ผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (กพบ.) ได้มีการประชุมครั้งที่ 1/2552

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 10, 2009 14:19 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (กพบ.) ครั้งที่ 1/2552 และเห็นชอบมติคณะกรรมการ กพบ. ตามที่กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน เสนอ ดังนี้

1. แนวทางการทำงานของคณะกรรมการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน

1.1 นายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการ กพบ. ดังนี้ (1) กพบ. ควรพิจารณาแนวทางการดำเนินงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความช่วยเหลือเป็นเงินกู้และเงินให้เปล่า ให้มีความก้าวหน้าในลักษณะที่รักษาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน และสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน (2) การทำงานด้านความช่วยเหลือแก่ประเทศเพื่อนบ้านควรทำอย่างเป็นระบบและสร้างโอกาสให้คนไทยมากขึ้น (3) ควรเน้นการทำงานในลักษณะบูรณาการระหว่างหน่วยงานเพื่อเพิ่มความเป็นเอกภาพและประสิทธิภาพ (4) ควรมีการประชุมคณะกรรมการ กพบ. ทุก 2-3 เดือน หรือตามความจำเป็นเร่งด่วนของวาระ

1.2 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม ดังนี้ (1) การ ดำเนินงานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านถือเป็นส่วนหนึ่งและเป็นเครื่องมือของการดำเนินนโยบายการต่างประเทศของรัฐบาล และในการประชุมคณะกรรมการ กพบ. ครั้งต่อไป ควรมีการประมวลการให้ความช่วยเหลือจากสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) และสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (สพพ.) ให้เป็นภาพรวม เพื่อให้เป็นเอกภาพและมีความเชื่อมโยงระหว่างการให้ความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านที่ดำเนินงานอยู่ในหลายกรอบความร่วมมือ

มติที่ประชุม

ที่ประชุมรับทราบ

2. ความก้าวหน้าการดำเนินงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านในกรอบ GMS ACMECS IMT-GT และ BIMSTEC

2.1 สาระสำคัญ ความก้าวหน้าและการดำเนินงานระยะต่อไปของความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านในกรอบ GMS ACMECS IMT-GT และ BIMSTEC

2.2 ความเห็นและประเด็นอภิปราย

2.2.1 เร่งรัดการดำเนินงานของไทยในการอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าผ่านแดน และผลักดันให้ ADB และเวียดนามพัฒนาเส้นทางจากสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 3 ณ จังหวัดนครพนม ที่เชื่อมเส้นทางหมายเลข 12 ในสปป.ลาว สู่ท่าเรือน้ำลึกของเวียดนาม

2.2.2 ขอให้มีแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านในระยะยาว (5-10 ปี) เพื่อเป็นกรอบทิศทางให้ภาคเอกชน

2.2.3 ภาครัฐต้องมีมาตรการส่งเสริมโอกาสการลงทุนของเอกชนไทยควบคู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน โดยรัฐควรกำหนดนโยบายที่ชัดเจนในการพัฒนาอุตสาหกรรมชายแดนที่ให้แรงงานต่างด้าวมาทำงานในไทย การจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้า และเขตปลอดภาษี (Free Zone) ที่สอดรับกับการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจตามแนวเส้นทาง

2.2.4 ขอให้รัฐสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในเรื่องความเป็นไปได้ในการจัดตั้งองค์กรค้ำประกันสินเชื่อสำหรับอุตสาหรรมขนาดย่อมในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ทั้งนี้ รัฐควรมีแผนประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจและเตรียมความพร้อมในการแข่งขันให้กับภาคเอกชน โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมชายแดนและ SMEs สำหรับการเปิดเสรีอาเซียนในปี 2553

2.2.5 ควรเจรจาให้ฝรั่งเศสช่วยจัดทำแผนที่ภาพถ่ายจากดาวเทียมเพื่อวางแผนพื้นที่การลงทุน

2.2.6 คณะกรรมการ กพบ. ควรกำหนดให้มีหน่วยงานเจ้าภาพเรื่องการพัฒนาระบบการค้าชายแดน

2.2.7 ขอความชัดเจนของนโยบายภาครัฐในเรื่อง Contract farming ว่าจะดำเนินการต่อหรือไม่ โดยปัจจุบันมีปัญหาการนำเข้าผลผลิตจากโครงการที่ภาคเอกชนไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน แต่เนื่องจากติดปัญหามาตรา 190 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ. 2550 และด่านศุลกากรไม่รับหนังสือที่ผู้ว่าราชการจังหวัดออกคำรับรอง ทำให้ไม่สามารถนำสินค้าเข้ามาได้

2.2.8 ขอให้รัฐบาลส่งเสริมบทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัดและท้องถิ่นในการดำเนินงานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน

2.2.9 ในระยะเร่งด่วนขอให้รัฐบาลสนับสนุนการก่อสร้างสะพานตากใบ (นราธิวาส) และขอความชัดเจนเรื่องการย้ายด่านสะเดา (สงขลา) ที่ปัจจุบันหนาแน่นใช้เวลาผ่านแดนถึง 2 ชั่วโมง และการพัฒนาท่าเรือที่จังหวัดสตูล โดยภาคใต้จำเป็นต้องมีท่าเรือทั้ง 2 ฝั่งทะเลคือที่สตูล (อันดามัน) และสงขลา (อ่าวไทย) และมีนิคมอุตสาหกรรมในเขตรอยต่อของจังหวัดสงขลา สตูล และพัทลุง ซึ่งควรสร้างนิคมอุตสาหกรรมแห่งที่สองในภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงกับ BIMSTEC และตะวันออกกลาง โดยไทยจำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบจากนอกภูมิภาค และจะเป็นการเสียโอกาสหากไม่มีท่าเรือรองรับ

2.2.10 ขอให้มอบหมายหน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก (1) พิจารณาเรื่องการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ร้อยละ 1.5 ที่ให้แก่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจวงเงิน 2.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังมีวงเงินเหลือค้างอยู่และกำลังจะสิ้นสุดระยะเวลาโครงการในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 (2) ประสานและผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล

มติที่ประชุม

ที่ประชุมรับทราบและมอบหมายฝ่ายเลขานุการรับความเห็นของที่ประชุมไปพิจารณาต่อไป

3. กรอบแนวทางการดำเนินงานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน

3.1 สาระสำคัญ

3.1.1 ยุทธศาสตร์ความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน (GMS ACMECS IMT-GT และ BIMSTEC) ให้ความสำคัญกับการสร้างความเชื่อมโยงเศรษฐกิจและสังคมและสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และความสมานฉันท์ แบ่งยุทธศาสตร์เป็น 3 ระดับ คือ ระดับนโยบาย ความร่วมมือรายสาขา และสนับสนุนการขับเคลื่อน โดยเน้นการดำเนินงานกรอบความร่วมมือสำคัญ ได้แก่ GMS ACMECS IMT-GT และ BIMSTEC กลไกผลักดันการดำเนินงานกรอบความร่วมมือระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ คณะกรรมการ กพบ. สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (สพพ.)

3.1.2 ข้อจำกัดของการดำเนินงาน อาทิ ความไม่ต่อเนื่องของกลไกการดำเนินงาน ระบบการประสานงานระหว่างหน่วยงานยังมีปัญหาในทางปฏิบัติ กรอบความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นเรื่องใหม่ของภูมิภาคและท้องถิ่น และการขาดความสมดุลทางการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม

3.1.3 ข้อเสนอแนวทางการดำเนินงาน การให้กลไกการทำงานของคณะกรรมการ กพบ. มีความถาวรในการดำเนินงานมากขึ้น (2) การปรับจุดเน้นของยุทธศาสตร์ความร่วมมือ (3) การเร่งรัดแผนงานและโครงการสำคัญในปี 2552 อาทิ เร่งรัด CBTA ผลักดันโครงสร้าง (4) พื้นฐานสำคัญใน GMS พิจารณาโครงการที่ประเทศเพื่อนบ้านขอรับความช่วยเหลือ และการขยายทุนความช่วยเหลือให้ประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น (5) การเพิ่มบทบาทการดำเนินงานความร่วมมือของผู้ว่าราชการจังหวัด (6) ควรมีการทบทวนกลไกความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในส่วนของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งต้องบูรณาการกันมากขึ้นระหว่าง สศช. TICA และ NEDA (7) การสร้างความรู้และความเข้าใจในยุทธศาสตร์ (8) ควรมีการประสานยุทธศาสตร์ตามกรอบความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านกับยุทธศาสตร์ที่สำคัญในระดับประเทศ

มติที่ประชุม

1) เห็นชอบกรอบแนวทางการดำเนินงานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านตามที่ฝ่ายเลขานุการเสนอ และให้นำความเห็นของที่ประชุมไปพิจารณาประกอบการดำเนินงานต่อไป

2) มอบหมายกระทรวงการคลัง กำหนดแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างและการดำเนินงาน สพพ. นำเสนอต่อการประชุมคณะกรรมการ กพบ. ครั้งต่อไป

4. การเร่งรัดการดำเนินงานตามความตกลงการขนส่งข้ามพรมแดน

4.1 สาระสำคัญ

4.1.1 ความตกลงการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Cross Border Transport Agreement: CBTA) (1) เริ่มต้นในปี 2542 แต่จะมีผลสมบูรณ์ในทางปฏิบัติต่อเมื่อประเทศสมาชิกได้ให้สัตยาบัน ครบทั้ง 20 ฉบับ โดยกำหนดภายในปี 2553 (2) การดำเนินงาน CBTA นำร่อง ณ ด่านพรมแดน ในส่วนของไทยมี 4 ด่านหลัก ได้แก่ ด่านมุกดาหาร ด่านอรัญประเทศ ด่านแม่สอด และด่านแม่สาย (3) การดำเนินงานตรวจปล่อย ณ จุดชายแดนเดียว (Single-Stop Inspection: SSI) มี 4 ระดับ โดยปัจจุบัน GMS มีด่านพรมแดนเพียงจุดเดียวที่สามารถดำเนินการ SSI ได้ในระดับ 1 (ขั้นแรก) คือ ด่านแดนสะหวัน-ลาวบาว (ลาว-เวียดนาม) ตามแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC) (4) การเร่งดำเนินการ CBTA นำร่องระหว่างไทย-ลาว-เวียดนาม ตามแนว EWEC ไทย ลาว และเวียดนาม ได้จัดทำ MOU-IICBTA ไทย-ลาว-เวียดนาม เพื่อให้สามารถเปิดการเดินรถระหว่าง 3 ประเทศ ตามแนว EWEC ได้โดยให้มีพิธีเปิดสิทธิจราจรระหว่างกันในวันที่ 19 มิถุนายน 2552 (การประชุมระดับรัฐมนตรี GMS ครั้งที่ 15 ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพ) และ (5) กลไกการดำเนินงาน ในส่วนของไทย มีคณะกรรมการประสานการขนส่งผ่านแดนและขนส่งข้ามแดนแห่งชาติ ซึ่งปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน

4.1.2 สถานะการดำเนินงานและประเด็นปัญหาในส่วนของไทย (1) ด่านพรมแดนนำร่องระหว่างไทยและเพื่อนบ้าน มีเพียง 2 จุดที่เจรจาแล้วเสร็จและลงนามแล้ว คือ ด่านมุกดาหาร และด่านอรัญประเทศ แต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากข้อจำกัดด้านการประสานงานระหว่าง 2 ประเทศ กฎหมายที่ให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกราชอาณาจักร ไม่มีพื้นที่ตรวจร่วมและอาคารที่ทำการด่านที่เหมาะสม ความไม่พร้อมด้าน ICT และระบบเชื่อมโยง (2) สถานะการให้สัตยาบันภาคผนวกและพิธีสารแนบท้ายความตกลง CBTA จำนวน 20 ฉบับ ภายในปี 2553 ประเทศ GMS ส่วนใหญ่ให้สัตยาบันครบแล้ว ในส่วนของไทยให้สัตยาบันแล้ว 11 ฉบับ เหลือ 9 ฉบับ ยังไม่สามารถให้สัตยาบันได้เนื่องจากอาจเข้าข่ายมาตรา 190 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในการออกกฎหมายมารองรับก่อนการให้สัตยาบัน โดยภายในปี 2553 คาดว่าไทยจะให้สัตยาบันได้อีก 8 ฉบับ (3) การแลกเปลี่ยนสิทธิจราจรไทย-ลาว-เวียดนาม ตามแนว EWEC ซึ่งเจรจาแล้วเสร็จและกำหนดให้มีพิธีฉลองความสำเร็จในระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรี GMS ครั้งที่ 15 ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพ ในวันที่ 19 มิถุนายน 2552 แต่ยังต้องแก้ปัญหาเรื่องการขนส่งข้ามแดน โดยกรมศุลกากรของไทยและองค์กรค้ำประกัน (หอการค้าไทย)

มติที่ประชุม

1) มอบหมายคณะกรรมการประสานการขนส่งผ่านแดนและขนส่งข้ามแดนแห่งชาติ (กระทรวงคมนาคม) และผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหารและจังหวัดสระแก้ว ร่วมกันเจรจาและผลักดันการดำเนินงาน CBTA ณ ด่านนำร่องมุกดาหาร-สะหวันนะเขต และด่านอรัญประเทศ-ปอยเปต กับฝ่าย สปป.ลาว และกัมพูชา ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

2) มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลังเร่งรัดกระบวนการพิจารณาและออกกฎหมาย 5 ฉบับ เพื่อรองรับการดำเนินงาน CBTA โดยเร็ว

3) มอบหมายกระทรวงคมนาคม พิจารณานำเสนอภาคผนวกและพิธีสารแนบท้ายเฉพาะฉบับที่มีความพร้อมและไม่เข้าข่ายมาตรา 190 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เพื่อให้สัตยาบันได้ก่อนการประชุมระดับรัฐมนตรี GMS ครั้งที่ 15 ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 17-19 มิถุนายน 2552 ที่จังหวัดเชียงใหม่

4) มอบหมายกรมศุลกากร และหอการค้าไทย เร่งหาข้อสรุปการดำเนินงานระบบศุลกากรผ่านแดนนำร่องตามแนว EWEC และเตรียมความพร้อมเพื่อการเปิดสิทธิจราจรระหว่างไทย-ลาว-เวียดนาม ที่กำหนดเบื้องต้นในวันที่ 19 มิถุนายน 2552

5) มอบหมายจังหวัดและกรมศุลกากร ร่วมบูรณาการงาน CBTA ในระดับปฏิบัติ เพื่อวางแผนเตรียมความพร้อมและพิจารณาจัดตั้งกลไกระดับจังหวัดที่เหมาะสมเพื่อประสานกับคณะกรรมการประสานการขนส่งผ่านแดนและขนส่งข้ามแดนแห่งชาติ (กระทรวงคมนาคม) อย่างใกล้ชิดต่อไป

6) มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานต่อคณะกรรมการ กพบ. และคณะรัฐมนตรี ในการประชุมคณะกรรมการ กพบ. ครั้งต่อไป

7) ประธานกรรมการฯ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสรุปเรื่องที่จำเป็นต้องลงนามหรือให้สัตยาบัน แต่ไม่แน่ใจว่าอยู่ในข่ายมาตรา 190 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา

5. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน

5.1 โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟไทย-ลาว ระยะที่ 2 ท่านาแล้ง-เวียงจันทน์ (9 กม.)

5.1.1 สาระสำคัญ

1) เรื่องเดิม เส้นทางรถไฟท่านาแล้ง-เวียงจันทน์ เป็นส่วนต่อขยายจากเส้นทางรถไฟฃหนองคาย-ท่านาแล้ง ที่ไทยให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ สปป.ลาวและก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดรถไฟขบวนปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2552 และเป็นโครงการที่รัฐบาลไทยได้ประกาศจะให้การสนับสนุนแล้ว (ในสมัย นรม.สมัคร สุนทรเวช และ นรม. สมชาย วงศ์สวัสดิ์)

2) ศักยภาพของโครงการ การศึกษาความเป็นได้โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายท่านาแล้ง-เวียงจันทน์ โดยฝรั่งเศสและได้ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อเดือนกันยายน 2551 พบว่ามีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและไทยเป็นผู้ได้ประโยชน์ถึงร้อยละ 80

มติที่ประชุม

1) รับทราบความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างทางรถไฟ ระยะที่ 2 (ท่านาแล้ง—เวียงจันทน์)

2) เห็นชอบแนวทางการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ สปป.ลาวสำหรับโครงการก่อสร้างทางรถไฟไทย—ลาว ระยะที่ 2 (ท่านาแล้ง-เวียงจันทน์) ในรูปแบบเงินให้เปล่าและเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนสัดส่วนร้อยละ 30:70 ของวงเงินโครงการ และเห็นควรให้กระทรวงการคลังโดย สพพ. ให้ความช่วยเหลือในการออกแบบรายละเอียดโครงการฯ และทบทวนประมาณการค่าใช้จ่ายลงทุนจากผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการฯ ที่จัดทำแล้วเสร็จโดยรัฐบาลฝรั่งเศส

3) มอบหมายให้กระทรวงการคลัง โดย สพพ. รับไปดำเนินการตามระเบียบและขั้นตอนของการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ สปป.ลาว ต่อไป

5.2 โครงการพัฒนาเส้นทางภูดู่-เมืองปากลาย (33 กม.)

5.2.1 สาระสำคัญ

1) เรื่องเดิม คณะกรรมการ กพบ. ครั้งที่ 1/2549 เมื่อ 8 มิถุนายน 2549 ได้พิจารณาการให้ความช่วยเหลือโครงการพัฒนาเส้นทางภูดู่-ปากลาย และยกระดับจุดผ่อนปรนภูดู่เป็นด่านถาวร โดยเห็นควรให้เร่งรัดความช่วยเหลือเส้นทางคมนาคมใน สปป.ลาว ที่มีอยู่ในแผนเดิมให้แล้วเสร็จก่อน ดังนั้นเส้นทางถนนภูดู่-ปากลาย จึงยังไม่ได้รับการพิจารณา ต่อมาจังหวัดอุตรดิตถ์และหอการค้าไทยเสนอเรื่องมายัง สศช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกหลายครั้ง โดยในเดือนพฤษภาคม 2551สศช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ไปสำรวจโครงการและหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ และเจ้าแขวงไชยบุรี เพื่อปรับปรุงข้อมูลและพิจารณาศักยภาพโครงการ และ สพพ. ได้อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้และออกแบบรายละเอียดการก่อสร้างโครงการ งบประมาณ 8 ล้านบาท

2) ศักยภาพของโครงการ การพัฒนาเส้นทางภูดู่-ปากลาย จะช่วยเสริมศักยภาพการท่องเที่ยวและการค้า และยังช่วยเติมเต็มโครงข่ายคมนาคมของอนุภูมิภาคเชื่อมโยงภาคเหนือของไทยและเมืองหลวงพระบาง และการยกระดับจุดผ่อนปรนช่องภูดู่เป็นด่านถาวร จะช่วยอำนวยความสะดวกและเพิ่มศักยภาพการค้าชายแดนไทย-สปป.ลาว

มติที่ประชุม

1) เห็นชอบในหลักการเรื่องการยกระดับจุดผ่อนปรนภูดู่ จ. อุตรดิตถ์ เป็นด่านถาวร และมอบหมายให้คณะกรรมการจุดผ่านแดนถาวร พิจารณาในรายละเอียดและรายงานผลให้ กพบ. ทราบ

2) มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศเจรจากับ สปป.ลาว ในการขอรับความช่วยเหลือจากไทยอย่างเป็นทางการสำหรับการพัฒนาเส้นทางภูดู่-ปากลาย และหารือกับสปป.ลาวในการยกระดับด่านปากลาย แขวงไชยบุรี เป็นด่านสากลในระดับเดียวกันกับการยกระดับจุดผ่อนปรนภูดู่ของฝ่ายไทยเป็นด่านถาวร เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการนำเข้าและส่งออกสินค้าของไทย โดยเฉพาะพืชสินค้า Contract Farming ให้สามารถดำเนินการได้

3) มอบหมายกระทรวงการคลัง โดย สพพ. เร่งรัดการดำเนินโครงการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นถนนสายภูดู่ (อ.บ้านโคก จ.อุตรดิตถ์) ถึงเมืองปากลาย แขวงไชยบุรี ให้แล้วเสร็จ และรายงานผลการศึกษาฯ ให้ กพบ. ทราบต่อไป

5.3 โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงตามแนวเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (เชียงของ-ห้วยทราย)

5.3.1 สาระสำคัญ

1) เรื่องเดิม สะพานข้ามแม่น้ำโขงเชียงของ-ห้วยทราย ตั้งอยู่แนวพื้นที่เศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor: NSEC) ภายใต้แผนงาน GMS โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549 เห็นชอบในหลักการให้ไทยออกค่าใช้จ่ายการก่อสร้างครึ่งหนึ่งของโครงการฯ ร่วมกับฝ่ายจีน เพื่อขจัดช่วงที่เป็นคอขวดให้เส้นทางเชื่อมโยงตามแนว NSEC สมบูรณ์ โดยไทยได้ศึกษาออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ สรุปราคาก่อสร้าง วงเงินประมาณ 1,414.44 ล้านบาท

2) ความก้าวหน้า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดตั้งกลไกในระดับปฏิบัติ 2 ส่วน ได้แก่ Project Coordinating Committee (PCC) และ Project Management Committee (PMC) โดย สศช. ร่วมกับกรมทางหลวงและกรมสรรพากร อยู่ระหว่างหาข้อสรุปและเจรจากับฝ่ายจีน เรื่องที่จีนขอยกเว้นการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Tax) ที่เกิดขึ้นในฝั่งไทยสำหรับโครงการก่อสร้างสะพาน โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างในเดือนพฤศจิกายน 2552 และแล้วเสร็จเดือนมกราคม 2555

มติที่ประชุม

1) รับทราบความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงตามแนวเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (เชียงของ-ห้วยทราย)

2) มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวง เป็นหน่วยปฏิบัติหลัก โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงตามแนวเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (เชียงของ-ห้วยทราย)

5.4 โครงการก่อสร้างเส้นทางหมายเลข 11 (สามแยกสีไค-น้ำสัง และเมืองสังทอง) แขวงเวียงจันทน์ (92 กม.)

5.4.1 สาระสำคัญ

1) เรื่องเดิม กระทรวงคมนาคมขนส่งไปรษณีย์และก่อสร้าง สปป.ลาว ได้เสนอขอรับความช่วยเหลือ ก่อสร้างถนนหมายเลข 11 ระหว่างสามแยกสีไค นครหลวงเวียงจันทน์ ถึงบ้านน้ำสัง เมืองสังทอง แขวงนครหลวงเวียงจันทน์ พร้อมด้วยสะพาน 15 แห่ง ความยาว 92 กม. มูลค่าประมาณการเบื้องต้น 19 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือประมาณ 684 ล้านบาท โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2551 รับทราบการขอรับความช่วยเหลือจาก สปป.ลาว ดังกล่าวผ่านรายงานผลการประชุม กพบ. ครั้งที่ 1/2551 เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2551 โดยมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมในเส้นทางหมายเลขที่ 11

2) ความก้าวหน้า ฝ่ายไทยได้สำรวจโครงการ และจัดทำ TOR การศึกษาความเหมาะสมแล้วเสร็จ โดย สพพ. ได้รับจัดสรรวงเงิน 8 ล้านบาท เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และออกแบบเบื้องต้น ระยะเวลา 8 เดือน และต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 รับทราบผลการเยือน สปป.ลาวของนายกรัฐมนตรี (นายสมชาย วงสวัสดิ์) โดยฝ่ายไทยรับที่จะพิจารณาให้ความร่วมมือสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการในรูปแบบเงินให้เปล่าและเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน สัดส่วนร้อยละ 30:70 แก่ สปป.ลาว

มติที่ประชุม

1) รับทราบความก้าวหน้าโครงการพัฒนาถนนหมายเลข 11 (สามแยกสีไค นครหลวงเวียงจันทน์ ถึงบ้านน้ำสัง เมืองสังทอง แขวงเวียงจันทน์) ระยะทาง 92 กิโลเมตร

2) มอบหมายกระทรวงการคลัง โดย สพพ. ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ และออกแบบเบื้องต้นให้แล้วเสร็จตามกำหนด รวมทั้งรับไปพิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการและทางด้านการเงินที่เหมาะสมสำหรับโครงการนี้ ภายหลังจากดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้แล้วเสร็จ และนำเสนอ กพบ. และคณะรัฐมนตรีต่อไป

5.5 โครงการพัฒนาเส้นทางเมียวดี-กอกะเรก ระหว่างไทย-พม่า (30 กม.)

5.5.1 สาระสำคัญ

1) เรื่องเดิม เส้นทางเมียวะดี-กอกะเรก (ช่วงเขาตะนาวศรี) เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางเมียวดี-กอกะเรก-ปะอัน-ท่าตอน-ย่างกุ้ง เชื่อมโยงไทย-พม่าที่มีความสำคัญสูง และไทยได้ให้ความช่วยเหลือเป็นเงินให้เปล่าพัฒนา 18 กม. แรกจากชายแดนไทยถึงเชิงเขาตะนาวศรีแล้วเสร็จ และได้ประกาศจะให้การสนับสนุนในช่วงบนเขาตะนาวศรี-กอกะเรกแล้ว (ในสมัย นรม.ทักษิณ ชินวัตร และนรม.สมัคร สุนทรเวช) และกรมทางหลวงได้ออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2551 โดยเสนอให้ตัดเส้นทางแนวใหม่ วงเงิน 872 ล้านบาท ลดระยะทางจาก 40 กม. เหลือเพียง 30 กม.

2) ศักยภาพของโครงการ เส้นทางนี้เป็นเส้นทางตามแนว GMS-EWEC และเส้นทางหลักในกรอบ ACMECS และไทย-พม่า-อินเดีย และเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสั้นที่สุดเชื่อมโยงเมืองสำคัญของพม่า และสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนไทย เช่น Contract Farming แต่ยังมีอุปสรรคสำคัญ คือ มีลักษณะเป็นคอขวดในการเดินรถ และการอำนวยความสะดวกการผ่านแดน ณ ด่านเมียวดี-กอกะเรก ตามความตกลง CBTA ยังไม่สามารถลงนามและดำเนินการร่วมกันได้

มติที่ประชุม

1) เห็นชอบแนวทางการให้ความช่วยเหลือเป็นเงินให้เปล่าแก่รัฐบาลพม่าในการพัฒนาเส้นทางช่วงกิโลเมตรที่ 18 ข้ามเขาตะนาวศรีถึงเมืองกอกะเรก วงเงิน 872 ล้านบาท และมอบหมายกระทรวงคมนาคมให้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการจัดสรรงบประมาณต่อไป

2) มอบหมายกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และภาคเอกชนไทย เจรจากับรัฐบาลพม่าในการส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนไทย และมอบหมายกระทรวงคมนาคมเร่งดำเนินการเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามพรมแดนให้บรรลุผลต่อไป

5.6 การให้ความช่วยเหลือกัมพูชาเพื่อพัฒนาเส้นทางหมายเลข 68 (ช่องจอม-โอเสม็ด-สำโรง-กลอรันห์) 113 กม.

5.6.1 สาระสำคัญ

1) เรื่องเดิม ในปี 2548 กัมพูชาขอรับความช่วยเหลือเป็นเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนจากไทยในการพัฒนาเส้นทางถนนหมายเลข 68 พร้อมสะพาน 18 แห่ง และถนนเลี่ยงเมือง 3 จุด โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2551 เห็นชอบในหลักการให้ความช่วยเหลือแก่กัมพูชาในการพัฒนาเส้นทางหมายเลข 68 จำนวน 1,400 ล้านบาท ตามมติที่ประชุม กพบ. ครั้งที่ 1/2551 โดยให้ สพพ. รับไปศึกษา และเสนอเงื่อนไขเงินกู้ที่เหมาะสมนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป รวมทั้งให้มีการศึกษาทบทวนผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสังคม และแผนการใช้ประโยชน์จากเส้นทางร่วมกัน โดยใช้งบประมาณ 20 ล้านบาทจากวงเงินกู้ดังกล่าว ต่อมารัฐบาลไทยชะลอการให้ความช่วยเหลือเนื่องจากกรณีเขาพระวิหาร จนเหตุการณ์คลี่คลายและมีแนวโน้มดีขึ้น และได้รับแจ้งจากกระทรวงการต่างประเทศให้ดำเนินการต่อไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2552

2) ความก้าวหน้า สพพ. ขอรับจัดสรรงบประมาณปี 2552-2555 สำหรับโครงการนี้และได้รับเงินงบประมาณปี 2552 แล้ว 280 ล้านบาท และ สพพ. ได้จัดคณะเจรจาไปกัมพูชา ระหว่างวันที่ 25-26 กุมภาพันธ์ 2552 ได้ข้อสรุปว่า กัมพูชาขอเงื่อนไขทางการเงินเช่นเดียวกับเส้นทางหมายเลข 48 และ 67 แต่ขอให้ไทยสนับสนุนเงินให้เปล่า 20 ล้านบาทในการศึกษาฯ ซึ่งหากไทยยืนยันจะให้ใช้วงเงินการศึกษาจากวงเงิน 1400 ล้านบาทของเงินกู้ กัมพูชาอาจขอให้ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) สนับสนุนการศึกษาดังกล่าวแทน

มติที่ประชุม

รับทราบความก้าวหน้าผลการเจรจาของ สพพ. กับผู้แทนรัฐบาลกัมพูชา ในเรื่องการขอรับความช่วยเหลือการศึกษาผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งแผนการใช้ประโยชน์ของเส้นทางหมายเลข 68 จาก ADB ในลักษณะเงินให้เปล่า แทนการใช้วงเงินกู้จำนวน 1,400 ล้านบาทของไทย

เรื่องอื่นๆ

1) ประธานที่ประชุมมอบฝ่ายเลขานุการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำข้อมูลเพิ่มเติม ดังนี้

(1) การปรับปรุงข้อมูลการรับซื้อไฟฟ้าใน สปป. ลาว ให้เป็นปัจจุบัน (2) ความก้าวหน้าในเรื่องโรงไฟฟ้าสตึงนัม ในประเทศกัมพูชา (3) การเปิดจุดผ่านแดน ณ จังหวัดนครพนม

2) ที่ประชุมเห็นชอบตามข้อเสนอของฝ่ายเลขานุการ ในการเปลี่ยนสถานที่ประชุมระดับรัฐมนตรี 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 15 ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในระหว่างวันที่ 17-19 มิถุนายน 2552 จากจังหวัดเชียงใหม่เป็นที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 เมษายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ