สรุปผลการประชุมร่วม 3 ฝ่าย เพื่อคลี่คลายปัญหาทางการเมือง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 29, 2009 08:37 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการประชุมร่วม 3 ฝ่าย เพื่อคลี่คลายปัญหาทางการเมือง ตามที่นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล เสนอ ดังนี้

ตามที่นายกรัฐมนตรีได้มีข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาทางการเมืองและคลี่คลายวิกฤตของประเทศต่อการประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2552 โดยให้รัฐสภาพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการ 2 คณะ คือ 1) คณะกรรมการรวบรวมและตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองเมื่อวันที่ 8-15 เมษายน 2552 และ 2) คณะกรรมการรวบรวมข้อเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นั้น ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ขอสรุปผลการประชุมร่วม 3 ฝ่าย ดังนี้

1. เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2552 เวลา 16.00 น. ประธานรัฐสภา (ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายชัย ชิดชอบ) ได้เชิญประชุมร่วม 3 ฝ่าย โดยนายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช และนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล นายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน และสมาชิกรัฐสภา จำนวนหนึ่งเข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาการดำเนินการตามผลการอภิปราบด้วยความรอบคอบ กว้างขวางโดยมีหลักการเพื่อลดประเด็นที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง และเร่งสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในชาติในเร็ววัน โดยทุกฝ่ายจะต้องถอยหลังเลิกความมีทิฐิมานะต่อกัน และคำนึงถึงประเทศชาติเป็นหลัก

2. ที่ประชุมได้พิจารณาแล้วเห็นว่า โดยที่ได้มีการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง เมื่อวันที่ 8-15 เมษายน 2552 แล้ว จากภาคส่วนต่างๆ และสื่อมวลชนทั้งภายในและภายนอกประเทศ รวมถึงรัฐบาลได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อรวบรวมและประมวลเหตุการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมทางการเมืองฯ ด้วยแล้ว และหากประชาชนได้รับความเดือดร้อนหรือได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ก็สามารถร้องเรียนมาที่คณะกรรมาธิการฝ่ายกฎหมาย หรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้ จึงเห็นว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอีก อาจไม่นำไปสู่ข้อเท็จจริงแต่จะเป็นการสร้างความขัดแย้งให้ขยายวงต่อไปอีก จึงเห็นควรให้รัฐบาลเป็นฝ่ายที่ดำเนินการในเรื่องนี้ให้ชัดเจนต่อไป

3. ที่ประชุมจึงได้มีมติเห็นชอบให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฏร ข้อ 8 (5) แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองเพื่อความปรองดอง สมานฉันท์และแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดองค์ประกอบตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 137 ซึ่งเห็นควรกำหนดจำนวนองค์ประกอบของคณะกรรมการชุดนี้ ไม่เกิน 40 คน โดยประกอบด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 23 คน (พท. 9 คน ปชป. 8 คน ภท. 2 คน พผ. 1 คน ชทพ. 1 คน รช+กส 1 คน และรฎ+ปชร 1 คน) สมาชิกวุฒิสภา จำนวน 7 คน และผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนต่าง ๆ จำนวน 10 คน โดยให้สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาเป็นผู้พิจารณาเสนอชื่อตามสัดส่วน (สภาผู้แทนราษฎร เสนอ 8 คน ประกอบด้วย พท. 3 คน ปชป. 3 คน ภท. 1 คน พผ. 1 คน และวุฒิสภา เสนอ 2 คน) ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงการแต่งตั้งจากบุคคลที่เป็นกลาง และมีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ ด้วย โดยคณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ในการศึกษารวบรวม และตรวจสอบประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการแสวงหาแนวความคิดร่วมกันในการแก้ไขปัญหาทางการเมือง และอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 135 และให้รายงานผลการดำเนินงานต่อประธานรัฐสภา โดยให้คณะกรรมการดังกล่าวดำเนินการภายใน 15 วัน ทั้งนี้ ให้แต่ละพรรคการเมือง และวุฒิสภาเสนอชื่อผู้ที่จะเป็นกรรมการในคณะกรรมการดังกล่าวให้แก่ประธานรัฐสภาภายในวันที่ 28 เมษายน 2552

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 เมษายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ