การขอรับการสนับสนุนงบประมาณปี 2552 (งบกลาง) เพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ปี 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 10, 2009 14:51 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการและแนวทางการดำเนินงานแก้ไขและบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ประจำปี 2552 และแผนงาน/กิจกรรมตามมาตรการและแนวทางที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ และเห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาให้การสนับสนุนการดำเนินงานตามมาตรการและแนวทางการดำเนินงานแก้ไขและบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ประจำปี 2552 ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการดำเนินงานรายการที่ได้รับจัดสรรงบประมาณให้แล้วเสร็จตามวัตถุประสงค์ในการตั้งงบประมาณ รวมทั้งพิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 มาดำเนินการโครงการตามลำดับความสำคัญเร่งด่วนก่อน ส่วนการขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 งบกลาง จำนวน 1,846.7092 ล้านบาท นั้น ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนำเสนอมาตรการและแนวทางการดำเนินงานแก้ไขและบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ประจำปี 2552 และการขอรับการสนับสนุนงบประมาณดังกล่าว และให้คณะกรรมการอำนวยการกำกับติดตามและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง (คปล.) พิจารณาตามหลักเกณฑ์ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติต่อไป

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานว่า

1. กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ลักษณะภูมิอากาศช่วงฤดูร้อนประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2552 โดยเฉพาะสภาวะแห้งแล้งว่า จะมีฝนประมาณไม่มากนักทำให้หลายพื้นที่เกิดความแห้งแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซากในบริเวณประเทศไทยตอนบน โดยจะประสบกับการขาดแคลนน้ำ ทั้งทางด้านอุปโภค บริโภคและการเกษตรกรรม โดยปัจจุบันกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้รายงานแล้วว่า ขณะนี้เกิดสถานการณ์ภัยแล้ง รวม 19 จังหวัด ซึ่งคาดว่าสถานการณ์ภัยแล้งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรเสียหายจำนวน 58,799 ไร่ อีกทั้งกรมทรัพยากรน้ำได้คาดการณ์ล่วงหน้า 1 สัปดาห์ต่อไปว่าจะมีพื้นที่ประสบภัยแล้งเพิ่มขึ้นเป็น 35 จังหวัด และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป นอกจากนี้ สภาวะความแห้งแล้งซึ่งมีลักษณะอากาศแห้งจะเอื้อต่อการเกิดอัคคีภัยและไฟป่าได้ง่ายด้วย

2. ภาพรวมของปริมาณน้ำในเขื่อนทั่วประเทศมีปริมาณทั้งสิ้น 49,590 ล้านลูกบาศก์เมตร (ร้อยละ 71 ของปริมาณเก็บกักทั้งหมด) ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1,036 ล้านลูกบาศก์เมตร และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วมีปริมาณน้อยกว่า 1,809 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ เขื่อนที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์สูง (มีปริมาณน้ำเก็บกักเกินร้อยละ 80 ของปริมาณเก็บกัก) ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 10 เขื่อนนั้น ในจำนวนนี้มี 2 เขื่อนที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ต่ำ (ปริมาณน้ำเก็บกักไม่เกินร้อยละ 30 ของปริมาณเก็บกัก) คือ เขื่อนแม่งัด และเขื่อนแควน้อย สำหรับสภาพน้ำในแม่น้ำขณะนี้ระดับในแม่น้ำต่างๆ โดยทั่วไปอยู่ในเกณฑ์น้อยถึงน้อยวิกฤติ ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน่านอยู่ในเกณฑ์ปกติถึงน้อยวิกฤติ สำหรับแม่น้ำบางปะกงจากสถานีตรวจวัดของกรมทรัพยากรน้ำพบว่า ตั้งแต่ตอนบนของแม่น้ำบางขนากจนถึงปากแม่น้ำที่ท่าข้ามมีค่าความวามเค็มสูง

3. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินการเพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาภัยแล้งโดยมีผลการดำเนินงานสำคัญในปี 2551 — 2552 ดังนี้

3.1 การปรับปรุง ฟื้นฟู และพัฒนาแหล่งน้ำ โดยการปรับปรุง ฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งน้ำ การขุดลอกแหล่งน้ำธรรมชาติ การปรับปรุงระบบส่งน้ำ การปรับปรุงสิ่งก่อสร้างด้านแหล่งน้ำ และขณะนี้อยู่ระหว่างการเร่งรัดจัดทำทะเบียนแหล่งน้ำขนาดเล็กนอกเขตชลประทาน ทั้งลำน้ำธรรมชาติ คู คลอง หนอง และบึง เพื่อดำเนินการฟื้นฟู ขุดลอกปรับปรุงภูมิทัศน์ และจัดทำระบบกระจายน้ำ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาภัยแล้งซ้ำซากและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน

3.2 การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยการบริการจัดการองค์กรลุ่มน้ำ 25 ลุ่มน้ำหลักการบริหารจัดการและพัฒนาลุ่มน้ำบางปะกง /ลุ่มน้ำท่าจีน แบบบูรณาการการเตรียมความพร้อมโครงการผันน้ำน้ำงึม - ห้วยหลวง- หนองหาน - กุมภวาปี - ลำปาว — แม่น้ำชี การตั้งศูนย์ปฏิบัติการและข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้า การพัฒนาและปรับปรุงระบบฐานข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรน้ำบาดาล และการติดตามสถานการณ์น้ำบาดาลทั้งปริมาณและคุณภาพจากเครือข่ายบ่อสังเกตการณ์ การประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ การถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาซ่อมแซมบำรุงรักษาบ่อน้ำบาดาลและระบบประปาชนบทให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การซ่อมแซมเครื่องสูบน้ำ และการพัฒนาเป่าล้างบ่อบาดาล

3.3 การจัดหาและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล โดยการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อสนับสนุนน้ำดื่มสะอาดให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ และเป็นแหล่งน้ำเสริมสำหรับการเกษตร การแก้ไขปัญหาวิกฤติหมู่บ้านภัยแล้งโดยเจาะบ่อบาดาลในพื้นที่หมู่บ้านภัยแล้ง การประเมินศักยภาพการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และการแจกจ่ายน้ำดื่มตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลกแบบบรรจุขวดจากรถปรับปรุงคุณภาพน้ำบาดาลเคลื่อนที่

3.4 การสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาลขั้นรายละเอียด โดยการสำรวจและจัดทำแผนที่น้ำบาดาลมาตรา 1: 50,000 การสำรวจธรณีฟิสิกส์หมู่บ้านภัยแล้งทั่วประเทศและการสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล นอกจากนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังได้ให้ความสำคัญกับการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมการรับมือสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2552 ด้วย

4. ปัจจุบันสถานการณ์ภัยแล้งได้ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และจากการคาดการณ์มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป รวมทั้งระดับน้ำในเขื่อนและแม่น้ำต่าง ๆ โดยทั่วไปอยู่ในเกณฑ์น้อยถึงน้อยวิกฤติ ทำให้ประสบปัญหาภาวะการขาดแคลนน้ำ ทั้งทางด้านอุปโภค บริโภคและการเกษตรกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงได้เร่งรัดดำเนินการแก้ไขและบรรเทาปัญหาภัยแล้งมาอย่างต่อเนื่อง แต่มีข้อจำกัดการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ อุปกรณ์เพิ่มประสิทธิภาพการบริการจัดการทรัพยากรน้ำ ได้แก่ เครื่องสูบน้ำสำหรับจ่ายน้ำให้พื้นที่ประสบภัย และเครื่องผลิตน้ำดื่มประเภทรถปรับปรุงคุณภาพน้ำดื่มพร้อมระบบตรวจสอบคุณภาพแบบเคลื่อนที่ มีไม่เพียงพอกับความต้องการ การชำรุด รั่วซึม หรือแตกร้าวของแหล่งกักเก็บน้ำ ทำให้ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ รวมทั้งงบประมาณปกติที่ได้รับไม่เพียงพอต่อการดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2552 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและ พันธุ์พืช และกรมป่าไม้ จึงได้เตรียมการโดยได้จัดทำมาตรการและแนวทางการดำเนินการแก้ไขและบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ประจำปี 2552 และแผนงาน/กิจกรรมตามมาตรการและแนวทางดังกล่าว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 เมษายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ