แผนปฏิบัติการแม่บทการเตรียมความพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ พ.ศ. 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 29, 2009 14:07 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนปฏิบัติการแม่บทการเตรียมความพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ พ.ศ. 2552 และให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ให้ความร่วมมือในการดำเนินการดังกล่าว ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ

กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า ในการเตรียมความพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยเพื่อป้องกันและบรรเทาความสูญเสียให้ได้ดีที่สุด กระทรวงสาธารณสุขจึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ป้องกัน แก้ไข และเตรียมพร้อมรับปัญหาโรคไข้หวัดนกและการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2551 — 2553) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการ (10 กรกฎาคม 2550) และคณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุมแก้ไขสถานการณ์โรคไข้หวัดนกและการเตรียมความพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินการเตรียมความพร้อมและการซ้อมแผนสำหรับการระบาดใหญ่โรคไข้หวัดใหญ่ในระดับประเทศ มีอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นอนุกรรมการและเลขานุการร่วม จัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการแม่บทฯ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับที่ 2 เพื่อเป็นกรอบดำเนินการสำหรับให้หน่วยงานทุกภาคส่วนนำไปเป็นแนวทางการดำเนินงานเตรียมความพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ โดยเนื้อหาใน (ร่าง) แผนปฏิบัติการแม่บทฯ ได้มาจากการระดมความคิดเห็นในการประชุมเชิงปฏิบัติการของหน่วยงานทุกภาคส่วน จำนวน 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 และครั้งที่ 3 ประชุมประชาพิจารณ์ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ตามลำดับ รวมทั้งได้รวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ เช่น รายงานผลการฝึกซ้อมแผนระดับจังหวัด กรมควบคุมโรค และกระทรวงสาธารณสุข การฝึกซ้อมแผนชนิดบนโต๊ะแผนเตรียมความพร้อมป้องกันแก้ไขปัญหาการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ พ.ศ. 2549 และตัวอย่างแผนเตรียมความพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ของประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่ง (ร่าง) แผนปฏิบัติการแม่บทฯ นี้เป็นเอกสารที่เสนอกรอบความคิด แนวทาง และมาตรการต่างๆ มีเนื้อหาแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ดังนี้

1. ส่วนที่ 1 มีเนื้อหาเกี่ยวกับความเป็นมาและการเตรียมความพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ของประเทศไทยที่ผ่านมา

1.1 ความเป็นมา ความเสี่ยง และผลกระทบต่อการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากปัจจุบันยังพบการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศทั่วโลก และเชื้อไวรัสไข้หวัดนกมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อยู่ตลอดเวลาจนอาจนำไปสู่การระบาดของไข้หวัดใหญ่ไปทั่วโลกได้ ผลการสอบสวนโรคผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนกในครอบครัวเดียวกัน หลายครอบครัวหรือกลุ่มเดียวกันในประเทศต่าง ๆ พบว่าอาจเป็นการติดต่อจากคนสู่คน โดยมีการสัมผัสกันอย่างใกล้ชิด สำหรับผลกระทบต่อการระบาดใหญ่นั้นจะก่อให้เกิดการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตจำนวนมาก และเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม จิตวิทยา และความมั่นคงของประเทศอย่างรุนแรง ดังเช่นในอดีตที่เคยเกิดการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ทั่วโลกมาแล้วหลายครั้งเป็นระยะทุก 10-40 ปี ในแต่ละครั้งมีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตนับล้านคน จึงมีความเป็นไปได้อย่างมากที่จะเกิดการระบาดใหญ่ขึ้น ดังนั้น ทุกประเทศทั่วโลกจึงจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ เพื่อป้องกันและบรรเทาความสูญเสียให้ได้มากที่สุด

1.2 แผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับที่ 1 การดำเนินงานที่ผ่านมามีผลสำเร็จสำคัญ 3 ประการ ดังนี้

(1) ทำให้ความเสียหายจากปัญหาโรคไข้หวัดนกด้านเศรษฐกิจและสังคมมีความรุนแรงลดลง

(2) การเจ็บป่วยและเสียชีวิตในคนลดลง การติดเชื้อของสัตว์ปีกมีจำนวนน้อยลง และสามารถควบคุมได้อย่างทันท่วงทีเมื่อมีการแพร่ระบาด

(3) หน่วยงานของภาครัฐมีประสบการณ์และมีระบบความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากได้เรียนรู้จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศ ตั้งแต่ปี 2547 ทำให้ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

1.3 แผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับที่ 2 แผนยุทธศาสตร์ฉบับนี้ยึดแนวคิดการพัฒนาแบบองค์รวมที่มีคนเป็นศูนย์กลาง ให้ความสำคัญกับการสร้างความปลอดภัยและสร้างองค์ความรู้ให้กลุ่มเป้าหมาย เน้นการดำเนินการแบบบูรณาการแลเป็นระบบให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาที่สอดคล้องกับระยะการระบาดของโรคตลอดระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2551—2553) และมีลักษณะเป็นพลวัตรเพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนได้เท่าทันสถานการณ์ โดยมีกลไกการจัดการแบบบูรณาการและเป็นเอกภาพ ต่อเนื่องอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์หลัก ดังนี้

(1) ยุทธศาสตร์การจัดระบบการผลิตและเลี้ยงสัตว์

(2) ยุทธศาสตร์การเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคทั้งในสัตว์และคน

(3) ยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมรับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่

(4) ยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ประชาชน ภาคธุรกิจ และนานาประเทศ

2. ส่วนที่ 2 มีเนื้อหาเกี่ยวกับระบบการเตรียมความพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งประกอบด้วย

2.1 นโยบายและแผนการเตรียมความพร้อมรับภัยพิบัติแห่งชาติ การระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ ถือว่าเป็นสาธารณภัยร้ายแรงจากโรคระบาดในมนุษย์ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 เป็นการเตรียมความพร้อมตามแผนป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนแห่งชาติ พ.ศ. 2548 ที่สอดคล้องกับนโยบายการเตรียมความพร้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2548 ตามแนวทางและวิธีปฏิบัติของแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหน่วยงานในพื้นที่ทุกระดับ

2.2 โครงสร้างการอำนวยการและสั่งการในภาวะวิกฤต ประกอบไปด้วยภารกิจ การจัดตั้งองค์กรปฏิบัติ หน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบ การสั่งการในภาวะวิกฤตและแผนภูมิผังโครงสร้างศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทั้งนี้ โดยมีคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบด้านนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้บัญชาการ และผู้อำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับต่างๆ เป็นผู้รับผิดชอบนำนโยบายไปปฏิบัติ

2.3 การบริหารจัดการเพื่อเตรียมความพร้อม

(1) ด้านงบประมาณ

(1.1) ภาครัฐ รัฐวิสาหกิจใช้งบประมาณประจำปีในภาวะปกติหากเกิดการระบาดใหญ่จะใช้งบกลางของรัฐบาล

(1.2) ภาคเอกชน สามารถขอรับการสนับสนุนด้านวิชาการและการอำนวยความสะดวกจากภาครัฐ

(2) ด้านการประสานงาน

(2.1) กรณีภาวะปกติ คณะอนุกรรมการดำเนินการฯ ทำหน้าที่เป็นศูนย์อำนวยการ

(2.2) กรณีเกิดการระบาดใหญ่ คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติทำหน้าที่บัญชาการและแก้ไขปัญหา

2.4 บทบาทและหน้าที่หลักของหน่วยงาน ประกอบด้วย บทบาทหน้าที่และภารกิจหลักของหน่วยงานทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชนที่เกี่ยวข้องโดยสอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับที่ 2 ต่อการเตรียมความพร้อมเพื่อตอบสนองต่อภาวการณ์ระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่

3. ส่วนที่ 3 มีเนื้อหาเกี่ยวกับการดำเนินงานตาม (ร่าง) แผนปฏิบัติการแม่บทฯ ซึ่งประกอบด้วย

3.1 การนำเสนอเป้าหมายและระดับความรุนแรงของสถานการณ์ตามระยะการระบาดขององค์การอนามัยโลก ตั้งแต่ระยะก่อนการระบาดใหญ่ ระยะเตือนภัยการระบาดใหญ่ ระยะการระบาดใหญ่ และระยะหลังการระบาด เพื่อให้ทุกหน่วยงานได้เตรียมความพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ตามบทบาทหน้าที่ขงแต่ละหน่วยงาน

3.2 การกำหนดสถานการณ์สมมติ จะเป็นการกำหนดสถานการณ์สมมติที่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งมีทั้งหมด 16 สถานการณ์สมมติตามระยะและระดับการระบาดขององค์การอนามัยโลก พร้อมทั้งกำหนดรหัสสีเตือนภัย เพื่อตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ตามระยะการระบาดได้อย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ รายละเอียดของแนวทางปฏิบัติจะสอดคล้องกับระดับและระยะการระบาดขององค์การอนามัยโลก โดยกำหนบทบาทหน้าที่เป็น 8 ภารกิจหลัก ได้แก่ การประสานสั่งการ การเตรียมพร้อมด้านปศุสัตว์ การเตรียมพร้อมด้านสาธารณสุข การสื่อสารประชาสัมพันธ์ การคมนาคม ขนส่ง เดินทางและการข้ามแดน การรักษาความมั่นคงและบรรเทาทุกข์ ความร่วมมือพหุพาคีและความร่วมมือระหว่างประเทศ และการรักษาความต่อเนื่องของบริการสาธารณะและธุรกิจ

ในแต่ละภารกิจการตอบสนองประกอบด้วยมาตรการหลัก หน่วยงานรับผิดชอบ และกฎระเบียบ/กฎหมาย/แนวทางปฏิบัติ ในแต่ละสถานการณ์สมมติ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโรคในปัจจุบัน โดยองค์การอนามัยโลกประกาศจัดระดับการระบาดไว้ที่ระดับ 3 ดังนั้น (ร่าง) แผนปฏิบัติการแม่บทฯ ฉบับนี้จึงเริ่มจากระยะเตือนภัยการระบาดใหญ่ (Pandemic alert period) ระดับ 3 : มีการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในคน แต่ยังไม่มีการติดต่อจากคนสู่คน หรือมีโอกาสน้อยมากที่จะติดต่อไปยังผู้สัมผัสใกล้ชิด โดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด โดยแนวคิดการกำหนดสถานการณ์สมมติในประเทศไทยได้กำหนดสถานการณ์สมมติที่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการนำการตอบสนองตามสถานการณ์สมมติระดับต่าง ๆ ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงทีตามสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงอาจแตกต่างไปบ้างจากที่ได้จัดทำไว้ หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปปรับใช้ได้ตามความเหมาะสม

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 เมษายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ