โครงการจัดทำข้อเสนอประเทศไทยเพื่อผลักดันเป็นข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 10, 2009 16:24 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง โครงการจัดทำข้อเสนอประเทศไทยเพื่อผลักดันเป็นข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ

รวมถึงมาตรการลงโทษและวิธีการโดยไม่ใช้การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง (Draft United Nations Rules for the

Treatment of Women Prisoners and Non-Custodial Sanctions and Measures for Women Offenders)

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ทั้ง 4 ข้อ ดังนี้

1. เห็นชอบยุทธศาสตร์ในการดำเนินการของกระทรวงยุติธรรมเพื่อผลักดัน “ร่างข้อกำหนดฯ” เป็นข้อกำหนดสหประชาชาติ ดังนี้

1.1 ประเทศไทยจะนำเสนอ “ร่างข้อกำหนดฯ” ต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (United Nations Commission on Crime Prevention and Criminal Justice - CCPCJ) สมัยที่ 18 ณ สำนักงานสหประชาชาติ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย ระหว่างวันที่ 16-24 เมษายน 2552 เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ “ร่างข้อกำหนดฯ” ที่ไทยจัดทำขึ้นในเบื้องต้น และเสนอให้สำนักงานสหประชาชาติเพื่อการควบคุมยาเสพติดและอาชญากรรม (United Nations Office on Drugs and Crime - UNODC) จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศ (Intergovernmental Group of Experts) เพื่อเจรจายกร่างข้อกำหนดฯ ในรายละเอียด โดยประเทศไทยจะเสนอเป็นเจ้าภาพการประชุมดังกล่าว

1.2 ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญฯ (ตามข้อ 1.1) ซึ่งจะใช้ชื่อว่า “Intergovernmental Group of Experts to develop a set of Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non-Custodial Measures for Women Offenders as a supplementary to the United Nations Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners” และจะกำหนดให้มีขึ้นที่กรุงเทพฯ ประมาณเดือนสิงหาคมหรือกันยายน 2552 นั้น ประเทศไทยจะต้องจัดทำความตกลงประเทศเจ้าภาพ (Host Country Agreement) กับสหประชาชาติ โดยจะเป็นรูปแบบของการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูต (Exchange of Letters) ร่างความตกลงดังกล่าวเป็นเพียงการยืนยันพันธกรณีเกี่ยวกับเอกสิทธิและความคุ้มกันทางการทูตให้แก่ผู้เข้ามาประชุม ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติที่ประเทศไทยในฐานะสมาชิกสหประชาชาติจะต้องดำเนินการ โดยในเรื่องนี้ประเทศไทยมีกฎหมายรับรองอยู่แล้ว คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองและการดำเนินงานของสหประชาชาติและทบวงการชำนัญพิเศษในประเทศไทย พ.ศ. 2504 และร่างความตกลงนี้มีสาระเป็นเพียงแนวทางการจัดประชุมทางวิชาการสำหรับผู้เชี่ยวชาญภาครัฐ ผู้ที่เกี่ยวข้องจากนานาประเทศ และองค์การระหว่างประเทศจำนวนประมาณ 30 คนเท่านั้น และผลการประชุมไม่เกิดข้อผูกพันใดๆ กับประเทศไทย เป็นเพียงการพิจารณาความเห็นทางวิชาการเพื่อนำเสนอต่อสหประชาชาติตามช่องทางที่กำหนดเท่านั้น จึงไม่มีประเด็นเกี่ยวข้องที่จะต้องดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 190 เนื่องจากไม่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขต ซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศหรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา และมิได้เป็นหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

1.3 เมื่อที่ประชุมผู้เชี่ยวชาญฯ ได้ให้ความเห็นชอบร่วมกันต่อร่างข้อกำหนดฯ แล้ว สำนักงานสหประชาชาติเพื่อการควบคุมยาเสพติดและอาชญากรรม (UNODC) จะดำเนินการตามอาณัติของข้อมติคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (CCPCJ) ที่กล่าวถึงข้างต้น ในการนำข้อกำหนดฯ ไปเสนอต่อ

(1) ที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาครั้งที่ 12 (Twelfth United Nations Congress-on Crime Prevention and Criminal Justice) ที่เมืองซัลวาดอร์ประเทศบราซิล ระหว่างวันที่ 12-19 เมษายน 2553 และ

(2) ที่ประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (CCPCJ) สมัยที่ 19 ที่กรุงเวียนนา ในเดือนพฤษภาคม 2553 ซึ่งไทยจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการผลักดันให้ร่างข้อกำหนดฯ ได้รับการยอมรับในทั้งสองเวทีดังกล่าว เพื่อเป็นการปูทางสำหรับการส่งร่างข้อกำหนดฯ เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (General Assembly-GA) สมัยที่ 65 ณ กรุงนิวยอร์ก ในช่วงปลายปี 2553 เพื่อให้การรับรอง (endorse) อย่างเป็นทางการ อันเป็นการบรรลุเป้าหมายหลักของโครงการ ELFI ในพระดำริฯ โดยสมบูรณ์

2. เห็นชอบร่างข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ รวมถึงมาตรการลงโทษและวิธีการโดยไม่ใช้การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง (ภาษาอังกฤษ) และร่างข้อกำหนดเพิ่มเติมของสหประชาชาติฯ (คำแปลภาษาไทย) เพื่อให้กระทรวงยุติธรรมนำเสนอต่อสหประชาชาติในการประชุมคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 18 (UN CCPCJ) ณ สำนักงานสหประชาชาติ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย ระหว่างวันที่ 16-24 เมษายน 2552 และขอให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Intergovernmental Group of Experts to develop a set of Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non-Custodial Measures for Women Offenders to the United Nations Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners ที่กรุงเทพมหานคร ภายในปี 2552

3. เห็นชอบร่างความตกลงระหว่างประเทศไทยกับสหประชาชาติ (Draft Host Country Agreement) พร้อมคำแปล สำหรับการที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม “Intergovernmental Group of Experts to develop a set of Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non-Custodial Measures for Women Offenders as a supplementary to the United Nations Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners” และในการนี้ มอบหมายให้เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสำนักงานสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา เป็นผู้ลงนามความตกลง โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมความตกลงดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ ให้กระทรวงยุติธรรมและกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกันพิจารณาและดำเนินการต่อไป

4. เห็นชอบให้กระทรวงการต่างประเทศให้การสนับสนุนกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ในการดำเนินโครงการ “ELFI” (Enhancing Lives of Female Inmates) ในพระดำริของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการใช้ช่องทางทางการทูต ทั้งในกรอบทวิภาคี และพหุภาคี รวมทั้งการอำนวยความสะดวกอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์การผลักดันข้อกำหนดเพิ่มเติมของสหประชาชาติสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ ให้บรรลุผลสำเร็จ

กระทรวงยุติธรรมรายงานว่า

1. กระทรวงยุติธรรมได้เริ่มดำเนินโครงการจัดทำข้อเสนอประเทศไทยเพื่อผลักดันเป็นข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ รวมถึงมาตรการลงโทษและวิธีการโดยไม่ใช้การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง หรือโครงการ ELFI ตามแนวพระดำริของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ซึ่งให้ความสนพระทัยในเรื่องการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ต้องขังที่ขาดโอกาสในกระบวนการยุติธรรม มีวัตถุประสงค์ในการรณรงค์ให้ประชาคมระหว่างประเทศได้ตระหนักถึงปัญหาของผู้ต้องขังหญิงในระบบราชทัณฑ์ และร่วมมือกันพัฒนามาตรการเพิ่มเติมที่เกื้อกูลกับข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในเรือนจำ ค.ศ. 1955 (United Nations Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners,1955) ซึ่งเป็นมาตรฐานหลักที่ใช้มากว่า 53 ปีแล้ว จึงอาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อให้แนวปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงเป็นไปในทิศทางที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ที่เน้นการให้ความสำคัญต่อความอ่อนไหวของเพศสตรี (gender sensitive approach) ซึ่งหากข้อเสนอของไทยได้รับการรับรองจากสหประชาชาติ นอกจากจะเป็นการเฉลิมพระเกียรติและพระปรีชาสามารถของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในนามของรัฐบาลไทยแล้ว ยังจะช่วยส่งผลทางบวกต่อภาพลักษณ์ของไทยด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในสายตาประชาคมระหว่างประเทศมากขึ้น ข้อกำหนดสหประชาชาติที่จะประกาศใช้นี้ จะไม่มีสภาพบังคับแก่ประเทศใด ๆ (Binding) เพราะเป็นเพียงข้อแนะนำเท่านั้น จึงไม่มีประเด็นเกี่ยวข้องที่ต้องดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 190

2. ภายหลังจากที่กระทรวงยุติธรรมได้รับประทานพระดำริจากพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เมื่อเดือนกรกฎาคม 2551 ก็ได้ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการผลักดันแนวพระดำริดังกล่าวข้างต้นให้เป็นผลในทางปฏิบัติ หลังจากนั้นได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการผลักดัน โดยมีกิจกรรมที่ต้องดำเนินการทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ และภายหลังจากที่ได้รับพระวินิจฉัยให้ดำเนินการต่อแล้ว กระทรวงยุติธรรมได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมโต๊ะกรม (Expert Roundtable Meeting) สำหรับผู้เชี่ยวชาญเพื่อระดมสมอง และร่วมกันพิจารณาร่างข้อกำหนดของสหประชาชาติสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ ที่กระทรวงยุติธรรมนำเสนอ ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 2-4 กุมภาพันธ์ 2552 โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านราชทัณฑ์จากประเทศต่างๆ องค์การระหว่างประเทศ และองค์กรเอกชน (NGOs) ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งได้จัดการสัมมนาเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2552 เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้แทนส่วนราชการและนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมของไทย ผลจากการประชุมดังกล่าวทำให้ประเทศไทยได้มีเอกสารร่างข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ รวมถึงมาตรการลงโทษและวิธีการโดยไม่ใช้การคุมขังสำหรับผู้กระทำความผิดหญิง (Draft United Nations Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non-Custodial Sanctions and Measures for Women Offenders) ซึ่งเป็นข้อริเริ่มของไทยอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อใช้ประโยชน์สำหรับการรณรงค์ และดำเนินโครงการ ELFI ในพระดำริฯ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 เมษายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ