ผลการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ครั้งที่ 3/2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 29, 2009 13:02 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ครั้งที่ 3/2552 เมื่อวันพุธที่ 8 เมษายน 2552 และเห็นชอบมติคณะกรรมการ กรอ. และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นและมติของคณะกรรมการ กรอ. ไปพิจารณาประกอบการดำเนินการต่อไป แล้วรายงานให้คณะกรรมการ กรอ. และคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ

สรุปผลการประชุมและมติคณะกรรมการ กรอ. ดังนี้

1. ข้อเสนอประเด็นด้านเศรษฐกิจของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คณะกรรมการ กกร. ได้เสนอที่ประชุมพิจารณา 5 ประเด็น ดังนี้

1.1 ผลกระทบจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 มาตรา 11/1

สาระสำคัญ คณะกรรมการ กกร. เสนอให้กระทรวงแรงงานดำเนินการ (1) ตอบข้อหารือเป็นลายลักษณ์อักษร เรื่องการตีความหมายของพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 มาตรา 11/1 วรรคสอง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน และใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติได้ โดยใช้กรณีศึกษาของ กกร. ซึ่งเปรียบเทียบเรื่องสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ระหว่างลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงและลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่ทำงานในลักษณะเดียวกัน (2) พิจารณาปรับปรุงคำชี้แจง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ในประเด็นการแยกเรื่องค่าจ้างออกจากสิทธิประโยชน์ และสวัสดิการ เพื่อความชัดเจนในการปฏิบัติของผู้ประกอบการ ทั้งนี้เนื่องจากคำชี้แจง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 คำว่า “สิทธิประโยชน์” และคำว่า “สวัสดิการ” รวมถึงค่าจ้าง ในขณะที่ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ ฉบับนี้ ได้บัญญัติเรื่อง ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุด ไว้แล้วในหมวด 5 และ (3) พิจารณาในเชิงกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา 4 วรรคสอง เพื่อออกกฎกระทรวงยกเว้นการบังคับใช้มาตรา 11/1 ไปก่อน

มติคณะกรรมการ กรอ.

มอบหมายกระทรวงแรงงาน รับไปดำเนินการร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไข/จัดทำคำชี้แจง/อธิบาย ความหมายของ “การได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ” ให้มีความชัดเจนมากขึ้น จัดให้มีบริการให้คำปรึกษาในลักษณะศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ และร่วมกับ กกร. ดำเนินการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารในเรื่องสาระสำคัญของสิทธิประโยชน์ และสวัสดิการด้านต่างๆ ทั้งนี้ให้รับความเห็นและประเด็นอภิปรายของคณะกรรมการ กรอ. ไปพิจารณาประกอบการดำเนินการต่อไป

1.2 ข้อเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484

สาระสำคัญ ภาคเอกชนขอให้ กรมป่าไม้ ทบทวนข้อปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ที่เป็นอุปสรรคต่ออุตสาหกรรมโรงแปรรูปไม้ยางพารา และการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติให้มีความชัดเจน ดังนี้

(1) ขยายรอบระยะเวลาการจัดทำบัญชีไม้ จากที่ต้องทำเป็นปัจจุบันทุกวัน ขอขยายระยะเวลาให้จัดทำทุก 7 วัน และให้มีการกำหนดค่ากลางในการคำนวณระหว่างปริมาตรกับน้ำหนักเพื่อการลงบัญชีไม้ที่ถูกต้อง

(2) การต่ออายุใบอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้ จากที่ต้องดำเนินการเป็นประจำทุกปี ขอให้ปรับปรุงให้สอดคล้องกับการออกใบอนุญาตของกรมโรงงานอุตสาหกรรม และปรับปรุงกระบวนการออกและต่ออายุใบอนุญาตให้มีความรวดเร็ว

(3) ให้มีการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ให้มีความชัดเจน โดยระบุว่า “การแปรรูปและการค้าไม้ยางพาราไม่อยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัตินี้”

(4) ให้มีการจัดตั้งคณะทำงานพิจารณาทบทวนแก้ไข พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ที่มีองค์ประกอบของผู้แทนกรมป่าไม้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน และมีการกำหนดกรอบระยะเวลาการทำงานที่ชัดเจน เนื่องจากการแก้ไขกฎหมายมีผลกระทบในหลายด้าน และมีขั้นตอนและระยะเวลาดำเนินการยาวนาน จึงต้องได้รับการพิจารณาทบทวนอย่างรอบคอบ

มติคณะกรรมการ กรอ.

มอบหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาดำเนินการ เพื่ออำนวยความสะดวกและเร่งรัดดำเนินการตามข้อเสนอทั้งในประเด็นระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้

(1) ปรับปรุงวิธีการปฏิบัติในเรื่องรอบระยะเวลาการจัดทำบัญชีไม้ และการต่ออายุใบอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมีระบบตรวจสอบทุกปี

(2) เป็นหน่วยงานหลักจัดตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาทบทวนแก้ไข พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนต่อไป โดยพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดทำกฎหมายเฉพาะสำหรับไม้ยางพาราและไม้เศรษฐกิจอื่น

1.3 การทบทวนการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี

สาระสำคัญ ภาคเอกชนเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการทบทวนและติดตามการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (ด้านเศรษฐกิจ) เป็นประธาน และมีผู้แทนจากภาคเอกชนเข้าร่วมในคณะกรรมการฯ เพื่อเป็นกลไกทบทวนการใช้ประโยชน์จากความตกลงเขตการค้าเสรี ทั้งในรูปแบบทวิภาคีและพหุภาคีกับประเทศคู่ค้าต่างๆ ที่ได้มีการเจรจาและมีผลบังคับใช้แล้ว เพื่อให้ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์ตามความตกลงดังกล่าวได้อย่างเต็มที่

มติคณะกรรมการ กรอ.

มอบหมายกระทรวงพาณิชย์ เพิ่มเติมผู้แทนภาคเอกชนในคณะอนุกรรมการกำกับดูแลการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี ภายใต้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ) เป็นประธาน

1.4 การเร่งรัดแก้ไขปัญหาและอุปสรรคการนำเข้าเหล็กภายใต้กรอบความตกลง JTEPA

สาระสำคัญ

ภาคเอกชนขอให้เร่งรัดแก้ไขปัญหาและอุปสรรคจากการใช้ประโยชน์จากความตกลง JTEPA กรณีการนำเข้าเหล็ก ที่มีความขัดแย้งในการตีความวรรคนำของหมายเหตุข้อ 11 ของตอนที่ 1 ส่วนที่ 3 ของภาคผนวก 1 ของความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ระหว่างกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ และกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง โดยภาคเอกชนได้เสนอให้แก้ไขประกาศกระทรวงการคลัง (ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2550) สาระสำคัญของการแก้ไข คือ ให้ผู้นำเข้าสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนได้รับสิทธิยกเว้นอากร โดยไม่คำนึงว่าบุคคลใดเป็นผู้นำเข้า แต่จำกัดวัตถุประสงค์การนำเข้าเพื่อใช้สำหรับการผลิตยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และอุปกรณ์ของยานยนต์เท่านั้น

มติคณะกรรมการ กรอ.

เห็นชอบให้กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ หารือร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่นก่อนนำเข้าขั้นตอนอนุญาโตตุลาการ เพื่อหาข้อยุติเรื่องการตีความวรรคนำของหมายเหตุข้อ 11 ของตอนที่ 1 ส่วนที่ 3 ของภาคผนวก 1 ของความตกลง JTEPA ในเรื่องการนำเข้าเหล็ก เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากความตกลง JTEPA ได้ตามวัตถุประสงค์ของข้อตกลงฯ

1.5 แนวทางความร่วมมือเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษในพื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง

สาระสำคัญ

ภาคเอกชนได้เสนอจัดตั้งองค์กรภาคีร่วมระดับชาติ ซึ่งอาจอยู่ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก เพื่อเป็นกลไกการทำงานร่วมกันของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน ในการกำหนดมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมไม่สร้างมลพิษให้สิ่งแวดล้อมและสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน โดยภาครัฐจะต้องให้ความชัดเจนและความเชื่อมั่นกับนักลงทุนว่าการประกาศเขตควบคุมมลพิษจะไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนที่ได้ลงไปแล้วในพื้นที่ ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบในมาตรการการควบคุมด้านสิ่งแวดล้อมตามกฎเกณฑ์มาตรฐานมาแล้วอย่างถูกต้อง

มติคณะกรรมการ กรอ.

(1) มอบหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาเพิ่มผู้แทนจากภาคเอกชนในคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดระยองทุกชุด และให้ร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในวาระการแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ชุดต่อไป รวมทั้งให้เข้ามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษที่ต้องดำเนินการตามมาตรา 60 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 โดยควรพิจารณาให้ครอบคลุมโรงงานที่อยู่นอกเขตนิคมอุตสาหกรรม ทั้งนี้ให้รับความเห็นและประเด็นอภิปรายของคณะกรรมการ กรอ. ไปพิจารณาประกอบการดำเนินการต่อไป

(2) มอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้แจงทำความเข้าใจกับนักลงทุนถึงผลกระทบจากการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน

2. การชะลอการขึ้นอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) และการนำค่าไฟฟ้ามาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการชำระภาษี

สาระสำคัญ

2.1 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้เสนอต่อรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายวีระชัย วีระเมธีกุล) เรื่องมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยลดต้นทุนด้านไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรม โดยขอให้ภาครัฐช่วยเหลือใน 2 มาตรการ ซึ่งนายกรัฐมนตรี มีบัญชาให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาข้อเสนอดังกล่าวแล้วนำเสนอคณะกรรมการ กรอ. ดังนี้

(1) ขอให้ชะลอการขึ้นอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ Ft สำหรับภาคอุตสาหกรรมเป็นระยะเวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี โดยใช้วิธีเกลี่ยค่าก๊าซธรรมชาติที่ลดลงอย่างรวดเร็วในระยะถัดไป

(2) ให้นำค่าไฟฟ้ามาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้นอีก 50% หรือเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 เท่า เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยใช้งบประมาณ 22,000 ล้านบาทต่อปี

2.2 สศช. ได้หารือและขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แล้ว สรุปได้ว่า (1) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ได้คำนึงถึงผลกระทบและภาระต่อผู้ใช้ไฟทั้งภาคประชาชนและภาคอุตสาหกรรมอยู่แล้ว และจะรับไปพิจารณาค่า Ft ในครั้งต่อไป ให้เป็นภาระต่อภาคอุตสาหกรรมมากจนเกินไป (2) การให้ความช่วยเหลือเป็นการเฉพาะสำหรับภาคอุตสาหกรรมอาจได้รับการตอบโต้ทางการค้าตามมาตรการทุ่มตลาด และมาตรการตอบโต้การอุดหนุนได้ และ (3) การนำค่าไฟฟ้ามาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 50 หรือเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 เท่า อาจก่อให้เกิดปัญหาและผลกระทบต่อการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล และก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทครัวเรือนทั่วไป

มติคณะกรรมการ กรอ.

1) รับทราบตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานรายงานว่าจะรับข้อเสนอของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาค่า Ft ในครั้งต่อไป

2) มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน รับไปพิจารณามาตรการเพื่อช่วยลดภาระต้นทุนให้กับภาคอุตสาหกรรม โดยกำหนดมาตรการจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมใช้ไฟฟ้าในช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าน้อย (Off-peak)

3. ความคืบหน้าโครงการปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

สาระสำคัญ คณะกรรมการ กกร. ได้รายงานความคืบหน้าในการหาแนวทางที่เหมาะสมในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สรุปได้ว่า ได้แบ่งกลุ่มวิสาหกิจ เป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพสูงแต่ขาดสภาพคล่อง กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มที่ต้องปรับตัวเพื่อให้แข่งขันได้ และกลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มที่ยากที่จะฟื้นตัว ในขั้นต้นจะให้ความสำคัญกับกลุ่มที่มีศักยภาพสูงก่อน ซึ่งขณะนี้ได้รับแจ้งรายชื่อสมาชิกที่อยู่ในกลุ่มที่มีศักยภาพสูงแต่ขาดสภาพคล่อง จำนวน 72 ราย มีสมาชิกที่แจ้งความจำนงขอรับการสนับสนุนสินเชื่อจำนวน 69 ราย ได้ทำการคัดเลือกรายชื่อสมาชิกที่ต้องการขอรับสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทยจำนวน 23 ราย จากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) จำนวน 26 ราย และต้องการขอรับสินเชื่อจากทั้งสองธนาคารจำนวน 16 ราย เสนอให้ธนาคารพิจารณา ผลการพิจารณาให้สินเชื่อของธนาคารกรุงไทยเฉพาะที่แจ้งความจำนงของสมาชิกสมาคมเครื่องเรือนไทยจำนวน 2 ราย ไม่ผ่านการพิจารณา ขณะนี้ได้จัดส่งให้พิจารณาเพิ่มเติมอีกจำนวน 32 ราย พบว่าเป็นสมาชิกของธนาคารเพียง 17 ราย และอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียด

มติคณะกรรมการ กรอ.

รับทราบและมอบหมายกระทรวงการคลังหารือธนาคารแห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาปรับปรุงและผ่อนปรนหลักเกณฑ์การปล่อยเงินกู้ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs และรายงานความก้าวหน้าในการปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs และนำเสนอสู่การพิจารณาของคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ

4. มาตรการภาษีเพื่อการปรับโครงสร้างหนี้ คณะกรรมการ กรอ. มีมติมอบหมายกระทรวงการคลังรับไปติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินงานตามมาตรการภาษีเพื่อการปรับโครงสร้างหนี้ของภาคเอกชน โดยเฉพาะการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (NPL) ของภาคเอกชน และรายงานให้ที่ประชุมทราบในครั้งต่อไป

5. การจัดตั้งคณะกรรมการ กรอ.จังหวัด/กลุ่มจังหวัด

สาระสำคัญ ฝ่ายเลขานุการ รายงานผลการหารือของกระทรวงมหาดไทยร่วมกับภาคเอกชน ได้แก่ หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อกำหนดโครงสร้างและองค์ประกอบของคณะกรรมการ กรอ. จังหวัด และกลุ่มจังหวัดแล้ว ซึ่งฝ่ายเลขานุการเสนอว่า ในการกำหนดจำนวนผู้แทนในคณะกรรมการ ควรพิจารณาให้สอดคล้องกับสภาพและขนาดเศรษฐกิจของจังหวัด และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ กรอ.จังหวัด และกลุ่มจังหวัด ที่มีเขตชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เห็นควรให้เพิ่มภารกิจด้านการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน ร่วมกัน

มติคณะกรรมการ กรอ.

รับทราบและมอบหมายกระทรวงมหาดไทยเร่งรัดดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการ กรอ.จังหวัด และกลุ่มจังหวัด โดยให้รับความเห็นของที่ประชุมไปประกอบการพิจารณาดำเนินการ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 เมษายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ