คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และการป้องกันไฟป่า และข้อเสนอในการจัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ และเห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาให้การสนับสนุนการดำเนินงานในการป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และการป้องกันไฟป่าของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนการขอรับการสนับสนุนงบประมาณเห็นควรให้พิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 ไปดำเนินการในโอกาสแรกก่อน และเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นต่อไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (18 ธันวาคม 2550) โดย รายงานผลการดำเนินงานตามแผนดังกล่าวสรุปได้ ดังนี้
1. สถานการณ์
1.1 การบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2552 พบการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้รายใหญ่ในพื้นที่ (1) ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าห้วยสักใหญ่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (2) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเสด็จในกรม กรมหลวงชุมพรด้านทิศเหนือ (3) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น ป่าสงวนแห่งชาติป่าท่าสองยาง ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ระมาด อำเภอท่าสองยาง อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก (4) ป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนวัง แปลงที่ 1 แปลงที่ 2 และแปลงที่ 3 อำเภอวังเหนือ และป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่สุก อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ประกอบกับจากสถิติการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ในรอบปี 2551 ที่ผ่านมา มีผลคดีรายใหญ่และคดีรายย่อย รวม 8,776 คดี พื้นที่ป่าถูก บุกรุก 59,425 ไร่ ไม้ของกลางที่ยึดได้ 19,698 ลูกบาศก์เมตร มูลค่าความเสียหาย 1,540 ล้านบาท รวมทั้งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีมูลค่าอันไม่สามารถประเมินได้ นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อเนื่อง ทำให้เกิดการชะล้างพังทลายของดินและภัยพิบัติทางธรรมชาตินานัปการ
1.2 ไฟป่า สถิติการเกิดไฟไหม้ป่าในช่วงวันที่ 1 ตุลาคม 2551-17 กุมภาพันธ์ 2552 ความถี่ทั้งหมด 890 ครั้งทั่วประเทศ พื้นที่เสียหาย 13,305 ไร่ และจากการคาดการณ์สภาพอุตุนิยมวิทยาในภูมิภาคพบว่าในปี 2552 อิทธิพลของปรากฏการณ์ลานิญญ่าจะอ่อนกำลังลงและเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่สภาวะปกติ ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนต่ำ ตามสภาพปกติของฤดูแล้งในภาคเหนือรวมถึงผลการสำรวจปริมาณเชื้อเพลิงสะสมในป่าเบญจพรรณจะมีปริมาณมากขึ้นถึงร้อยละ 47 จึงน่าจะเป็นเหตุให้สถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันในช่วงปี 2552 มีแนวโน้มเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงได้มีมาตรการ/กิจกรรมเพื่อป้องกันการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และการป้องกันไฟป่า
2. การดำเนินงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สรุปได้ ดังนี้
2.1 จัดตั้งศูนย์ป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ (ศปท.)
2.2 จัดกิจกรรมรณรงค์ “90 วัน รวมพลัง หยุดเผา บรรเทาโลกร้อน”
2.3 ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 6 หน่วยงาน ได้แก่ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้
2.4 จัดตั้งกองลูกเสืออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยประสานกับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อสนับสนุนงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศเป็นพื้นที่ฝึกอบรม
3. ข้อจำกัดในการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ (1) สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อนยากแก่การเข้าถึง(2) พื้นที่ป่ามีขอบเขตที่ไม่ชัดเจนและยังมีราษฎรอยู่อาศัยทำกินกระจายตัวอยู่ทั้งในพื้นที่ป่าและรอบบริเวณ พื้นที่ป่าเป็นจำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลได้เคยมีนโยบายในการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 แต่ก็ดำเนินการไปได้ช้า เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องของอุปกรณ์เครื่องมือ และเทคโนโลยีที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินงานกันเขตป่าให้ชัดเจน ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการตรวจตราเฝ้าระวังของเจ้าหน้าที่อาจไม่สามารถดูแลรักษาป่าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ (3) กำลังเจ้าหน้าที่ ยานพาหนะ อาวุธ และอุปกรณ์สื่อสารที่มีอยู่ในปัจจุบันมีไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องใช้อากาศยานและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาสนับสนุนการปฏิบัติงาน
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 เมษายน 2552 --จบ--