เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (รชต.) ครั้งที่ 1/2552
และการดำเนินงานตามมติคณะกรรมการ รชต. ครั้งที่1/2552
คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ดังนี้
1. รับทราบและเห็นชอบมติคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2552 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ
2. เห็นชอบ(ร่าง)แผนการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2552 — 2555 โดยให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการบริหารราชการแผ่นดิน
3. ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่มีแผนงาน/โครงการ อยู่ในแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ บรรจุแผนงาน/โครงการดังกล่าว ไว้ในแผนปฏิบัติราชการและจัดทำคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 และปีงบประมาณต่อๆ ไป
4. ให้สำนักงบประมาณพิจารณาสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 และปีต่อๆ ไป สำหรับโครงการตามแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นกรณีพิเศษ
สาระสำคัญของเรื่อง
คณะกรรมการรัฐมนตรีพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (รชต.) ได้มีการประชุม ครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันพุธที่ 25 มีนาคม 2552 เวลา 15.00 น. ณ ห้องประชุมงบประมาณ 2 อาคารรัฐสภา 3 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ ได้รายงานผลการประชุมคณะกรรมการ รชต. ครั้งที่ 1/2552 และการดำเนินงานตามมติคณะกรรมการ รชต. ดังนี้
1. ผลการพิจารณาและมติคณะกรรมการ รชต. ครั้งที่ 1/2552
1.1 แนวทางการทำงานของคณะกรรมการ รชต. ที่ประชุมมีมติเห็นชอบดังนี้
(1) คณะกรรมการ รชต. จะจัดให้มีการประชุมทุก 2 เดือน เพื่อเร่งรัดติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน และพิจารณาประเด็นการแก้ไขปัญหาในกรณีเร่งด่วน เพื่อให้การพัฒนาและแก้ไขปัญหาในพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอบสนองนโยบายรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(2) วาระการประชุมหลัก จะประกอบด้วย (1) การติดตามสถานการณ์การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมทั้งสถานการณ์ที่เป็นปัญหาเร่งด่วนในแต่ละช่วงเวลา (2) รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2552 — 2555 และ (3) การพิจารณาประเด็นที่สมควรทบทวนและแก้ไข เพื่อให้สามารถดำเนินมาตรการและโครงการตามแผนการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2552 — 2555 ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด
(3) การพิจารณาวาระที่เกี่ยวข้องกับการให้ความเห็นชอบของคณะกรรมการ รชต. ที่มีข้อเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ เห็นชอบ หรือรับทราบแล้วแต่กรณี ให้ถือปฏิบัติว่ากระทรวงที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นๆ ได้ให้ความเห็นในที่ประชุมคณะกรรมการ รชต. แล้ว โดยไม่ต้องเวียนขอความเห็นจากรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงที่เป็นกรรมการในคณะกรรมการ รชต. อีก
(4) ให้ใช้ระเบียบวิธีปฏิบัติของการประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นระเบียบวิธีปฏิบัติของคณะกรรมการ รชต. โดยเฉพาะองค์ประกอบของผู้เข้าร่วมประชุม ในกรณีที่จำเป็นต้องส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุม ขอให้แจ้งฝ่ายเลขานุการฯ เพื่อขออนุญาตจากนายกรัฐมนตรีก่อน
1.2 (ร่าง) แผนการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2552 — 2555 ที่ประชุมได้พิจารณาร่างแผนการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2552 — 2555 ที่ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอ พร้อมทั้งมีความเห็นและมติที่ประชุม ดังนี้
(1) ที่ประชุมเห็นพ้องกับภาพรวมของแผนการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2552 — 2555 ประกอบด้วย 1) แนวคิดและหลักการ 2) กรอบนโยบาย 4 ประการ 3) แผนงานหลัก 6 แผนงาน และ 4) กรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินการระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2552 — 2555) รวม 73,553.13 ล้านบาท โดยไม่ได้รวมงบประมาณด้านกำลังพล ยุทโธปกรณ์ งบปฏิบัติการทหาร และเบี้ยยังชีพของ กอ.รมน. ซึ่งจะต้องอยู่ในการพิจารณางบประมาณตามระบบปกติของสำนักงบประมาณ
(2) ที่ประชุมได้ให้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เพื่อทบทวนรายละเอียดโครงการให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของแผนมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือ การปรับปรุงรายละเอียดโครงการต่างๆ ให้มีความชัดเจน ทั้งในด้านแหล่งเงิน รูปแบบการบริหารจัดการ และการจัดกลุ่มโครงการในแผนการอำนวยความเป็นธรรมและความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินที่มีลักษณะเป็นงานพัฒนา ควรนำไปบรรจุไว้ในแผนงานอื่นที่สอดรับกับวัตถุประสงค์ของแผน รวมทั้งการตรวจสอบความซ้ำซ้อนของงบประมาณโครงการ
(3) มติคณะกรรมการ รชต.
(3.1) เห็นชอบในหลักการ (ร่าง) แผนการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2552-2555 และกรอบวงเงินงบประมาณดำเนินการในช่วงปี 2552-2555 รวม 73,553.13 ล้านบาท ในจำนวนนี้เห็นชอบให้ของบกลาง รายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉิน ปี 2552 เพิ่มเติมจำนวน 138.45 ล้านบาท โดย
- มอบหมายฝ่ายเลขานุการฯ รับความเห็นที่ประชุม ไปปรับปรุงรายละเอียดแผนงานโครงการ และวงเงินงบประมาณให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และนำเสนอรองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติต่อไป
- มอบหมายให้สำนักงบประมาณ พิจารณาจัดสรรงบประมาณให้ กอ.รมน. ในส่วนงบประมาณด้านกำลังพล ยุทโธปกรณ์ งบปฏิบัติการทหาร และเบี้ยยังชีพ ซึ่งมิได้รวมอยู่ในแผนการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2552 — 2555 ภายใต้การพิจารณางบประมาณตามระบบปกติของสำนักงบประมาณ
(3.2) เห็นชอบในหลักการมาตรการพิเศษช่วยเหลือนักลงทุน ผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่ ภายใต้แผนการปรับปรุงกฎระเบียบและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ประกอบด้วย 1) มาตรการด้านภาษีและค่าธรรมเนียมการประกอบนิติกรรม 2) มาตรการด้านสินเชื่อ 3) มาตรการส่งเสริมการลงทุน 4) มาตรการด้านแรงงาน และ 5) มาตรการสร้างหลักประกันทางสังคม โดยมอบให้ฝ่ายเลขานุการฯ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการและนำเสนอคณะกรรมการ รชต. พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป
(3.3) เห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้คณะกรรมการ รชต. ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) เป็นประธาน รมช. มท. (นายถาวร เสนเนียม) เลขาธิการ สศช. ปลัดกระทรวง มท. ปลัดกระทรวง กษ. ปลัดกระทรวง ศธ. ปลัดกระทรวง สธ.ปลัดกระทรวง วธ. และ ผอ.สงป. เป็นอนุกรรมการ ผอ.ศอ.บต. เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ โดยเพิ่มองค์ประกอบอนุกรรมการจำนวน 3 ท่าน คือ ผู้บัญชาการกองทัพบก (รอง ผอ.รมน.) แม่ทัพกองทัพภาคที่ 4 (ผอ.รมน. ภาค 4) และผู้บัญชาการกองบัญชาการผสม พลเรือน ตำรวจ ทหาร (ผบ.พตท.)
ทั้งนี้ ให้คณะอนุกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นดังกล่าว ทำหน้าที่ชั่วคราว ควบคู่ไปกับการปรับปรุงแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยระบบบริหารเพื่อเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2551 ให้สอดรับกับกลไกการบริหารจัดการดังกล่าว โดยมอบให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้รับไปดำเนินการ และเสนอคณะกรรมการ รชต. พิจารณาโดยเร็วต่อไป
(3.4) เห็นชอบให้รัฐบาลกำกับดูแล หรือกำชับส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ให้โอนหรือเปลี่ยนแปลงรายการงบประมาณรายจ่ายไปดำเนินการในพื้นที่อื่น
1.3 ข้อเสนอนโยบายเร่งด่วนการพัฒนาการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้
(1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้นำเสนอนโยบายเร่งด่วนการพัฒนาการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อที่ประชุม ประกอบด้วย การจัดตั้งสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดและอำเภอ การจัดอัตราพนักงานราชการเพื่อปฏิบัติงานตามนโยบายเร่งด่วน และการอนุมัติงบประมาณเพื่อดำเนินการในปี 2552
(2) มติคณะกรรมการ รชต.
(2.1) เห็นชอบในหลักการการจัดตั้งสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการจัดตั้งสำนักงานการศึกษาเอกชนอำเภอใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา นราธิวาส ปัตตานี) รวมทั้ง 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (จะนะ นาทวี สะบ้าย้อย และเทพา) รวม 37 อำเภอ
(2.2) เห็นชอบให้จัดอัตราพนักงานราชการเพื่อปฏิบัติงานในนโยบายเร่งด่วนฯ ตามที่เสนอ โดยให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการขออนุมัติกรอบอัตราพนักงานราชการตามขั้นตอนต่อไป
(2.3) อนุมัติงบประมาณเพื่อดำเนินการจัดตั้งสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด และอำเภอในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้ ศอ.บต. รับผิดชอบงบประมาณสำหรับปีงบประมาณ 2552 และให้กระทรวงศึกษาธิการรับผิดชอบตั้งงบประมาณตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553 เป็นต้นไป
2. (ร่าง) แผนการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2552 — 2555 ในการปรับปรุงร่างแผนการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2552 — 2555 ตามมติคณะกรรมการ รชต. เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2552 ยังคงยึดกรอบนโยบายที่ รชต. ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว โดยฝ่ายเลขานุการร่วมกับสำนักงบประมาณและ กอ.รมน. ได้พิจารณาปรับปรุงรายละเอียดแผนงาน โครงการ และวงเงินงบประมาณในแผนฯ สรุปสาระสำคัญของแผนที่ปรับปรุงแล้ว ดังนี้
2.1 กรอบนโยบายการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้
(1) แนวคิดและหลักการ ยึดหลักคิดและแนวปฏิบัติของ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” “วิถีมุสลิม” และแนวพระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ที่มี “ประชาชนเป็นตัวตั้ง” และพัฒนาเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนให้สามารถ “พึ่งตนเองได้” ควบคู่ไปกับการยึดมั่น “แนวทางสันติวิธี” ในการจัดการความขัดแย้งและสร้างความสมานฉันท์ และการสร้าง “ความเป็นธรรมและกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน” พร้อมทั้ง “บูรณาการการพัฒนาทุกมิติ” ทั้งด้านสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมืองและความมั่นคงให้เกิดเอกภาพในการดำเนินการเชิงรุก
(2) เป้าประสงค์ 4 ประการ คือ 1) ประชาชนและชุมชนมีฐานะทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีตามหลักการความพอเพียง สามารถพึ่งตนเองและดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี 2) มีความเชื่อมั่นศรัทธาและไว้วางใจในรัฐและในกระบวนการยุติธรรม ที่ยึดหลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชน และการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน 3) ได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพและสังคมมีความสมานฉันท์ บนพื้นฐานความหลากหลายของศาสนา วัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะ และ 4) ฐานเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่งบนพื้นฐานศักยภาพและอัตลักษณ์วัฒนธรรมของพื้นที่ และโอกาสการพัฒนาสู่ตลาดโลก
(3) นโยบายการพัฒนา ให้ความสำคัญกับ 1) การยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับหมู่บ้าน/ชุมชน 2) การเสริมสร้างความศรัทธาเชื่อมั่นต่อรัฐในการอำนวยความเป็นธรรมตามหลักนิติธรรมและรักษาความมั่นคงปลอดภัยตามหลักสิทธิมนุษยชน 3) การพัฒนาคุณภาพคน พหุวัฒนธรรมและยกระดับมาตรฐานบริการสังคม และ 4) การฟื้นฟูเศรษฐกิจและการลงทุน และพัฒนาความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านและนานาชาติ
2.2 ร่างแผนการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2552-2555 ได้วางหลักการกลไกบริหารจัดการ เป้าหมายของแผน พร้อมทั้งแผนหลัก 6 แผนงาน ไว้ดังนี้
(1) หลักการ : ยึดกรอบนโยบายการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้ความสำคัญลำดับแรกกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนและแก้ไขปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ขณะเดียวกันให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงการพัฒนาจากพื้นที่ที่มีระดับการพัฒนาสูงกว่า (สงขลา) ให้กระจายผลสู่พื้นที่ที่มีระดับการพัฒนาต่ำกว่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(2) กลไกการบริหารจัดการ : กำหนดโครงสร้างกลไกการบริหารจัดการเป็น 2 ระดับ คือ คณะกรรมการ รชต. เป็นกลไกกำหนดนโยบาย กำกับอำนวยการ บูรณาการแผนและงบประมาณ และจัดระบบบริหารจัดการการดำเนินการในทุกมิติอย่างเป็นเอกภาพ ให้บรรลุผลสำเร็จตามนโยบายรัฐบาลและแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2552 — 2555 และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นกลไกประสานการปฏิบัติภายใต้คณะกรรมการ รชต. ทำหน้าที่ประสาน เร่งรัด และติดตามผลการดำเนินการพัฒนาของหน่วยงานให้เป็นไปตามแผนการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2552 — 2555
(3) เป้าหมายส่วนรวม
(3.1) เป้าหมายด้านเศรษฐกิจ
รายได้ กำหนดให้ 1) ยกระดับรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยจาก 64,000 บาท/ปี ในปัจจุบัน เป็นไม่ต่ำกว่า 120,000 บาท/ปี ซึ่งเท่ากับระดับรายได้ค่าจ้างขั้นต่ำที่ครัวเรือนจะได้รับ และ 2) เพิ่มมูลค่าการผลิตภาคการเกษตรประมาณปีละ 10,600 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 8 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์การเกษตรของพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี 2555 โดยพัฒนาเกษตรแบบครบวงจรที่สำคัญ คือ
- เพิ่มพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน 214,755 ไร่ เกษตรกรเข้าร่วมโครงการไม่ต่ำกว่า 20,000 ราย มีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบและโรงงานผลิตไบโอดีเซลเพื่อแปรรูปอย่างครบวงจรในพื้นที่
- เพิ่มพื้นที่นาจากนาร้าง 85,000 ไร่ เกษตรกรเข้าร่วมโครงการไม่ต่ำกว่า 12,500 ราย
- เพิ่มปริมาณแพะเนื้อป้อนโรงฆ่าสัตว์และโรงงานผลิตอาหารฮาลาล 300,000 ตัว ในปี 2555 มีโรงฆ่าสัตว์และโรงผลิตอาหารฮาลาลจากแพะอย่างครบวงจรในพื้นที่การมีงานทำ กำหนดให้ 1) เพิ่มการมีงานทำในพื้นที่อีกไม่ต่ำกว่า 120,000
(3.2) เป้าหมายด้านสังคม
- การพัฒนาคุณภาพคน ให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดน และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้รับการพัฒนาในทุกมิติของตัวคน ทั้งด้านสติปัญญา ทักษะความสามารถ และการมีสุขภาวะที่ดี สามารถดำรงชีวิตและประกอบอาชีพได้อย่างเต็มศักยภาพและปกติสุข บนพื้นฐานความหลากหลายทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน
- การยกระดับคุณภาพชีวิต กำหนดให้ 1) ประชาชนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงขึ้นไม่ต่ำกว่า 100,000 ครัวเรือน ซึ่งจะทำให้ครัวเรือนทั้งหมดมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงภายในปี 2555 และแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินแก่ประชาชนที่ไม่มีความมั่นคงในสิทธิในที่ดิน 50 พื้นที่ ในปี 2555 2) ระบบประปาหมู่บ้านและน้ำบาดาลได้รับการก่อสร้าง/ปรับปรุงเพิ่มขึ้น 202 แห่ง ทำให้ครัวเรือนทั้งหมดมีน้ำสะอาดสำหรับดื่มและใช้อย่างเพียงพอภายในปี 2555 และ 3) ถนนในระดับหมู่บ้านและตำบลได้รับการปรับปรุงมาตรฐานเป็นถนนปลอดฝุ่น รวม 60 สายทางภายในปี 2555
- การรักษาความมั่นคงปลอดภัย ให้ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและ ทรัพย์สินและปลอดยาเสพติด สามารถดำรงชีวิตและประกอบอาชีพได้อย่างปกติสุข ได้รับสิทธิพื้นฐานตามกฎหมายอย่างทัดเทียมและเป็นธรรม มีความเชื่อถือศรัทธาและไว้วางใจในอำนาจรัฐ
(4) แผนงานหลักและกรอบงบประมาณดำเนินการ ในการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นไปตามนโยบายและเป้าหมายดังกล่าว ได้กำหนดแผนงานหลักขึ้น 6 แผน ซึ่งได้พิจารณาปรับปรุงรายละเอียดแผนงาน โครงการ และวงเงินงบประมาณตามมติ รชต. เมื่อ 25 มี.ค. 2552 ดังนี้
(4.1) จัดกลุ่มและปรับเปลี่ยนโครงการให้สอดรับกับวัตถุประสงค์ของแผนงานหลัก
1) ปรับย้ายโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับหมู่บ้าน (พนม) โครงการทำดีมีอาชีพ โครงการสร้างงานและสร้างงานเร่งด่วนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา และโครงการขยายการแนะแนวอาชีพให้แก่เยาวชนในพื้นที่ยากจน ไปบรรจุไว้ในแผนการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตประชาชนในระดับหมู่บ้าน
2) ปรับเปลี่ยนโครงการซ่อมสร้างที่อยู่อาศัยในหมู่บ้าน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสำนักงานกองทุนหมู่บ้าน เป็นโครงการแก้ปัญหาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินโดยชุมชนท้องถิ่น โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ซึ่งได้ขยายกิจกรรมครอบคลุมการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้แก่ประชาชนในเขตอุทยานแห่งชาติ และโครงการส่งเสริมผู้ประกอบอาชีพให้บริการสาธารณะ โดยธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) เป็นโดยธนาคารอิสลาม พร้อมทั้งยกเลิกโครงการส่งเสริมและสนับสนุนบุคลากร ผู้เรียน สถานศึกษาเอกชนที่ซ้ำซ้อนกับงบประมาณที่ได้รับแล้ว
(4.2) จัดลำดับความสำคัญของโครงการ โดยจำแนกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มโครงการที่ควรดำเนินการเป็นลำดับแรก และกลุ่มโครงการลำดับรองที่ควรได้รับการพิจารณาตามระบบปกติของสำนักงบประมาณ ซึ่งมีหลักเกณฑ์การพิจารณา ดังนี้ 1) ตอบสนองต่อนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาล 2) ตอบสนองต่อวัตถุประสงค์และเป้าหมายของแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยต้องเป็นการแก้ไขปัญหาสำคัญเร่งด่วนของพื้นที่ และมีผลลัพธ์ที่ชัดเจน 3) เกิดประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรงและส่งผลโดยเร็ว และมีผู้รับประโยชน์ในจำนวนมาก 4) มีความพร้อมดำเนินการในทุกด้าน และสามารถดำเนินการได้ทันทีเมื่อเริ่มปีงบประมาณ 5) ต้องเป็นภารกิจของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ
(4.3) ผลการพิจารณา โดยสรุป มีแผนงานโครงการที่มีความสำคัญเป็นลำดับแรก รวม 53 แผนงาน 449 โครงการ และมาตรการ 15 เรื่อง กรอบวงเงินงบประมาณ ระยะ 4 ปี (2552 — 2555) รวม 60,451.28 ล้านบาท เป็นวงเงินงบประมาณ ปีงบประมาณ 2552 ที่ได้รับจัดสรรแล้ว 8,442.23 ล้านบาท สำหรับวงเงินที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณ 2552 — 2555 รวม 51,951.77 ล้านบาท ประกอบด้วย วงเงินงบประมาณจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉิน ปี 2552 จำนวน 138.45 ล้านบาท วงเงินงบประมาณ ปีงบประมาณ 2553 จำนวน 17,114.10 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2554 จำนวน 18,001.64 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2555 จำนวน 16,697.58 ล้านบาท โดยมีสาระสำคัญของแผนงานหลัก ดังนี้
1) แผนการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนในระดับหมู่บ้าน
- มุ่งเพิ่มรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยจาก 64,000 บาท/ปี ในปัจจุบันเป็นไม่ต่ำกว่า 120,000 บาท/ปี ในปี 2555 โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายดำเนินการ คือ 1) ในปี 2552 - 2553 ให้เร่งรัดดำเนินการในหมู่บ้านเป้าหมายเร่งด่วน 696 หมู่บ้าน/ชุมชน ที่มีระดับรายได้ต่ำและอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ประกอบด้วยหมู่บ้านยากจน 329 หมู่บ้าน ประมงพื้นบ้าน 150 หมู่บ้าน และหมู่บ้านเสริมสร้างสันติสุข 217 หมู่บ้าน และอีก 205 หมู่บ้าน/ชุมชนบริเวณใกล้เคียงเพื่อเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น และ 2) ในปี 2554-2555 ดำเนินการปีละ 1,000 หมู่บ้านให้ครอบคลุมหมู่บ้านทั้งหมด 2,901 หมู่บ้านในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้
- กลยุทธ์ที่สำคัญ 4 กลยุทธ์ คือ 1) การฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพการเกษตรแบบครบวงจร 2) การเสริมสร้างทักษะอาชีพ สร้างงาน และสร้างรายได้แก่กลุ่มคนยากจน 3) การพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และ 4) การเสริมสร้างเครือข่ายชุมชนเข้มแข็งเพื่อพึ่งตนเองและพึ่งพากันในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของชุมชน ซึ่งประกอบด้วย 8 แผนงานย่อย รวม 53 โครงการ วงเงินที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณ ปีงบประมาณ 2552 — 2555 รวม 23,165.77 ล้านบาท
2) แผนการอำนวยความเป็นธรรมและความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน ประกอบด้วย 3 กลยุทธ์ คือ 1) การพัฒนางานยุติธรรมและประสิทธิภาพการเยียวยา 2) การปรับความคิด ความเชื่อ และการจัดการความขัดแย้งตามแนวทางสันติวิธี และ 3) การรักษาความสงบ คุ้มครองความปลอดภัยและแก้ไขปัญหายาเสพติด จำนวน 16 แผนงาน รวม 203 โครงการ วงเงินที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณ ปีงบประมาณ 2552 — 2555 รวม 13,035.55 ล้านบาท
3) แผนพัฒนาคุณภาพคน พหุวัฒนธรรมและมาตรฐานบริการสังคม ประกอบด้วย 3 กลยุทธ์ คือ 1) การพัฒนาคุณภาพและศักยภาพคน 2) การส่งเสริมพหุวัฒนธรรมและความสมานฉันท์ในสังคม และ 3) การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข จำแนกเป็น 8 แผนงานย่อย รวม 80 โครงการ วงเงินงบประมาณ ปีงบประมาณ 2553 — 2555 รวม 7,475.14 ล้านบาท
4) แผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการลงทุน ประกอบด้วย 2 กลยุทธ์ คือ 1) การพัฒนาการเกษตรและการแปรรูป และ 2) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ฮาลาล จำแนกเป็น 10 แผนงานย่อย รวม 29 โครงการ วงเงินที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณ ปีงบประมาณ 2552 — 2555 รวม 5,616.97 ล้านบาท
5) แผนการพัฒนาความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบด้วย 3 กลยุทธ์ คือ 1) การพัฒนาการค้าชายแดนและด่านชายแดนไทย-มาเลเซียให้มีประสิทธิภาพ 2) การพัฒนาโครงข่ายการขนส่งและเพิ่มการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐาน และ 3) การพัฒนาสะพานเศรษฐกิจสตูล-สงขลา จำแนกเป็น 8 แผนงานย่อย รวม 82 โครงการ วงเงินที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณ ปีงบประมาณ 2553 — 2555 รวม 1,083.32 ล้านบาท
6) แผนการปรับปรุงกฎระเบียบและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ประกอบด้วยมาตรการที่สำคัญ คือ 1) มาตรการพิเศษเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนจูงใจนักลงทุน 2) การปรับปรุงกฎระเบียบการบริหารจัดการของภาครัฐ และ 3) การจัดระบบบูรณาการการดำเนินการของหน่วยงานทุกฝ่ายในพื้นที่ จำแนกเป็น 3 แผนงานย่อย รวมมาตรการ 15 เรื่อง และ 2 โครงการ วงเงินที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณ ปีงบประมาณ 2553 — 2555 รวม 1,575.00 ล้านบาท
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 เมษายน 2552 --จบ--