รายงานผลการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีของรองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 10, 2009 15:04 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานผลการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีของรองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) โดยได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้รับผิดชอบการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในพื้นที่เขตตรวจราชการที่ 1 (จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และสระบุรี) ได้เดินทางไปกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันเสาร์ที่ 14 มีนาคม 2552 โดยได้ประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ณ วิทยาลัยการปกครอง อำเภอธัญบุรี พร้อมทั้งพบปะเยี่ยมเยียนประชาชนในพื้นที่ โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1. การดำเนินงานตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล

1.1 การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

สถานการณ์ยาเสพติดในภาพรวมของจังหวัดไม่มีแหล่งผลิต และไม่มีผู้ค้ารายใหญ่ มีแต่ผู้ค้ารายย่อย การแพร่ระบาดกระจายอยู่ในทุกอำเภอทั้งในด้านการค้า การเสพ และแหล่งพักยาเนื่องจากสามารถนำเข้าในพื้นที่ได้ทุกทาง ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้ามาโดยแรงงานต่างด้าว แหล่งซื้อขายยาเสพติดที่สำคัญได้แก่ตลาดกลางเพื่อการเกษตร(ตลาดไท)และตลาดสี่มุมเมือง เนื่องจากมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก

จังหวัดฯ ได้ดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ดังนี้

  • มาตรการป้องกัน โดยเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน จัดตั้งแกนนำอาสาสมัครของทุกชุมชนเพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดยาเสพติดและควบคุมสถานบริการและแหล่งมั่วสุมเยาวชน
  • มาตรการปราบปราม โดยมีการปฏิบัติการ 90 วันพ้นภัยยาเสพติดเช่นการจัดตั้งจุดตรวจ จุดสกัด และปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย มีการสืบสวนสอบสวนขยายผลจากผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ ดำเนินการด้านการข่าว โดยจัดตั้งแหล่งข่าวในทุกชุมชนเพื่อเป็นข้อมูลแก้ปัญหาในพื้นที่
  • มาตรการบำบัดรักษา โดยค้นหาผู้เสพ ผู้ติดในชุมชนมาบำบัดรักษาซึ่งปรากฏว่ามีผู้บำบัดรักษาในระบบสมัครใจ 401 ราย ระบบบังคับบำบัด 188 ราย และระบบต้องโทษ 167 ราย โดยมีสถานที่บำบัด คือ มัสยิดลำสนุ่น ค่ายต.ช.ด. ภาค 1 ค่ายรักปทุม สถาบันธัญญารักษ์ และศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดปทุมธานี(ระบบต้องโทษ) ทั้งนี้หลังจากบำบัดรักษาแล้ว ได้มีการบันทึกข้อตกลงระหว่างจังหวัดฯกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)เพื่อให้อปท.มารับตัวไปดูแล ส่งเสริมอาชีพตามความถนัดเพื่อไม่ให้กลับไปเสพใหม่

1.2 การสร้างความสมานฉันท์และความปรองดองของคนในชาติ

จังหวัดฯได้ดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ดังนี้

  • จัดทำโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม เช่น โครงการเมืองปทุมคลองสวยน้ำใสเฉลิมพระเกียรติฯโครงการปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกี่ยรติฯ และโครงการกีฬาเฉลิมพระเกียรติฯ
  • การขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เช่น โครงการสระเก็บน้ำพระราม 9 ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง ซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเพาะเลี้ยงพันธุ์สัตว์น้ำ โครงการศูนย์บริหารวิชาการของมูลนิธิชัยพัฒนา อำเภอลำลูกกาโดยส่งเสริมให้เกษตรกรเข้ารับการอบรมความรู้เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่และเศรษฐกิจพอเพียง
  • การปลุกพลังสร้างจิตสำนึกความจงรักภักดีและความสมานฉันท์ โดยฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้าน การออกหน่วยจังหวัด/อำเภอเคลื่อนที่ โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อให้บริการเชิงรุกและทำความเข้าใจกับประชาชนในปัญหาต่างๆเพื่อลดความขัดแย้งของสังคม รวมทั้งการสร้างความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว/ชุมชนด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางศาสนา

1.3 การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ

จังหวัดได้ดำเนินการตามมาตรการและแนวทางการเร่งรัดติดตามการใช้จ่ายงบประมาณ ปี2552 ซึ่งกำหนดเป้าหมายการเบิกจ่ายภาพรวมร้อยละ 94 โดยแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายเงินงบประมาณ ปี 2552 เพื่อกระตุ้นเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งผลการเบิกจ่ายงบประมาณของจังหวัดฯปี 2552(ตุลาคม 2551 — กุมภาพันธ์ 2552) สรุปได้ คือ จังหวัดได้รับการจัดสรรเงินงวด 5,487.49 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 2,800.026 บาท(ทั้งงบดำเนินการและงบลงทุน) คิดเป็นร้อยละ 51.02

1.4 การขึ้นทะเบียนและเตรียมการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

จังหวัดได้ให้อปท.ดำเนินการรับลงทะเบียนผู้สูงอายุในระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์ — 15 มีนาคม 2552 ตามแนวทางที่กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด โดยตั้งจุดลงทะเบียนที่เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล ผลการดำเนินการพบว่า จำนวนผู้สูงอายุของจังหวัดปทุมธานีในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ มีจำนวน 91,196 คน เป็นผู้สูงอายุที่รับเบี้ยยังชีพกับอปท. แล้ว 27,146 คน ยังคงเหลือผู้สูงอายุที่มีสิทธิที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามนโยบายรัฐบาล 64,050 คน ซึ่งปรากฏว่ามีผู้สูงอายุมาแสดงความจำนงขอรับเบี้ยยังชีพ ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ — 11 มีนาคม 2552 จำนวน 32,372 คน คิดเป็นร้อยละ 51

1.5 การแก้ไขปัญหาการเลิกจ้างแรงงาน

จังหวัดปทุมธานี มีสถานประกอบการทั้งสิ้น 10,960 แห่ง ลูกจ้างจำนวน 415,894 คน มีสถานประกอบการที่ไดรับผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยปิดกิจการ 4 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้างทั้งหมด 15,747 คนโดยส่วนใหญ่จะเป็นกิจการประเภทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และรับเหมาค่าแรงในกิจการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้า โดยจังหวัดฯได้มีมาตรการและแผนงานรองรับเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโดยการบูรณาการเบ็ดเสร็จในรูปแบบปทุมธานีโมเดล ภายใต้การดำเนินงานของทุกส่วนราชการรวมทั้งภาครัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนเพื่อช่วยเหลือผู้ไดรับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ เช่น จัดหาตำแหน่งงานว่างรองรับผู้ถูกเลิกจ้าง การจัดนัดพบแรงงาน การฝึกอาชีพแรงงาน การดูแลสิทธิประโยชน์โดยให้มีการจ่ายเงินชดเชยและเงินประโยชน์ทดแทนต่างๆ เป็นต้น

1.6 การช่วยเหลือค่าครองชีพแก่ผู้ประกันตนที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท

จังหวัดปทุมธานีได้ตรวจสอบการนำส่งเงินสมทบของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดพบว่ามีผู้ประกันตนที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทจำนวน 397,951 ราย และได้ยื่นคำขอรับเงินตามโครงการแล้วเสร็จร้อยละ 95 โดยคาดว่าจะเริ่มจ่ายเงินที่จ่ายผ่านเช็คช่วยชาติได้ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2552 เป็นต้นไป

1.7 การส่งเสริมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)

จังหวัดปทุมธานีได้ให้อสม.มารายงานตัวที่สำนักงานสาธาณสุขอำเภอ(สอ.) ในระหว่างวันที่ 11 — 17 กุมภาพันธ์ 2552 ภายใต้นโยบายการส่งเสริมบทบาทอสม.ในการดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างเป็นระบบภายใต้ค่าตอบแทน 600 บาท/คน/เดือน โดยมีอสม.มารายงานตัวทั้งสิ้น 7,232 คน

1.8 การสนับสนุนการจัดการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

จังหวัดฯได้ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปทุมธานีตรวจสอบข้อมูลนักเรียนในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) พบว่ามีนักเรียนจำนวน 101,500 คนทั้งนี้โดยงบประมาณที่สถานศึกษาในสังกัดสพฐ.ปทุมธานีจะได้รับจัดสรรและโอนเงินเบื้องต้นก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1/2552 ใน 4 รายการ คือ ค่าหนังสือเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน และค่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียนรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 148,681,380.40 บาท

2. การพิจารณาแก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่จังหวัดปทุมธานีขอรับการสนับสนุน

2.1 การแก้ไขปัญหาการประกอบอาชีพของราษฎร โดยการปรับปรุงพื้นที่สวนให้เป็นพื้นที่นาข้าวและปรับปรุงสภาพดินเปรี้ยว

จังหวัดปทุมธานีได้รายงานว่าพื้นที่อำเภอหนองเสือมีราษฎรหลายครัวเรือนที่ประสบปัญหาการประกอบอาชีพจากการทำสวนส้มไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้เนื่องจากสภาพดินเสียเป็นดินเปรี้ยวจะต้องมีการปรับปรุงสภาพพื้นที่ดินใหม่และเปลี่ยนมาปลูกข้าวแทน ซึ่งกระผมได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมในพื้นที่ดังกล่าวด้วยแล้ว โดยได้เดินทางไปดู การปฏิบัติงานของเกษตรกรรายนายสนอง ขำประดิษฐ์ ราษฎรหมู่ที่ 9 ตำบลศาลาครุ ซึ่งเป็นผู้เคยทำสวนส้มและประสบปัญหาสภาพพื้นที่ดินเปรี้ยวมาก่อน และได้ปรับปรุงสภาพพื้นที่และสภาพดินตามแนวทางที่ได้ศึกษาดูงานที่ศูนย์การศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริจนประสบความสำเร็จสามารถพัฒนาพื้นที่เป็นแปลงนาปลูกข้าวที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลสูงสามารถปลูกข้าวได้ปีละ 3 ครั้งมีผลผลิตต่อไร่สูงถึงประมาณ 90 — 100 ถัง ทั้งนี้การปรับปรุงสภาพพื้นที่สวนที่เป็นดินเปรี้ยวให้เป็นพื้นที่นาที่มีสภาพพร้อมใช้ประโยชน์จะใช้งบประมาณประมาณไร่ละ 3,500 บาท ดังนั้นหากสนับสนุนการแก้ไขปัญหาราษฎรรายละ 10 ไร่ ก็จะใช้งบประมาณรายละประมาณ 35,000 บาท ซึ่งกระผมได้พิจารณาแล้วเห็นว่าควรให้การสนับสนุนเพราะเป็นโครงการสร้างและพัฒนาอาชีพ โดยใช้หลักการเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนและเป็นต้นแบบหรือตัวอย่างการแก้ไขปัญหาอาชีพของเกษตรกรต่อไป โดยการดำเนินการตามโครงการแก้ไขปัญหานี้คาดว่าจะใช้งบประมาณ 2,000,000 บาท

2.2 การแก้ไขปัญหาประชาชนไม่มีน้ำดื่มที่สะอาดของอำเภอธัญบุรี

จังหวัดปทุมธานีได้รายงานว่าประชาชนในพื้นที่บริเวณคลอง 9ถึงคลอง 13 ของอำเภอธัญบุรี ไม่มีน้ำประปาใช้ เนื่องจากไม่มีระบบส่งท่อประปา กระผมได้พิจารณาแล้วเห็นควรให้การสนับสนุนเนื่องจากเป็นระบบพื้นฐานของชุมชนที่จำเป็นและในกรณีนี้ท้องถิ่นจะมีการสนับสนุนงบประมาณจำนวนหนี่งด้วย โดยงบประมาณที่ขอรับการสนับสนุนตามโครงการนี้เป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 16,000,000 บาท

การดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาตามข้อ 2.2.1 และ 2.2.2 กระผมเห็นว่าสมควรดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วภายในปีงบประมาณพ.ศ. 2552นี้ โดยใช้เงินงบประมาณตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค พ.ศ. 2547 โดยกระผมได้มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีได้เร่งตรวจสอบรายละเอียดโครงการ และความสอดคล้องกับหลักเกณฑ์การใช้จ่ายงบประมาณตามระเบียบดังกล่าว เพื่อจะได้ดำเนินการโดยเร่งด่วนต่อไปแล้ว

อนึ่ง จังหวัดปทุมธานียังได้ขอให้พิจารณาปัญหาเร่งด่วนอื่นๆอีกด้วยได้แก่เรื่องแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณแยกนวนคร ซึ่งมีการจราจรติดขัดมากจำเป็นจะต้องมีการสร้างสะพานต่างระดับและการขยายถนนทางหลวงบางจุดเช่น บริเวณฟิวเจอร์ปาร์ครังสิตฯลฯ และเรื่องการแก้ไขปัญหาการนำน้ำจากแก้มลิงบริเวณสระน้ำพระรามเก้าเข้าสู่ที่นาของเกษตรกรซึ่งทั้งสองโครงการนี้กระผมจะได้ส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการต่อไป

3. การมอบนโยบายแก่ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่ของจังหวัด

รองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) ได้มอบนโยบายที่สำคัญในการไปตรวจเยี่ยมครั้งนี้ ดังนี้

3.1 เรื่องการสร้างความมั่นคงของประเทศ

รองนายกรัฐมนตรี ได้ขอให้ผู้บริหารของจังหวัดและเจ้าหน้าที่ทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญของความมั่นคงของประเทศ ซึ่งขณะนี้มีขบวนการที่ทำให้เกิดการแบ่งกลุ่มคนมาต่อสู้กันจึงต้องเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนให้เกิดความเข้าใจในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างแท้จริงว่าในระบอบประชาธิปไตยมีความขัดแย้งหรือความแตกต่างทางความคิดเห็นได้แต่ต้องไม่แสดงออกในลักษณะการเป็นศัตรูต่อกันต้องเร่งทำให้เกิดความสมานฉันท์และเกิดความตระหนักชัดเจนว่าความมั่นคงของประเทศนั้นมีความสำคัญมาก ไม่ใช่ความมั่นคงของรัฐบาลเพราะรัฐบาลสามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่การแบ่งกลุ่มอย่างเป็นศัตรูกันจะกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ

3.2 เรื่องการเทิดทูน ปกป้อง รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์

รองนายกรัฐมนตรีขอให้ทุกคนมีความตระหนักถึงความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยในฐานะที่เป็นสถาบันยึดเหนี่ยวรวมใจของประชาชนทั้งประเทศ ที่ได้ช่วยรักษาความมั่นคงของประเทศไทยไว้ตลอดมา จึงต้องไม่ยอมให้ผู้ใดหรือกลุ่มบุคคลใดมาดำเนินการในทางที่จะทำให้เสื่อมเสียหรือทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ได้

3.3 เรื่องการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมและผู้มีอิทธิพล

รองนายกรัฐมนตรี ได้ขอให้จังหวัดและเจ้าหน้าที่ทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนให้เกิดความอบอุ่นใจ ทั้งนี้เนื่องจากในภาวะที่เศรษฐกิจถดถอยอาชญากรรมมักจะเพิ่มขึ้น จังหวัดจึงควรต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินการกับผู้มีอิทธิพล ผู้ค้ายาเสพติดเพื่อป้องกันมิให้ผู้มีอิทธิพลทุกประเภทหรือผู้ค้ายาเสพติดไปรังแกประชาชนหรือสร้างปัญหากับบ้านเมือง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 เมษายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ