ร่างพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 10, 2009 13:05 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นและข้อสังเกตของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาด้วย ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอว่า

1. เนื่องจากพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2542 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเจ้าหน้าที่ของรัฐเพิ่มเติมนั้น ยังไม่ครอบคลุมเจ้าหน้าที่ในส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐอื่นที่เกิดขึ้นใหม่ที่ยังไม่มีบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐและหรือมีเหตุผลความจำเป็นต้องมีบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อประกอบการปฏิบัติหน้าที่ จึงจำเป็นต้องกำหนดนิยามคำว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” เพื่อให้มีความหมายครอบคลุมเจ้าหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องตราพระราชกฤษฎีกาเพิ่มเติมในภายหลังอันเป็นการสร้างภาระโดยไม่จำเป็นแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

2. พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยมีรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นกรรมการและผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและระเบียบกลาง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่งคณะกรรมการได้ยกร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว โดยในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2542 นี้ ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนากฎหมาย

3. รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย) พิจารณาแล้วเห็นชอบให้นำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. แก้ไขนิยามคำว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” และเพิ่มนิยามคำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ให้มีความหมายครอบคลุมเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภทตามที่กำหนดไว้แล้ว รวมทั้งเจ้าหน้าที่ในส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่เกิดขึ้นใหม่ที่ยังไม่มีบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ และหรือมีเหตุผลความจำเป็นต้องมีบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อประกอบการปฏิบัติหน้าที่ (ร่างมาตรา 3 และร่างมาตรา 4 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 4)

2. กำหนดข้อยกเว้นให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีกฎหมายกำหนดให้ออกบัตรประจำตัวให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ไม่ต้องมีบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัตินี้ แต่ข้อยกเว้นดังกล่าวไม่รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงานหรือที่เรียกชื่ออย่างอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนด (ร่างมาตรา 5 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 5)

3. แก้ไขผู้มีอำนาจออกบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐให้สอดคล้องกับการแก้ไขนิยามคำว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ”(ร่างมาตรา 6 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 6)

4. กำหนดให้ผู้มีอำนาจออกบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจมอบหมายให้ผู้ดำรงตำแหน่งใดออกบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐสำหรับบางตำแหน่งแทนก็ได้ โดยให้คำนึงถึงระดับ ตำแหน่ง หน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้ที่จะได้รับมอบหมายเป็นสำคัญ (ร่างมาตรา 7 เพิ่มเติมมาตรา 6/1)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 เมษายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ