอบหมายให้ จ.ลำปาง ประสานโรงงานรับซื้ออ้อย เพื่อไม่ให้รับซื้ออ้อยที่ถูกเผาเข้าโรงงานโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะประสานงานกับศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง ขอความร่วมมือการเร่งทำฝนหลวงในพื้นที่ป่าให้มากขึ้น เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาหมอกควันไฟป่าอีกทางหนึ่งด้วย

3. ปัญหาภัยแล้ง

3.1 สถานการณ์/สภาพปัญหาพื้นที่ประสบภัยแล้งในท้องที่ จ.ลำปาง มี 13 อำเภอ 85 ตำบล 659 หมู่บ้าน ครัวเรือน ได้รับความเดือดร้อน 65,455 ครัวเรือน และพื้นที่ประสบภัยแล้งในท้องที่ จ.ลำพูน มี 6 อำเภอ 21 ตำบล 151 หมู่บ้าน ครัวเรือนได้รับความเดือดร้อน 20,989 ครัวเรือน พื้นที่เกษตรได้รับความเสียหาย 9,401 ไร่

3.2 การดำเนินงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

3.2.1 สรุปผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหาในพื้นที่

(1) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 1 กรมทรัพยากรน้ำ ได้จัดตั้งศูนย์บรรเทาภัยแล้ง เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง จัดรถบรรทุกน้ำ ฉีดน้ำเพิ่มความชุ่มชื้น จัดฝึกอบรมการบริหารกิจการระบบประปา ส่งเสริมการมีส่วนร่วมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำ และพัฒนา ปรับปรุง อนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำ ตลอดจนจัดทำฝายเสริมระบบนิเวศ

(2) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ลำพูน ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งระดับจังหวัดขึ้น พร้อมทั้งแจ้งให้อำเภอทุกอำเภอ ดำเนินการจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจระดับอำเภอ และ อปท. ขึ้น รวมทั้งได้เตรียมการโดยให้อำเภอทุกอำเภอจัดทำบัญชีหมู่บ้านและชุมชนที่มีความเสี่ยงต่อการประสบปัญหาภัยแล้ง จัดทำแผนแจกจ่ายน้ำ สำรวจตรวจสอบแหล่งน้ำ ขุดลอกคู คลอง รณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วม และให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้ง

3.2.2 มาตรการเพิ่มเติม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดช่วยดูแลเรื่องรถบรรทุกน้ำ การจัดหาน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคให้แก่ประชาชน และให้จัดทำฝายกักเก็บน้ำชั่วคราวเพื่อเก็บสำรองน้ำไว้ใช้ยามจำเป็น

นอกจากนี้ ในด้านการแก้ไขปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้จังหวัดกำกับดูแลนิคมอุตสาหกรรม และรณรงค์ส่งเสริมการคัดแยกขยะ เร่งประชาสัมพันธ์เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป ได้ถือเป็นแนวทางปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 มีนาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ