การทบทวนความต้องการแหล่งทุนสามัญของ ADB

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 10, 2009 16:21 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติในหลักการการเพิ่มทุนไม่เกินร้อยละ 200 ของ GCI โดยมีการระดมเงินทุนในรูปของ Paid-in Capital ร้อยละ 4 หรือคิดเป็นเงิน จำนวน 46.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีระยะเวลาเบิกจ่าย 5 ปี เพื่อใช้เป็นกรอบท่าทีของประเทศไทย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้นำเสนอรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบต่อไป สำหรับงบประมาณเพื่อสนับสนุนการเพิ่มทุนดังกล่าว เห็นควรให้กระทรวงการคลังเสนอขอรับจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณตามความจำเป็นต่อไป ซึ่งเป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

กระทรวงการคลังเสนอว่า

1. ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) ได้ขอให้กระทรวงการคลังพิจารณาให้ความเห็น Working Paper เรื่อง การทบทวนความต้องการแหล่งทุนสามัญของ ADB (Review of the Asian Development Bank’s Ordinary Capital Resource Requirements)

2. สาระสำคัญของ Working Paper ประกอบด้วย ข้อเสนอการเพิ่มทุน ADB ครั้งที่ 5 (GCI V) เพื่อต้องการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลกให้สามารถรักษาระดับการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สาธารณูปโภคและความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนและเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals : MDGs) ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของ ADB จึงมีความต้องการทุนเพื่อรองรับความท้าทายทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประมาณ 4.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในระยะเวลา 10 ปี โดยประมาณ 3.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ใช้สำหรับการสร้างศักยภาพใหม่ (New Capacity) และการทดแทนศักยภาพเก่า (Capacity Replacement) และประมาณ 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ใช้สำหรับการลงทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม จึงเสนอทางเลือกในการเพิ่มทุน ดังนี้

ทางเลือกที่ 1 การเพิ่มทุนร้อยละ 100 ของ GCI โดยเป็น Callable Capital ทั้งหมด และมีระดับการให้กู้คงที่ 8.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้สมมติฐานการให้กู้ที่อัตราการเจริญเติบโตร้อยละ 0 ซึ่งต่ำกว่าโปรแกรมการดำเนินงานและกรอบแผนงานงบประมาณ (Work Program and Budget Framework : WPBF)

ทางเลือกที่ 2 การเพิ่มทุนร้อยละ 150 ของ GCI โดยระดมเงินทุนในรูปของ Paid-in Capital ร้อยละ 3 และมีระดับการให้กู้คงที่ 10.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้สมมติฐานที่ว่าการให้กู้มีอัตราการเจริญเติบโตตามระดับการเติบโตเศรษฐกิจที่อัตราร้อยละ 5 ต่อปี

ทางเลือกที่ 3 การเพิ่มทุนร้อยละ 200 ของ GCI โดยระดมเงินทุนในรูปของ Paid-in Capital ร้อยละ 4 และมีระดับการให้กู้คงที่ 13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้สมมติฐานที่ว่าการให้กู้มีอัตราการเจริญเติบโตตามระดับการเติบโตเศรษฐกิจที่อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี

3. ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศสมาชิกผู้ริเริ่มก่อตั้ง ADB โครงการเงินกู้ที่ ADB ให้กู้แก่ประเทศไทยมีจำนวน 84 โครงการ วงเงินประมาณ 5,388 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประเทศไทยและ ADB ได้ร่วมกันจัดทำยุทธศาสตร์ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกัน (Country Partnership Strategy) ในระยะเวลา 5 ปี (ปี 2550-ปี 2554) เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยและการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ประกอบกับประเทศไทยมีแผนการที่จะขอรับความช่วยเหลือทางการเงินในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (Mega Projects) ดังนั้น เพื่อช่วยให้ ADB สามารถปฏิบัติงานให้ลุล่วงตามข้อตกลงการจัดตั้ง ADB และช่วยลดข้อจำกัดในเพดานการกู้เงินของ ADB (Head Room) ที่ไม่สามารถปล่อยเงินกู้ให้กับประเทศสมาชิกได้เพิ่มขึ้น ประเทศไทยจึงควรให้การสนับสนุนการเพิ่มทุน ADB

4. สำหรับทางเลือกในการเพิ่มทุนนั้นเห็นว่า ทางเลือกที่ 1 ADB ให้กู้ปีละ 8.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นระดับคงที่จะไม่สามารถช่วยให้ ADB ให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกต่างๆ ได้เพียงพอเนื่องจากระดับการให้กู้ต่ำกว่าระดับความต้องการที่ ADB คาดการณ์ไว้ และเห็นว่าไม่สามารถสนองความต้องการที่จะช่วยเหลือประเทศสมาชิกได้อย่างเพียงพอสำหรับทางเลือกที่ 2 แม้ว่าจะเป็นระดับการให้ความช่วยเหลือที่ ADB ให้เพิ่มขึ้นปีละร้อยละ 5 ซึ่งมีระดับการให้กู้คงที่ 10.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอยู่ในระดับที่เห็นว่าน่าจะเหมาะสม แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากวิกฤตการเงินโลกทำให้สถานการณ์ในการให้ความช่วยเหลือประเทศต่าง ๆ มีมากขึ้นกว่าปกติ ดังนั้น เพื่อให้ ADB สามารถให้ความช่วยเหลือกับประเทศที่กำลังประสบปัญหาและความท้าทายที่เกิดขึ้นจากผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลกที่กำลังคุกคามอยู่ในปัจจุบัน จึงเห็นควรสนับสนุนการเพิ่มทุนสามัญ ครั้งที่ 5 (GCI V) ของ ADB ตามทางเลือกที่ 3 คือ เพิ่มทุนร้อยละ 200 ซึ่งจะทำให้ ADB สามารถปล่อยกู้ได้ปีละ 13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 ต่อปี ซึ่งสามารถสนองความต้องการได้ระดับหนึ่ง และการที่ ADB เรียกเงินชำระร้อยละ 4 ก็สามารถช่วย ADB ในการดูแลด้านสภาพคล่องการบริหารจัดการและมีโอกาสให้เงินกู้ลักษณะผ่อนปรนมากขึ้น

5. กรณี ADB มีมติให้เพิ่มทุนประเทศไทยจะมีพันธะต้องชำระดังนี้

ทางเลือกที่ 1 (100%) จะชำระเมื่อเรียกเก็บ

ทางเลือกที่ 2 (150%) Paid in Capital ร้อยละ 3 จำนวน 26.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทางเลือกที่ 3 (200%) Paid in Capital ร้อยละ 4 จำนวน 46.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

หาก ADB มีมติเลือกทางเลือกที่ 3 เห็นควรสนับสนุนให้ประเทศไทยซื้อหุ้นเพิ่มทุน ทั้งนี้ ประเทศไทยต้องมีภาระชำระเงินเพิ่มทุนรายปี จำนวน 9.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 334.8 ล้านบาทต่อปี ตั้งแต่ปี 2553 ถึงปี 2557 เพื่อรักษาบทบาทของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศและดุลอำนาจการต่อรองในการบริหารจัดการภายในกลุ่มออกเสียงของไทยต่อไป (กลุ่มออกเสียงของไทยใน ADB ประกอบด้วย สมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ พม่า เนปาล บรูไดดารุสซาลาม และไทย) ซึ่งประเทศไทยมีอำนาจออกเสียงอยู่เป็นลำดับ 2 ของกลุ่มออกเสียงของไทย คือที่ ร้อยละ 1.385 ของคะแนนเสียงทั้งหมด รองจากประเทศมาเลเซียที่มีอำนาจออกเสียงร้อยละ 2.472 ของคะแนนเสียงทั้งหมด

6. กระทรวงการคลังเห็นว่าการเข้าร่วมเพิ่มทุนใน ADB เป็นพันธะผูกพันที่ประเทศไทยมีต่อธนาคารที่สามารถเรียกชำระได้ทั้งจำนวน (Callable Capital) และโดยเฉพาะการเรียกชำระครั้งนี้ Paid in Capital ร้อยละ 4 ในวงเงินประมาณ 1,674 ล้านบาท มีผลกระทบต่องบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเข้าข่ายมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ เนื่องจากเป็นเงินจำนวนมาก และมีระยะเวลาการเบิกจ่ายที่ผูกพันงบประมาณเป็นเวลา 5 ปี

7. ADB ได้กำหนดให้การพิจารณาการเพิ่มทุนของ ADB เสร็จสิ้นก่อนการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชียที่จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 4-5 พฤษภาคม 2552 ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อให้การดำเนินการเพิ่มทุนของ ADB แล้วเสร็จทันกำหนด กระทรวงการคลังขอให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 เมษายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ