รายงานสรุปสถานการณ์น้ำในรอบสัปดาห์ (วันที่ 29 มีนาคม - 4 เมษายน 2552)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 10, 2009 16:16 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสรุปสถานการณ์น้ำในรอบสัปดาห์ (วันที่ 29 มีนาคม - 4 เมษายน 2552) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนี้

1. สภาพภูมิอากาศ ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้รายงานว่า ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้น จะมีฝนฟ้าคะนอง และมีลมกระโชกแรง ในสัปดาห์นี้มีรายงานฝนตกเล็กน้อย ถึงฝนตกหนักทั่วทุกภาค โดยมีปริมาณฝนตกสูงสุดดังนี้ ภาคเหนือ เพชรบูรณ์ 44.3 ม.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สุรินทร์ 63.2 ม.ม. ภาคกลาง ราชบุรี 93.9 ม.ม. ภาคตะวันออก จันทบุรี 79.5ม.ม.และภาคใต้ ตรัง 38.0 ม.ม.

2. อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 40% ของความจุ มี 7 แห่ง คือ เขื่อนแม่กวง อุดมธารา เขื่อนกิ่วคอหมา เขื่อนแควน้อย เขื่อนลำปาว เขื่อนทับเสลา เขื่อนขุนด่านปราการชล และเขื่อนบางพระ อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำ ตั้งแต่ 40% ถึง 50% ของความจุมี 6 แห่ง คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนน้ำพุง เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนปราณบุรี และอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำ ตั้งแต่ 50% ถึง 60% ของความจุมี 8 แห่ง คือ เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนน้ำอูน เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนลำนางรอง เขื่อนสิรินธร เขื่อนวชิราลงกรณ์ และเขื่อนคลองสียัด อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณมากกว่า 60% ของความจุ มี 12 แห่ง แม่น้ำสายหลักส่วนใหญ่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย

3. กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศ พื้นที่ประสบภัยแล้ง ณ วันที่ 1 เมษายน 2552 จำนวน 53 จังหวัด ประกอบด้วย ภาคเหนือ 16 จังหวัด เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ แพร่ น่านพะเยา เชียงราย นครสวรรค์ อุทัยธานี กำแพงเพชร ตาก สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ ภาคกลาง 5 จังหวัด ชัยนาท ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 19จังหวัด บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุบลราชธานี ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา นครนายก สระแก้ว ภาคใต้ 5 จังหวัด ชุมพร สุราษฎรธานี นครศรีธรรมราช ตรัง และ สตูล

4. กรมทรัพยากรน้ำได้ทำการวิเคราะห์ประเมินพื้นที่เสี่ยงภัย โดยพิจารณาจากปริมาณน้ำฝน ระยะเวลาฝนทิ้งช่วง ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ระดับน้ำในลำน้ำ จำนวนประปาหมู่บ้านและจุดจ่ายน้ำ ตลอดจนพื้นที่ประสบภัยแล้งซ้ำซาก พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งจำนวน 41 จังหวัด แบ่งเป็นเสี่ยงภัยแล้งมาก จำนวน 6 จังหวัด เสี่ยงภัยแล้งปานกลาง จำนวน 35 จังหวัด ดังรายละเอียด ตามสิ่งที่ส่งมาด้วยนี้แล้ว

5. กรมทรัพยากรน้ำได้ร่วมช่วยเหลือแก้ไขปัญหาภัยแล้งในระยะสั้น โดยได้จัดเตรียมรถบรรทุกน้ำจำนวน 37 คัน เครื่องผลิตน้ำดื่มจำนวน 6 ชุด เครื่องสูบน้ำจำนวน 141 ชุด และรถประปาสนาม จำนวน 12 คัน พร้อมกันนี้ได้จัดตั้งศูนย์บรรเทาภัยแล้งที่สำนักภาค 1-10 เน้นให้ความช่วยเหลือในการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบประปาหมู่บ้านในเขตพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อให้สามารถผลิตน้ำประปาที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานและพอเพียง ดำเนินการแจกน้ำอุปโภคบริโภคไปแล้วทั้งสิ้น 350,000 ลิตร และได้จัดทำแผนงาน/โครงการ การแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ครอบคลุมพื้นที่ภัยแล้งในปีนี้เป็นเงินงบประมาณทั้งสิ้น 31,947 ล้านบาท ต่อผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ตามบัญชาของรองนายกรัฐมนตรี(พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์)ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการติดตามกำกับการแก้ไขปัญหาภัยแล้งแล้ว เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2552

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 เมษายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ