คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการจ่าย “เช็คช่วยชาติ” ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ดังนี้
1. ตามมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2552 เห็นชอบให้มี “โครงการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและบุคลากรภาครัฐ” โดยคาดว่าจะมีลูกจ้างผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือจำนวน 2,000 บาท รวม 8,138,815 คน ต่อมาเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2552 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้จ่ายเงินช่วยเหลือตามโครงการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและบุคลากรภาครัฐ เป็น “เช็คช่วยชาติ” และให้ดำเนินการแจกจ่าย ระหว่างวันที่ 26 มีนาคม — 8 เมษายน 2552
2. ผลการจ่าย “เช็คช่วยชาติ” ช่วงวันที่ 26 มีนาคม — 5 เมษายน 2552 มีดังนี้
2.1 รับลงทะเบียน รวม 7,716,169 คน
2.2 ออก “เช็คช่วยชาติ” แล้ว 3 รอบ รวม 7,129,245 ฉบับ คือ
1) ตรวจสอบ รับรอง ยืนยันสิทธิ ออกเช็ค รอบที่ 1 รวม 5,547,436 คน (เช็คลงวันที่ 26 มีนาคม 2552)
2) ตรวจสอบ รับรอง ยืนยันสิทธิ ออกเช็ค รอบที่ 2 รวม 1,207,418 คน (เช็คลงวันที่ 31 มีนาคม 2552)
3) ตรวจสอบ รับรอง ยืนยันสิทธิ ออกเช็ค รอบที่ 3 รวม 374,391 คน (เช็คลงวันที่ 3 เมษายน 2552)
2.3 ส่วนที่เหลือ 586,924 คน แยกเป็น
1) ตรวจสอบ ยืนยัน การมีสิทธิ รอการออก “เช็คช่วยชาติ” 108,543 คน
2) ตัดสิทธิผู้ประกันตนที่เป็นบุคลากรภาครัฐ (รับเช็คจากส่วนราชการ) 8,598 คน
3) อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ยืนยันสิทธิ 469,783 คน
2.4 สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้รายงานผลการจ่าย “เช็คชวยชาติ” ดังนี้
1) ผู้ประกันตนรับ “เช็คช่วยชาติ” ไปแล้วทั่วประเทศ รวม 5,335,516 คน วงเงิน 10,671,032,000 บาท
2) จ่าย “เช็คช่วยชาติ” ณ ที่ว่าการอำเภอ รวม 658 อำเภอ
ทั้งนี้ การจ่าย “เช็คช่วยชาติ” ณ บริเวณลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ซึ่งดำเนินการระหว่างวันที่ 26 — 28 มีนาคม 2552 รวม 3 วัน มีผู้ประกันตนไปรับ “เช็คช่วยชาติ” รวม 80,906 คน
3. การจ่าย “เช็คช่วยชาติ” ในจังหวัด 75 จังหวัด ซึ่งมีจำนวนผู้ประกันตน รวม 5,042,820 คน ได้รับความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และนายจ้างเป็นอย่างดี มีปัญหาเพียงกรณีของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งบุคคลตามมาตรา 38 ยังไม่ถึงกำหนดได้รับ “เช็คช่วยชาติ” ไปชุมนุมกันเพื่อขอรับเช็ค ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ได้ชี้แจงทำความเข้าใจแล้ว สำหรับในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครซึ่งมีจำนวนผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับ “เช็คช่วยชาติ” รวม 2,086,425 คน ทุกคนต้องการได้รับ “เช็คช่วยชาติ”เร็วที่สุด ทำให้เกิดความแออัดในช่วงวันแรก (26 มีนาคม 2552) และช่วงเช้าของวันต่อๆ มา บางคนได้แสดงความไม่พอใจแต่เมื่อได้รับ “เช็คช่วยชาติ” แล้ว ก็แสดงความพึงพอใจ อนึ่ง จากการสุ่มสอบถามเจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งร่วมทำงานอยู่ในบริเวณใกล้เคียงจุดจ่าย “เช็คช่วยชาติ” พบว่าผู้ที่ได้รับ “เช็คช่วยชาติ” จะมาขอเปลี่ยนเป็นเงินสดทันทีประมาณร้อยละ 60 ของผู้ที่ได้รับ “เช็คช่วยชาติ”
4. แผนการดำเนินการเกี่ยวกับ “เช็คช่วยชาติ” ในระยะต่อไปมีดังนี้
4.1 ในระหว่างวันที่ 7 — 9 เมษายน 2552 จะดำเนินการจ่าย“เช็คช่วยชาติ”ณ สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือตามจุดนัดหมายเป็นการต่อเนื่อง
4.2 วันที่ 15 เมษายน 2552 จะเปิดทำการจ่าย “เช็คช่วยชาติ” ณ สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระหว่างเวลา 09.00 — 16.00 น.
4.3 ตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2522 เป็นต้นไปจะดำเนินการจ่าย “เช็คช่วยชาติ” ณ สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในวันและเวลาราชการ จนถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2552 เป็นวันสุดท้าย
4.4 การลงทะเบียนรับ “เช็คช่วยชาติ” กระทรวงแรงงานจะเปิดให้รับลงทะเบียนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน — 31 พฤษภาคม 2552 หลังจากนั้นจะปิดรับลงทะเบียน ผู้ประกันตนที่ไม่ไปยื่นแบบคำขอรับ “เช็คช่วยชาติ” ภายในกำหนดดังกล่าวจะถือว่าสละสิทธิการรับเงินช่วยเหลือตาม “โครงการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและบุคลากรภาครัฐ”
4.5 ผู้ประกันตนที่มายื่นแบบลงทะเบียนและผ่านการตรวจสอบรับรองยืนยัน สิทธิแล้ว กระทรวงแรงงานจะประสานขอความร่วมมือธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในการออก “เช็คช่วยชาติ” รอบที่ 4 (วันที่ 6 พฤษภาคม 2552) และรอบที่ 5 (วันที่ 15 มิถุนยายน 2552) ต่อไป
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 เมษายน 2552 --จบ--