ผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 8/2552

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 10, 2009 13:58 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (รศก.) ครั้งที่ 8/2552 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2552 และเห็น ชอบมติคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ตามที่กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจเสนอ ดังนี้

1. แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 (2553-2555)

1.1 หลักการและความจำเป็น

เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะหดตัวต่อเนื่องและรุนแรงมากขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ในขณะที่เศรษฐกิจไทยยังคงได้รับผล กระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในภาคการส่งออกและภาคอุตสาหกรรม โดยในเดือนมกราคม 2552 มีผู้ว่างงานประมาณ 878,900 คนหรือเพิ่มขึ้น ประมาณ 247,700 คนจากเดือนเดียวกันของปี 2551 นอกจากนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นและมีความล่าช้าในการฟื้นตัวกว่าที่ คาดการณ์ไว้เดิม จึงมีความจำเป็นในการจัดทำแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 ต่อเนื่องจากแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน เพื่อสร้างงานและสร้าง รายได้โดยการลงทุนของภาครัฐในโครงการที่จะสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต พร้อมกับสร้างโอกาสของภาคเอกชนใน การลงทุน

1.2 วัตถุประสงค์

1.2.1 เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงาน รวมทั้งการอนุรักษ์ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม และเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิตให้กับภาคเกษตรและอุตสาหกรรมของประเทศ

1.2.2 เพื่อปรับปรุงบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ทันสมัยและจำเป็นต่อการเพิ่ม ความสามารถในการแข่งขันและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

1.2.3 เพื่อเร่งรัดและสร้างศักยภาพในการหารายได้จากการท่องเที่ยว

1.2.4 เพื่อสร้างฐานรายได้ใหม่ของประเทศจากเศรษฐกิจความคิดสร้างสรรค์หรือเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์

1.2.5 เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ทั้งระบบให้ทันสมัย

1.2.6 เพื่อปฏิรูปคุณภาพระบบสาธารณสุขที่มีมาตรฐานสูงสำหรับคนไทย และ

1.2.7 เพื่อสร้างอาชีพและรายได้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในระดับชุมชน

1.3 เป้าหมาย

เพื่อเพิ่มแรงกระตุ้นให้กับเศรษฐกิจโดยรัฐเพิ่มการลงทุนประมาณร้อยละ 5 ของรายได้ประชาชาติ และเปิดโอกาสให้ภาค เอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการลงทุนของภาครัฐ สร้างตำแหน่งงานใหม่ประมาณ 1.6 ล้านคนภายใน 3 ปี และกระจายการลงทุนทางด้านบริการ สาธารณะขั้นพื้นฐานไปสู่ต่างจังหวัดและชนบท

1.4 แผนการลงทุนภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 ประกอบด้วยแผนการลงทุน จำนวน 7 แผน งาน มีวงเงินลงทุนเบื้องต้นในช่วงระหว่างปีงบประมาณ 2553-2555 รวม 1,566,867 ล้านบาท หรือเท่ากับการลงทุนเฉลี่ยปีละ 522,289 ล้าน บาท โดยสรุปได้ดังนี้

1.4.1 แผนงานปรับปรุงประสิทธิภาพระบบการกระจายน้ำ พัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อการเกษตร น้ำเพื่ออุตสาหกรรม และ ประสิทธิภาพการผลิตภาคเกษตร วงเงิน 230,645 ล้านบาท โดยเป็นการปรับปรุงฟื้นฟูแหล่งน้ำ และเพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทานทั่วประเทศ ซึ่งจะส่งผลในการเพิ่มปริมาณน้ำ 6,968 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์เพิ่มขึ้น 23.6 ล้านไร่ และจะทำให้สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวโดยเฉพาะในพื้นที่ ภาคกลางจาก 700 กก./ไร่ เป็น 900 กก./ไร่ ซึ่งทำให้ประชาชนมากกว่า 1 ล้านครัวเรือน ได้รับประโยชน์จากการมีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตรกรรม รวมทั้งการผลิตในภาคอุตสาหกรรม การป้องกันบรรเทาอุทกภัย และการเพิ่มประสิทธิภาพภาคเกษตรโดยการพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช ทั้งพืชอาหารและพืชพลังงานที่สำคัญ การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต การลดความสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว รวมทั้งการพัฒนากองทุนสินค้าเกษตร ประกอบด้วย 1) การปรับปรุงและฟื้นฟูแหล่งน้ำ วงเงินลงทุน 20,216.51 ล้านบาท 2) การบำรุงรักษาและเพิ่มประสิทธิภาพโครงการชลประทาน เดิม วงเงินลงทุน 57,432.23 ล้านบาท 3) การจัดหาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน วงเงินลงทุน 111,066.27 ล้านบาท 4) การป้องกัน และบรรเทาอุทกภัย วงเงินลงทุน 33,218.69 ล้านบาท 5) การปรับปรุงและกระจายพันธุ์ วงเงิน 4,444.69 ล้านบาท 6) การพัฒนารูปแบบ เทคโนโลยีการผลิตและมาตรฐานสินค้าเกษตร วงเงิน 250.29 ล้านบาท 7) การศึกษาและพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต วงเงิน 305.02 ล้านบาท

1.4.2 แผนงานปรับปรุงและพัฒนาบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่ทันสมัยและจำเป็นต่อการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและยก ระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน วงเงิน 1,140,016 ล้านบาท ประกอบด้วย

1) แผนงานพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ให้ทันสมัยในระดับสากล วงเงินลงทุน 676,251 ล้านบาท เช่น การพัฒนารถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ทางหลวงสายหลัก และการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นต้น

2) แผนงานสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและพัฒนาพลังงานทดแทน วงเงินลงทุน 212,893 ล้านบาท เช่น การก่อ สร้างโรงไฟฟ้าและสายส่ง กังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้าและพลังงานทางเลือกอื่น ๆ เป็นต้น

3) แผนงานยกระดับการให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมให้ทันสมัย วงเงินลงทุน 28,254 ล้านบาท เช่น การพัฒนา โครงข่าย Broadband IP และโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 (3 G) เป็นต้น

4) แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว วงเงินลงทุน 10,237 ล้านบาท เช่น การปรับปรุง สถานีขนส่งผู้โดยสาร สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ประปาและเคเบิลใต้น้ำในแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นเกาะ และปรับปรุงอุทยานแห่งชาติ เป็นต้น

5) แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการศึกษา วงเงินลงทุน 83,269 ล้านบาท เช่น ปรับปรุงโรงเรียน 10,607 แห่ง การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการศึกษาให้ทันสมัย เพื่อก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาค รวมทั้งพัฒนาศูนย์เรียนรู้ชุมชน และศูนย์ พัฒนาเด็กเล็กในชุมชน เป็นต้น

6) แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข วงเงินลงทุน 89,614 ล้านบาท เช่น การพัฒนาโรงพยาบาล สุขภาพประจำตำบล 4,000 แห่ง จัดตั้งและพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ได้แก่ ศูนย์หัวใจ ศูนย์มะเร็ง ศูนย์ไต เบาหวาน และศูนย์ อุบัติเหตุ รวม 161 แห่ง เป็นต้น

7) แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการดูแลสวัสดิภาพของประชาชน วงเงินลงทุนประมาณ 15,154 ล้านบาท โดยปรับปรุงสถานีตำรวจ และอาคารที่พักอาศัยของข้าราชการตำรวจ จำนวน 765 แห่งเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัย และสวัสดิภาพ ของประชาชนมีประสิทธิภาพมากขึ้นรวมทั้งก่อสร้างที่พักอาศัยของทหารเพื่อให้การดูแลรักษาสวัสดิภาพของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวมีประสิทธิภาพมากขึ้น

8) แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วงเงินลงทุนรวม 11,900 ล้านบาท เช่น การ วิจัยและพัฒนาพลังงานทดแทนที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย และพัฒนาห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรายสาขา (สิ่งทอ อาหาร ไฟฟ้า ยานยนต์) เป็นต้น

9) แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วงเงินลงทุน 12,611 ล้านบาท เช่น ส่งเสริมการปลูกหรือเพิ่มพื้นที่ป่า ต้นไม้ และพื้นที่สีเขียว รวมทั้งดำเนินการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism : CDM) อันเป็นการเพิ่มหรือรักษาแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจก ทำให้สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 10 ล้านตัน/ปี และผลิตมีเทนเป็นพลังงานได้ 3,000 ล้าน ลบ.ม./ปี และระบบข้อมูลบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

1.4.3 แผนงานเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว วงเงิน 6,637 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมตลาดท่องเที่ยว ควบคู่กับการลงทุนพัฒนา แหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่มีศักยภาพ และการฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวที่เสื่อมโทรม เช่น ชายฝั่งทะเลอ่าวไทย การส่งเสริมความเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว เชิงสุขภาพ และการติดตั้งอุปกรณ์ให้แสงสว่างสถานที่สำคัญ ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น

1.4.4 แผนงานพัฒนาศักยภาพของเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ วงเงิน 20,134 ล้านบาท ครอบคลุม 6 ด้าน คือ (1) มรดก ทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา (2) การส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปะและวัฒนธรรม (3) การส่งเสริมงานช่างฝีมือ (4) การพัฒนาสินค้าเชิงสร้างสรรค์ (5) การส่งเสริมอุตสาหกรรมสื่อและซอฟท์แวร์ และ (6) การส่งเสริมการออกแบบ และการวิจัยและพัฒนาที่จะช่วยในการเชื่อมโยงมรดกและทุน ของสังคมไทยไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ และการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีโครงการสำคัญ เช่น การอนุรักษ์และ ฟื้นฟูมรดกโลกอยุธยาในสภาวะเร่งด่วน การพัฒนากรุงเทพฯ สู่เมืองวัฒนธรรม การพัฒนาขีดความสามรถในการผลิตเซรามิก อัญมณี เครื่องจักสาน แกะสลักไม้ ของ SME และการจัดงานดิจิตอลมีเดียเอเชีย เป็นต้น

1.4.5. แผนงานยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ทั้งระบบให้ทันสมัย วงเงิน 60,145 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้คนไทย ทุกกลุ่ม ทุกวัย ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ มาตรฐาน มีการเรียนรู้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนตลอดชีวิต มีการผลิตกำลังคนระดับกลาง และระดับสูงที่มีสมรรถนะสอดคล้องและตรงกับความต้องการของภาคการผลิตและบริการ และเพิ่มขีดความสามารถของกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีให้สูงขึ้น และยกระดับมหาวิทยาลัยวิจัยของไทยให้อยู่ใน 200 อันดับแรกของโลก

1.4.6 แผนงานปฏิรูปคุณภาพระบบสาธารณสุข วงเงิน 9,290 ล้านบาท เพื่อการผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และ สาธารณสุขการผลิตแพทย์ ประมาณ 1,100 คน พยาบาลวิชาชีพ 6,000 คน ทันตสาธารณสุข 1,600 คน นักวิชาการสาธารณสุข 2,400 คน ผู้ช่วย พยาบาล 75,000 คน นักกายภาพบำบัด 200 คน และการพัฒนาศักยภาพและบุคลากรสาธารณสุขอื่น ๆ อีก 19,000 คน เพื่อรองรับการลงทุนเพิ่มใน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านสาธารณสุขในทุกระดับบริการ และการศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อสนับสนุนการเป็นศูนย์ กลางการรักษาพยาบาลในภูมิภาค

1.4.7 แผนงานการลงทุนเพื่อการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตในระดับชุมชนและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ วงเงิน 100,000 ล้านบาท โดยมีแผนงานการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ วงเงินลงทุน 64,564 ล้านบาท และแผนงานลงทุนเพื่อสร้างอาชีพ และรายได้ในชุมชน วงเงินลงทุน 35,436 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ประชาชนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง เพิ่มขึ้น 18,750 หลังคาเรือน มีน้ำสะอาดและบริการประปาเพิ่มขึ้น 17,272 ครัวเรือน มีการจ้างงาน มีอาชีพ สามารถยกระดับรายได้ใน 2,901 ชุมชน โดยในชุมชนเป้าหมายเร่งด่วน 696 ชุมชน มีรายได้เฉลี่ยต่อคนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 17,515 บาทต่อคนต่อปี

1.5 ประมาณการวงเงินลงทุนเบื้องต้น และแหล่งเงินลงทุนของแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2

แผนงาน                                                          2553       2554       2555      2553-55
1. แผนงานปรับปรุงประสิทธิภาพระบบกระจายน้ำฯ                         70,068     77,192     83,385      230,645
2. แผนงานปรับปรุงและพัฒนาบริการสาธารณะขั้น                         355,722    365,107    419,188    1,140,016
พื้นฐานที่ทันสมัยและจำเป็นต่อการเพิ่มความสามารถ
ในการแข่งขันและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
   2.1 แผนงานพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ฯ                            179,756    227,963    268,532      676,251
   2.2 แผนงานสร้างความมั่นคงด้านพลังงานฯ                           86,352     52,186     74,212      212,893
   2.3 แผนงานยกระดับโครงข่ายโทรคมนาคมฯ                          15,952      8,422      3,880       28,254
   2.4 แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานท่องเที่ยวฯ                         1,836      4,703      3,698       10,237
   2.5 แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการศึกษา                         24,295     28,541     30,433       83,269
   2.6 แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสาธารณสุข                        31,139     31,113     27,362       89,614
   2.7 แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการดูแลสวัสดิภาพของประชาชน       2,762      6,604      5,788       15,154
   2.8 แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี          4,000      3,950      3,950       11,900
   2.9 แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม     9,686      1,680      1,245       12,611
3. แผนงานเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว                                 4,368      1,751        517        6,637
4. แผนงานพัฒนาศักยภาพของเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์                       5,798      7,751      6,585       20,134
5. แผนงานยกระดับคุณภาพการศึกษาฯ                                  19,056     19,832     21,257       60,145
6. แผนงานปฏิรูปคุณภาพระบบสาธารณสุข                                 1,130      3,930      4,230        9,290
7. แผนงานการลงทุนเพื่อการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตในระดับชุมชน        30,000     35,000     35,000      100,000
และพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
                  รวม                                        486,142    510,562    570,163    1,566,867
                  งบประมาณ                                   180,259    214,337    219,259      613,855
                  เงินกู้                                       203,721    221,399    267,123      692,244
                  รายได้และอื่น ๆ                               102,162     74,826     83,781      260,768

1.6 หลักเกณฑ์การพิจารณาโครงการ

1.6.1 ความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2

1.6.2 เป็นแผนงานหรือโครงการใหม่ที่มีความพร้อมและสามารถดำเนินการได้ทันทีที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณดำเนิน โครงการ

1.6.3 เป็นแผนงานหรือโครงการที่สนับสนุนการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การยกระดับคุณภาพชีวิตของ ประชาชน และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องของภาคเอกชน

1.6.4 เป็นแผนงานหรือโครงการที่ก่อให้เกิดการกระจายการจ้างงานไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ

1.7 กลไกการขับเคลื่อนแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2

1.7.1 ให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 เป็นกลไกหลักในการดำเนินการโดยมีองค์ ประกอบ และอำนาจหน้าที่ ดังนี้

1) องค์ประกอบ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการ พัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ โดยมีผู้แทนกระทรวงการคลังและผู้แทนสำนักงบประมาณ เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม

2) อำนาจหน้าที่ ประกอบด้วย (1) พิจารณารายละเอียดความเหมาะสมของโครงการ และจัดลำดับความสำคัญของ โครงการตามกรอบแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 (2) พิจารณาความเหมาะสมของวงเงินลงทุนโครงการ (3) พิจารณาแหล่งเงินลงทุนและรูปแบบ การลงทุนที่เหมาะสมในการดำเนินโครงการ (4) จัดทำแผนปฏิบัติการแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 กำกับติดตามการดำเนินการให้เป็นไปตามเป้า หมายของแผนปฏิบัติการ และแผนการดำเนินโครงการ (5) นำเสนอโครงการตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติดำเนิน การต่อไป

1.7.2 สำหรับแผนงาน/โครงการใดที่คณะกรรมการฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้วและแผนงาน/โครงการนั้น ไม่ต้องดำเนิน การตามกฎหมาย และระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้คณะกรรมการฯ นำเสนอแผนงาน/โครงการให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติดำเนินการต่อไป

1.7.3 ทั้งนี้ ในกรณีที่โครงการลงทุนจำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชบัญญัติการบริหาร หนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 เป็นต้น โดยเมื่อคณะ กรรมการพิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการแล้ว ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

มติคณะกรรมการ รศก.

1) เห็นชอบแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 (2553-2555) ซึ่งประกอบด้วย 7 แผนงาน เป้าหมาย หลักเกณฑ์การพิจารณาโครงการ แผนการลงทุน 7 แผนงาน และประมาณการวงเงินลงทุนเบื้องต้น จำนวน 1,566,867 ล้านบาท

2) เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง เป็น ประธาน ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็น กรรมการ ผู้แทนกระทรวงการคลังและผู้แทนสำนักงบประมาณ เป็นกรรมและเลขานุการร่วม โดยมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

(1) พิจารณารายละเอียดความเหมาะสมของโครงการ และจัดลำดับความสำคัญของโครงการตามกรอบแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2

(2) พิจารณาความเหมาะสมของวงเงินลงทุน

(3) พิจารณาแหล่งเงินทุนและรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมในการดำเนินโครงการ

(4) จัดทำแผนปฏิบัติการแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 กำกับ ติดตามการดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายของแผนปฏิบัติการ และ แผนการดำเนินโครงการ

(5) นำเสนอโครงการตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติดำเนินการต่อไป

3) เห็นควรให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2552 เรื่อง คณะกรรมการต่าง ๆ ที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง ที่เสนอ โดยกระทรวงการคลัง โดยยกเลิกคณะกรรมการกำกับด้านการเงินและการระดมทุนสำหรับโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ และให้แต่งตั้งคณะ กรรมการฯ ในข้อ 2 แทน

4) ในกรณีที่โครงการใดเข้าข่ายต้องดำเนินการตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมาย เช่น พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และ พ.ร.บ. ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 เป็นต้น เมื่อคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการ ภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 พิจารณากลั่นกรองโครงการแล้วเสร็จ ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการตามขั้นตอนของระเบียบและ กฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัดต่อไป

5) มอบหมายให้ สศช. แจ้งกระทรวงที่เกี่ยวข้องจัดทำรายละเอียดโครงการ และแผนการดำเนินการโครงการตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 เพื่อนำเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการฯ พิจาณา ภายใน 1 เดือน

2. โครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตรสำหรับปีการผลิต 2551/2552

กระทรวงการคลัง ได้เสนอเรื่อง โครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตรสำหรับปีการผลิต 2551/2552 มีสาระสำคัญดังนี้

สาระสำคัญ

2.1 คณะกรรมการ รศก. ได้มีมติครั้งที่ 6/2552 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2552 ยืนยันการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตรสำหรับปีการ ผลิต 2551/2552 เพิ่มเติมให้ครอบคลุมผลผลิตทางการเกษตร 5 ชนิด คือ ยางพารา น้ำมันปาล์มดิบ ข้าวเปลือกนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมัน สำปะหลัง โดยใช้เงินกู้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) จำนวน 110,000 ล้านบาท และให้รัฐบาลรับภาระเงินต้นและดอกเบี้ย สำหรับค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการโครงการนั้น ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปพิจารณา และหารือรองนายกรัฐมนตรี (นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ) เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

2.2 กระทรวงการคลังได้รับการประสานจาก ธ.ก.ส. ว่าจะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ ประมาณ 8,725.62 ล้านบาท ประกอบด้วย ธ.ก.ส. จำนวน 3,523.08 ล้านบาท องค์การคลังสินค้า จำนวน 4,993.06 ล้านบาท องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร จำนวน 179.48 ล้านบาท และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 30 ล้านบาท

2.3 กระทรวงการคลังได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การค้ำประกันเงินกู้จำนวน 110,000 ล้านบาท จะใช้สำหรับการรับจำนำผลผลิตทาง การเกษตรเท่านั้น จึงไม่ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการดังกล่าว ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงได้นำเสนอคณะกรรมการ รศก. เพื่อ พิจารณามอบหมายสำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดังกล่าวข้างต้นแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

มติคณะกรรมการ รศก.

1) เห็นชอบให้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2553 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานโครงการรับจำนำผลผลิตทาง การเกษตรสำหรับปีการผลิต 2551/2552 เพื่อชดเชยให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

2) สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานโครงการในปีงบประมาณ 2552 เห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์ องค์การคลังสินค้า องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการจัดหาเม็ดเงินเพื่อใช้ในการดำเนินงานไป ก่อน โดยอาจเจียดจ่ายจากงบประมาณของหน่วยงาน ซึ่งรัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณชดเชยคืนให้ต่อไปในโอกาสแรก

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 เมษายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ