คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ สบร. เสนอว่า
1. พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2547 ซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบันมีบทบัญญัติบางมาตราที่ยังเป็นปัญหาและอุปสรรคในการบริหารงานของสำนักงานฯ จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขให้มีความคล่องตัวในการดำเนินงานตามภารกิจเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถปรับปรุงการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับเหตุการณ์และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการเรียนรู้ได้อย่างคล่องตัว โดยอยู่ภายใต้ความถูกต้องชัดเจนและสอดคล้องกับกรอบที่กำหนดในพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542
2. คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 1 และคณะที่ 2) พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่มาตรา 23 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2547 ได้บัญญัติเป็นข้อจำกัดการใช้อำนาจบังคับบัญชาของผู้อำนวยการว่า ผู้อำนวยการไม่มีอำนาจบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่และลูกจ้างที่ปฏิบัติงานอยู่ในหน่วยงานเฉพาะด้าน ซึ่งเป็นหน่วยงานภายในของ สบร. ทำให้ผู้อำนวยการไม่อาจใช้อำนาจบังคับบัญชาได้ทุกตำแหน่ง จึงเป็นการบัญญัติที่แตกต่างจากมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน และมีข้อเสนอแนะว่า สบร. ควรแก้ไขปรับปรุงพระราชกฤษฎีกาในเรื่องนี้
สบร. จึงได้เสนอว่าร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ฯ พิจารณา
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
1. ยกเลิกบทบัญญัติในมาตราที่เกี่ยวข้องกับบทนิยามของหน่วยงานเฉพาะด้าน การจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะด้านของสำนักงาน การแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่บริหารหน่วยงานเฉพาะด้าน และการกำหนดให้มีหัวหน้าหน่วยงานเฉพาะด้านที่มีอำนาจบริหารกิจการโดยอิสระ
2. กำหนดบทนิยามของคำว่า “เจ้าหน้าที่” และ “ลูกจ้าง” ใหม่ (ร่างมาตรา 4 แก้ไขมาตรา 3)
3. กำหนดให้สำนักงานจัดสรรเงินและรายได้ส่วนหนึ่งตั้งเป็นกองทุนภายในของสำนักงาน เรียกว่า “กองทุนพัฒนาการเรียนรู้สาธารณะ” เพื่อใช้ในการบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ ตามที่คณะกรรมการบริหารกำหนด (ร่างมาตรา 5 แก้ไขมาตรา 9)
4. แก้ไขปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการในการควบคุมดูแลการดำเนินงานและการบริหารงานทั่วไปในการออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศหรือข้อกำหนด ให้สอดคล้องกับการบริหารจัดการที่ไม่มีหน่วยงานเฉพาะด้าน (ร่างมาตรา 7 แก้ไขมาตรา 18 (13))
5. กำหนดให้ผู้อำนวยการมีหน้าที่บริหารกิจการของสำนักงานให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด ประกาศ นโยบาย มติคณะกรรมการบริหาร และเป็นผู้บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่และลูกจ้างทุกตำแหน่ง (ร่างมาตรา 8 แก้ไขมาตรา 23 (1))
6. กำหนดให้ผู้อำนวยการมีอำนาจต่างๆ เกี่ยวกับบุคลากรหรือการวางระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินงานของสำนักงานได้ เป็นผู้แทนของสำนักงาน มอบอำนาจให้บุคคลใดทำการแทนได้ แต่ต้องเป็นไปตามข้อบังคับของคณะกรรมการบริหารกำหนด และยกเลิกการกำหนดอัตราเงินเดือนของหัวหน้าหน่วยงานเฉพาะด้าน (ร่างมาตรา 9 แก้ไขมาตรา 24 มาตรา 25 และมาตรา 26)
7. แก้ไขเพิ่มเติมให้เจ้าหน้าที่พ้นจากตำแหน่งเมื่อครบกำหนดเวลาจ้างตามสัญญาหรือเป็นไปตามเงื่อนไขที่ได้ระบุไว้ในสัญญา (ร่างมาตรา 11 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 32 (4))
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 เมษายน 2552 --จบ--