แผนอำนวยความสะดวก มั่นคง และปลอดภัยเพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2552 กระทรวงคมนาคม

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 10, 2009 15:15 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบแผนอำนวยความสะดวก มั่นคง และปลอดภัยเพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2552 กระทรวงคมนาคม ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ดังนี้

กระทรวงคมนาคมในฐานะหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบงานด้านการขนส่งทางบก การขนส่งทางน้ำ การขนส่งทางอากาศ การขนส่งทางราง ตลอดจนดูแลการแก้ไขปัญหาจราจร ได้ตระหนักถึงความสำคัญของวันสงกรานต์ตามคำขวัญดังกล่าวข้างต้น โดยเฉพาะในเรื่องของความปลอดภัยของประชาชนในการเดินทาง ซึ่งได้ดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อดูแลประชาชนมาโดยตลอด ทั้งในช่วงภาวะปกติ และช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน โดยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2552 กระทรวงคมนาคมได้ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กองบังคับการตำรวจทางหลวง กองบังคับการตำรวจจราจร กองบัญชาการตำรวจนครบาล ในการจัดทำ “แผนอำนวยความสะดวก มั่นคง และปลอดภัยเพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2552” ภายใต้โครงการ “สงกรานต์ปลอดภัย ทุกทิศทั่วไทย ใส่ใจทั้งตัวคนและตัวรถ” ดังนี้

1. วัตถุประสงค์

1.1 จัดให้บริการและอำนวยความสะดวกอย่างเพียงพอ รวมถึงการจัดเตรียมมาตรการรองรับเพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาโดยทันท่วงทีและเร่งด่วน กรณีเกิดสถานการณ์ไม่ปกติ

1.2 ลดจำนวนอุบัติเหตุและความสูญเสียจากการเดินทางของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากระบบขนส่งสาธารณะในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม

1.3 ประชาชนมีความเชื่อมั่นในเขตพื้นที่และความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคมมีความมั่นคงและความปลอดภัยสูงสุด

1.4 ประชาชนมีความตระหนักในการเลือกใช้บริการเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทางที่มีคุณภาพและปลอดภัยในการให้บริการ

2. ระยะเวลาปฏิบัติงาน

2.1 ช่วงเตรียมการของการดำเนินงาน ระหว่างวันที่ 18-31 มีนาคม 2552

2.2 ช่วงปฏิบัติงานในพื้นที่ส่วนกลางและภูมิภาคทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 10-16 เมษายน 2552

3. แผนการดำเนินงาน ประกอบด้วย 3 แผนงานหลัก ดังนี้

3.1 แผนงานด้านการบริการและอำนวยความสะดวก ประกอบด้วย

3.1.1 การจัดเตรียมยานพาหนะให้เพียงพอ

1) กรมการขนส่งทางบก และบริษัท ขนส่ง จำกัด

จัดรถโดยสารสาธารณะให้เพียงพอ โดยเพิ่มจำนวนรถโดยสารและเที่ยววิ่งเพิ่มขึ้นจากปกติร้อยละ 29 สามารถรองรับผู้โดยสารที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาระหว่างวันที่ 9-13 เมษายน 2552 (รวม 5 วัน) ได้ประมาณ 1,133,084 คน

ภาค                                      เที่ยววิ่ง               รวม      ผู้โดยสาร
                                     ปกติ     เสริม        (เที่ยววิ่ง)         (คน)
เหนือ                               2,055    1,082           3,137      131,797
ตะวันออกเฉียงเหนือ                    4,779    2,553           7,332      306,215
กลาง/ตะวันออก(จตุจักร)                4,420      743           5,163      228,159
ใต้                                 5,152      606           5,758      249,842
ตะวันออก (เอกมัย)                    2,500      488           2,988      130,444
รถเสริม (30)                            -    1,732           1,732       86,626
รวม 5 วัน                          18,906    7,204          26,110    1,133,084

2) การรถไฟแห่งประเทศไทย

เพิ่มหน่วยลากจูงและจัดขบวนรถพิเศษในเส้นทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 27 ขบวน (เที่ยวไประหว่างวันที่ 9-11 เมษายน 2552 จำนวน 11 ขบวน และเที่ยวกลับระหว่างวันที่ 14-15 และ 18-19 เมษายน 2552 รวม 16 ขบวน)รองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจากปกติเฉลี่ยวันละ 5,000 คน สามารถรองรับผู้โดยสารได้วันละประมาณ 110,500 คน

รายละเอียด                          ขบวน      ผู้โดยสาร (คน/วัน)
การจัดการเดินรถตามปกติ          246 (ต่อวัน)               95,500
ในช่วงเทศกาลเพิ่มตู้โดยสาร
ในขบวนปกติ ขบวนละ 2-3  ตู้              -                10,000
จัดเพิ่มขบวนรถพิเศษ              27 ( 7 วัน)                5,000
รวม                                 273              110,500

3) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

เพิ่มเที่ยวบินและขนาดเครื่องบินเพื่อเพิ่มความจุรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้น โดยสามารถรองรับผู้โดยสารได้อย่างเพียงพอ

4) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ

เพิ่มจำนวนรถโดยสารและเที่ยววิ่งให้บริการแก่ประชาชนอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะเส้นทางที่วิ่งผ่านสถานีขนส่งผู้โดยสาร สถานีรถไฟในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อบริการประชาชนที่จะเดินทางไปยังสถานีขนส่งต่างๆ รวมทั้งจัดรถ Shuttle Bus บริการระหว่างสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส (จตุจักร) ไปยังสถานีขนส่งกรุงเทพ (จตุจักร) และจัดรถบริการเสริมในเส้นทาง บขส. สายสั้น 2 เส้นทาง คือ กรุงเทพมหานคร-พระนครศรีอยุธยา และกรุงเทพมหานคร-สระบุรี

5) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

เพิ่มความถี่ในการเดินรถ

3.1.2 อำนวยความสะดวกด้านการจราจร

กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ดำเนินการอำนวยความสะดวกด้านการจราจร ดังนี้

1) กรมทางหลวง ยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (กรุงเทพฯ-ชลบุรี) และหมายเลข 9 (ถนนวงแหวนรอบนอก กรุงเทพมหานคร ด้านตะวันออก ตอน บางปะอิน-บางพลี) ตั้งแต่เวลา 16.00 น. ของวันที่ 10 เมษายน 2552 ถึงเวลา 24.00 น.ของวันที่ 16 เมษายน 2552 เพื่อให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วในการเดินทาง

2) ขอความร่วมมือบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างหยุดงานก่อสร้างบนสายทาง และ คืนพื้นผิวการจราจรให้อยู่ในสภาพปกติ

3) ติดตั้งป้ายแนะนำ และประชาสัมพันธ์ทางเลี่ยง เพื่อกระจายการเดินทางให้เพิ่มขึ้น

4) ประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร ตำรวจทางหลวง ตำรวจภูธร/ท้องที่ ในเรื่องการจัดการจราจรบนแต่ละเส้นทาง เพื่อความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทาง

3.1.3 อำนวยความสะดวกในช่วงการเดินทางของประชาชน

1) กรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ประสานกับ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนระดับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งจุดและให้บริการจุดพักริมทาง รถยก ซ่อมรถ แจกผ้าเย็น น้ำดื่ม แนะนำเส้นทาง และอื่นๆ

2) กรมการขนส่งทางบก บริษัท ขนส่ง จำกัด และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสถานี/อาคารรับ-ส่งผู้โดยสาร เช่น ห้องสุขา ลิฟต์ บันไดเลื่อน ที่นั่ง รถเข็น และปรับสภาพอากาศภายในอาคารเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ประชาชน เป็นต้น

3) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม จัดตั้งศูนย์วิทยุและโทรศัพท์สายด่วน ของหน่วยงานต่างๆ ในสังกัด คค. เช่น ศูนย์ปลอดภัยคมนาคม กระทรวงคมนาคม สนข. (หมายเลข 1356) ศูนย์ข้อมูลข่าวสารเพื่อความปลอดภัยบนทางหลวง กรมทางหลวง (หมายเลข 1586) ศูนย์ความปลอดภัยทางหลวงชนบท (หมายเลข 1146) ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารสาธารณะ กรมการขนส่งทางบก (หมายเลข 1584) หน่วยบริการประชาชน องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (หมายเลข 184) เป็นต้น

4) กรมการขนส่งทางบก กรมการขนส่งทางอากาศ บริษัท ขนส่ง จำกัด การรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขให้บริการทางการแพทย์ ภายในสถานีขนส่ง สถานีรถไฟ และท่าอากาศยาน

3.2 แผนงานด้านความมั่นคง ประกอบด้วย

การรักษาความปลอดภัยในสถานที่ โดยกรมการขนส่งทางบก บริษัท ขนส่ง จำกัด องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ การรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี การท่าเรือแห่งประเทศไทย กรมการขนส่งทางอากาศ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จัดเจ้าหน้าที่เวรยามและเพิ่มพนักงานรักษาความปลอดภัย รวมทั้งประสานเจ้าหน้าที่ ตำรวจ/สารวัตรทหาร เพื่อดำเนินการดังนี้

3.2.1 เพิ่มความถี่และความเข้มงวดในการออกตรวจพื้นที่

3.2.2 เข้มงวดในการเฝ้าระวังจากโทรทัศน์วงจรปิด

3.2.3 เข้มงวดการรับฝากสิ่งของสัมภาระ โดยจะต้องมีการตรวจตราอย่างละเอียด

3.2.4 จัดให้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนหรือผู้ที่จะเดินทางทราบถึงมาตรการด้านการรักษาความปลอดภัย ในเรื่องการเฝ้าระวัง กระเป๋าสัมภาระ การควบคุมการเข้าและออกสถานที่ รวมทั้งการแนะนำการเดินทางอย่างปลอดภัย

3.3 แผนงานด้านความปลอดภัย

3.3.1 มาตรการผู้ขับขี่/ผู้โดยสารปลอดภัย

1) กรมการขนส่งทางบก บริษัท ขนส่ง จำกัด องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพการรถไฟแห่งประเทศไทย กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กรมการขนส่งทางอากาศ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจความพร้อมของพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ/รถไฟ/เรือ/อากาศยาน

2) กรมการขนส่งทางบก บริษัท ขนส่ง จำกัด และการรถไฟแห่งประเทศไทยตรวจใบอนุญาตขับรถ ตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในลมหายใจ ตรวจสารเสพติดในปัสสาวะ จัดพนักงานขับรถ 2 นายประจำรถโดยสารที่มีเส้นทางเดินรถมากกว่า 4 ชั่วโมง หรือ 400 กิโลเมตรขึ้นไปทุกคัน รวมทั้งจัดประชุมซักซ้อมผู้ประกอบการขนส่งและพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ

3.3.2 มาตรการยานพาหนะปลอดภัย

1) กรมการขนส่งทางบก จัดกิจกรรม "ตรวจรถก่อนใช้ ปลอดภัยแน่นอน" ตรวจความพร้อมของรถโดยสารประจำทาง รถโดยสารไม่ประจำทาง รถขนาดเล็กและรถโดยสารอื่นๆ ก่อนออกจากสถานีขนส่ง และรถที่วิ่งเข้า-ออกหรือผ่านจังหวัด

2) กรมการขนส่งทางบก บริษัท ขนส่ง จำกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจความพร้อมของยานพาหนะทุกประเภทให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์และพร้อมใช้งาน

3.3.3 มาตรการถนน/ทางปลอดภัย

กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ดำเนินการดูแลบำรุงรักษาทางหลวงเพื่อให้อยู่ในสภาพดี แก้ไขจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และติดป้ายและเครื่องหมายจราจรบนทางระหว่างก่อสร้าง

3.3.4 มาตรการบังคับใช้กฎหมาย

หน่วยงานในสังกัด คค. ประสานกับกองบังคับการตำรวจทางหลวง กองบังคับการตำรวจจราจรในการตรวจจับความเร็ว ตรวจวัดแอลกอฮอล์และ กวดขันรถกระบะบรรทุกคนท้ายกระบะที่ไม่มีหลังคาห้ามใช้ทางพิเศษ และเข้มงวดตามมาตรการ 3 ม. 2 ข. 1 ร.

3.3.5 การประชาสัมพันธ์

หน่วยงานในสังกัด คค. ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อช่องทางต่างๆ ติดตั้งป้ายรณรงค์ จัดทำเอกสารแผ่นพับและประชาสัมพันธ์สภาพการจราจร/อุบัติเหตุผ่านสถานีวิทยุ/โทรทัศน์ให้ประชาชนได้รับทราบตลอดการเดินทาง

4. การบูรณาการการปฏิบัติงานตามแผนอำนวยความสะดวก มั่นคง และปลอดภัยเพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2552 ของกระทรวงคมนาคม

ศูนย์ปลอดภัยคมนาคมทำหน้าที่เป็นศูนย์บัญชาการประสานงานกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรับเรื่องร้องเรียน รับแจ้งอุบัติเหตุ แนะนำเส้นทาง และประสานการช่วยเหลือ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาในการเดินทางของประชาชน รวมทั้งประสานกับศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กระทรวงมหาดไทย อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 เมษายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ