ขออนุมัติดำเนินการโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวง จังหวัดชลบุรี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 29, 2009 08:42 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการให้ดำเนินการโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวง จังหวัดชลบุรี ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 และแผนการดำเนินงานโครงการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553-2559 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานว่า

1. โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวง จังหวัดชลบุรี เป็นโครงการในแผนพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำคลองหลวงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำบางปะกงตอนบนและสาขาสามารถรองรับความต้องการน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค อุตสาหกรรมการ ท่องเที่ยวและเกษตรกรรม ทั้งในปัจจุบันและความต้องการในอนาคต อ่างเก็บน้ำคลองหลวงมีความจุ 98.0 ล้านลูกบาศก์เมตร มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนให้แก่พื้นที่ชลประทาน 44,000 ไร่ รวมทั้งยังเป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค การอุตสาหกรรมให้แก่พื้นที่ท้ายน้ำอ่างเก็บน้ำ และยังสามารถช่วยบรรเทาอุทกภัยที่เกิดขึ้นเป็นประจำในพื้นที่อำเภอพานทอง อำเภอพนัสนิคม อำเภอเกาะจันทร์ อำเภอบ่อทอง และอำเภอเมืองชลบุรี ได้อีกด้วย ดังนั้น หากสามารถดำเนินการโครงการตามแผนการพัฒนาลุ่มน้ำคลองหลวงได้ทั้ง 14 โครงการ จะสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมให้กับชุมชนในพื้นที่เป็นอย่างยิ่ง

2. วัตถุประสงค์ของโครงการ

2.1 เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน

2.2 เพื่อประโยชน์ในการใช้เป็นแหล่งน้ำด้านการอุปโภค-บริโภค อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว

2.3 เพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ชุมชนและเขตเกษตรกรรม

3. ที่ตั้งของโครงการ หัวงานโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวงตั้งอยู่ที่ประมาณเส้นรุ้ง 130 — 23/ - 00// เหนือ และเส้นแวง 1010 — 22/ - 40// ตะวันออกในเขตบ้านคลอง ตำบลท่าบุญมี อำเภอเกาะจันทร์ จังหวัดชลบุรี

4. องค์ประกอบโครงการ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวงเป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่ตัวเขื่อนตั้งอยู่ในเขตอำเภอเกาะจันทร์ จังหวัดชลบุรี ประกอบด้วยเขื่อนคลองหลวง ความสูง 13.30 เมตร ความยาวรวม 3.80 กิโลเมตร และทำนบดินปิดช่องเขาต่ำความสูง 6.50 เมตร ความยาว 1.07 กิโลเมตร อ่างเก็บน้ำมีความจุ 98.0 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้เกิดพื้นที่ผิวน้ำ 15,987 ไร่ พร้อมทั้งระบบชลประทานส่งน้ำด้วยระบบแรงโน้มถ่วงให้พื้นที่ทั้งหมด 44,000 ไร่

5. แผนงานดำเนินงานโครงการ ระยะเวลา 7 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2553-2559)

6. ผลประโยชน์ของโครงการ พื้นที่เพาะปลูกข้าวในฤดูฝน 44,000 ไร่ พื้นที่เพาะปลูกข้าวในฤดูแล้ง 6,000 ไร่ พื้นที่เพาะปลูกพืชไร่ในฤดูแล้ง 2,500 ไร่ ส่งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และการอุตสาหกรรม 11.90 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

7. สถานภาพโครงการ

7.1 การดำเนินการด้านการมีส่วนร่วม กรมชลประทานดำเนินการด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่โครงการตั้งแต่ขั้นตอนการพิจารณาความเหมาะสมของโครงการ โดยประชุมหารือร่วมกับประชาชนในพื้นที่ในขั้นตอนการออกแบบรายละเอียด ได้หารือร่วมกับราษฎรเจ้าของพื้นที่ในการกำหนดแนวคลองส่งน้ำและการกำหนดตำแหน่งอาคารชลประทานต่างๆ ในขั้นตอนก่อนการก่อสร้างโครงการได้ดำเนินการประชุมชี้แจงและหารือร่วมกับประชาชนและเจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่ก่อนการดำเนินการก่อสร้างโครงการ จำนวน 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2551 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2551 และครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2551 ซึ่งราษฎรและองค์การบริหารส่วนตำบลที่อยู่ในเขตโครงการทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะจันทร์ องค์การบริหารส่วนตำบลวัดสุวรรณ และองค์การบริหารส่วนตำบล บ่อทองได้ให้ความเห็นชอบให้กรมชลประทานเข้าดำเนินการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวง โดยกรมชลประทาน มีแผนจะดำเนินการด้านการมีส่วนร่วมทั้งระหว่างการก่อสร้างและหลังการก่อสร้างโครงการต่อไป

7.2 การจัดหาที่ดินเนื้อที่รวมประมาณ 22,229 ไร่ ประกอบด้วย ที่ดินมีเอกสารสิทธิ ประมาณ 21,029 ไร่ ที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ ประมาณ 1,200 ไร่

8. โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวง จังหวัดชลบุรี ได้ผ่านการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีการประชุมครั้งที่ 2/2551 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2551 มีมติเห็นชอบและให้กรมชลประทานปรับแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดบางส่วนในประเด็นผลการวิเคราะห์โลหะหนักที่ละลายในตะกอนก้นอ่างเก็บน้ำแล้วนำเสนอปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมให้ความเห็นชอบ รวมทั้งมอบหมายให้กรมชลประทานปฏิบัติตามมาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด ซึ่งปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2552 โดยให้กรมชลประทานปฏิบัติตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2551 เกี่ยวกับมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งกรมชลประทานมีแผนงานที่จะดำเนินการตามมติที่ประชุมดังกล่าวแล้ว ประกอบกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เตรียมมาตรการจ่ายค่าทดแทนทรัพย์สินและงบประมาณไว้ในค่าก่อสร้างของโครงการแล้ว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 เมษายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ