ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 10, 2009 12:57 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคม และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยรับข้อสังเกตของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาด้วย ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

กระทรวงคมนาคมเสนอตามรายงานของกรมการขนส่งทางบกว่า พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานและได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหลายครั้ง แต่บทบัญญัติกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาหรือข้อขัดข้องในทางปฏิบัติได้ รวมทั้งยังไม่เอื้อต่อการตรวจสอบ ควบคุม และกำกับดูแลการปฎิบัติตามกฎหมาย ตลอดจนไม่อาจรับรองกับการพัฒนาเทคโนโลยีหรือการเปลี่ยนแปลงทางด้านอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ที่มีการผลิตรถยนต์ในรูปแบบต่างๆ มากขึ้นจนมีผลทำให้ ขนาด น้ำหนัก และวัตถุประสงค์ในการใช้งานไม่สอดคล้องกับกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน และคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางและคณะกรรมการควบคุมการขนส่งประจำจังหวัด ไม่มีผู้แทนจากหน่วยงานที่มีหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคและผู้แทนภาคเอกชนเข้ามาเป็นกรรมการ การขยายตัวของการขนส่งระหว่างประเทศที่จำเป็นต้องมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ต่างๆ ให้เหมาะสมและมีความชัดเจน การมีบทบัญญัติที่ไม่เอื้อต่อการจัดการเดินรถให้มีความคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ การควบคุมกำกับดูแลสถานตรวจสภาพรถไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพปัญหาและข้อเท็จจริง ทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการ นอกจากนี้ การบริหารงานด้านการขนส่งทางบกยังขาดความคล่องตัว เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องการมอบอำนาจของนายทะเบียนประจำจังหวัด จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป และให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน เพื่อให้การควบคุม กำกับดูแล การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องแล้ว จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. แก้ไขบทนิยาม “การขนส่งส่วนบุคคล” หมายความว่า การขนส่งเพื่อการค้า หรือธุรกิจของตนเอง (ร่างมาตรา 3 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 4) (โดยตัดถ้อยคำ “ด้วยรถที่มีน้ำหนักเกินกว่า 1,600 กิโลกรัม” ออก เนื่องจากเทคโนโลยีการผลิตรถในปัจจุบันทำให้รถที่ใช้ประกอบการขนส่งส่วนบุคคลมีน้ำหนักเกินกว่า 1,600 กิโลกรัม)

2. กำหนดประเภทรถที่ไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกให้มีเฉพาะ (1) การขนส่งโดยรถยนต์ทหารตามกฎหมาย และ (2) การขนส่งโดยรถยนต์สาธารณะ รถยนต์บริการ รถยนต์ส่วนบุคคล รถยนต์สามล้อรถจักรยานยนต์ และรถแทรกเตอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ (ร่างมาตรา 4 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 5) (เนื่องจากได้มีการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ซึ่งดำเนินการไปพร้อมกับการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. 2522 ดังนั้น เมื่อได้แก้ไขให้รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจากเดิมมีน้ำหนักรถไม่เกิน 1,600 กิโลกรัม เป็นน้ำหนักไม่เกิน 2,200 กิโลกรัม จึงต้องแก้ไขบทบัญญัติในมาตรการนี้)

3. เพิ่มเติมองค์ประกอบและแก้ไขตำแหน่งผู้แทนของส่วนราชการ ในคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง โดยมีผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร อธิบดีกรมทางหลวงชนบท และเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และแก้ไขตำแหน่งผู้แทนของส่วนราชการในคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัด คือ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และหอการค้าจังหวัดเป็นกรรมการเพิ่มเติม เป็นต้น (ร่างมาตรา 6)

4. ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการประกอบการขนส่งระหว่างประเทศ โดยกำหนดเพิ่มเติมให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศในต่างประเทศที่รัฐบาลไทยและรัฐบาลของต่างประเทศนั้นมีความตกลงว่าด้วยการยอมรับใบอนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศซึ่งกันและกันเป็นผู้ที่สามารถประกอบการขนส่งระหว่างประเทศได้ (ร่างมาตรา 7 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 25)

5. ปรับปรุงบทบัญญัติเพื่อยกเว้นการขออนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลให้กับองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หน่วยงานอื่นของรัฐที่อยู่ในการควบคุมหรือกำกับดูแลของรัฐ เพื่อให้ครอบคลุมส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐทุกหน่วย (ร่างมาตรา 8 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 29)

6. กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตหลายฉบับในหลายเส้นทาง อาจนำรถที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ประกอบการขนส่งในเส้นทางหนึ่งไปใช้ทำการขนส่งในอีกเส้นทางหนึ่งที่ได้รับใบอนุญาตในลักษณะหมุนเวียนได้ โดยต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียน (ร่างมาตรา 9 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 39)

7. กำหนดให้อธิบดีกรมการขนส่งทางบกหรือนายทะเบียนมีอำนาจยึดไว้ซึ่งสิ่งของหรือเอกสารที่เป็นความผิดหรืออาจใช้เป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิด รวมทั้งให้อธิบดีกรมการขนส่งทางบกมีอำนาจมอบหมายให้ผู้ตรวจการหรือพนักงานตรวจสภาพทำการดังกล่าวแทนได้ (ร่างมาตรา 10 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 49)

8. กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมการขนส่งทางบกกำหนด และให้อธิบดีกรมการขนส่งทางบกมีอำนาจกำหนดเครื่องมือเครื่องใช้หรืออุปกรณ์สำหรับตรวจสภาพรถเป็นการเพิ่มเติมได้ (ร่างมาตรา 11 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 74 และมาตรา 75)

9. กำหนดมาตรการลงโทษสถานตรวจสภาพรถที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งระงับการดำเนินการพักใช้หรือยกเลิกใบอนุญาตได้ นอกเหนือจากโทษเพิกถอนใบอนุญาตเพียงอย่างเดียว และให้ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถ ซึ่งถูกยกเลิกหรือเพิกถอนใบอนุญาตต้องส่งคืนใบอนุญาตต่อนายทะเบียน และส่งคืนเอกสารหลักฐานหรือดำเนินการอื่นใดเกี่ยวกับเอกสารหลักฐานตามที่อธิบดีกรมการขนส่งทางบกกำหนด (ร่างมาตรา 12)

10. กำหนดให้ผู้ประจำรถที่เป็นผู้ขับรถต้องมีสำเนาภาพถ่ายหนังสือแสดงการจดทะเบียนรถไว้กับรถเพื่อตรวจสอบ (ร่างมาตรา 13)

11. เพิ่มเติมบทกำหนดโทษสำหรับผู้ขับรถที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ตรวจการที่เรียกรถให้หยุดเพื่อทำการตรวจสอบ และเพิ่มเติมบทกำหนดโทษสำหรับผู้ที่ไม่ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถหรือผู้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตที่ติดตั้งหรือแสดงเครื่องหมายแสดงว่าเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถ (ร่างมาตรา 14)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 เมษายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ