รายงานการตรวจติดตามสถานการณ์ การบริหารจัดการและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 29, 2009 15:12 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานการตรวจติดตามสถานการณ์ การบริหารจัดการและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานว่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายชาติชาย พุคยาภรณ์) ได้เดินทางไปตรวจติดตามสถานการณ์การบริหารจัดการน้ำ การปลูกพืชฤดูแล้งและเรื่องอื่นๆ ในพื้นที่จังหวัด สุโขทัย เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2552 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1. สถานที่ตรวจสถานการณ์

1.1 ฟังบรรยายสรุปสถานการณ์ภัยแล้ง การบริหารจัดการน้ำ การปลูกพืชฤดูแล้ง และเป็นประธานในพิธีเปิดการทำบัญชีสู่วิถีพอเพียงของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ณ วิทยาลัยเกษตรกรรมและเทคโนโลยี อำเภอสวรรคโลก

1.2 เยี่ยมชมโครงการเกษตรอินทรีย์ของบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด บริเวณพื้นที่ท่าอากาศยานจังหวัดสุโขทัย

1.3 เยี่ยมชมกิจกรรมการพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตเกษตรกรสมาชิก และมอบหนังสือแสดงการทำประโยชน์ในที่ดินนิคมสหกรณ์ (กสน. 5) ณ สหกรณ์นิคมศรีสำโรง อำเภอศรีสำโรง

1.4 ตรวจเยี่ยมศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ณ ศูนย์บริการวิชาการ ด้านพืชและปัจจัยการผลิตสุโขทัย

1.5 เยี่ยมชมสวนผลไม้ตัวอย่างของนายจำลอง เทียนบุตร ตำบลเมืองบางยม อำเภอสวรรคโลก

1.6 ตรวจเยี่ยมการผลิตและแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรของสหกรณ์ และเยี่ยมชมกิจกรรมของกลุ่มอาชีพสมาชิกสหกรณ์แปรรูปกล้วยตำบลหนองตูม จำกัด อำเภอกงไกลาส

2. สถานการณ์การบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2551 / 52

2.1 ปริมาณน้ำต้นทุน ในช่วงฤดูแล้งของจังหวัดมีปริมาณน้ำต้นทุนจาก

(1) แหล่งน้ำเก็บกักน้ำขนาดกลาง จำนวน 35 แห่ง

(2) แม่น้ำยม ปริมาณน้ำเฉลี่ยต่อปี 2,600 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) สามารถเก็บน้ำได้ 23 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีน้ำ 2.65 ล้าน ลบ.ม.

(3) แหล่งน้ำใกล้เคียง ได้แก่ การผันน้ำจากแม่น้ำปิง 90 ล้าน ลบ.ม. และจากแม่น้ำน่าน 120 ล้านลบ.ม.

2.2 เป้าหมายกิจกรรมการใช้น้ำ น้ำต้นทุนตามข้อ 2.1 ดังกล่าวได้มีการวางแผนเพื่อสนับสนุนกิจกรรมการใช้น้ำในจังหวัดสุโขทัย ดังนี้ (1) การใช้น้ำเพื่อการเกษตร (2) การใช้น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค

3. สถานการณ์การปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2551/52

2.3.1 คณะกรรมการวางแผนและส่งเสริมการปลูกพืชฤดูแล้ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายการปลูกพื้นฤดูแล้งในจังหวัด รวม 490,000 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 424,800 ไร่ (ร้อยละ 86.7) และพืชไร่ — พืชผัก 65,200 ไร่ (ร้อยละ 13.3)

2.3.2 พื้นที่ปลูกจริง จากการสำรวจ ณ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2552 พบว่า เกษตรกรมีการปลูกพืชฤดูแล้งทั้งจังหวัด รวม 596,071 ไร่ โดยเป็นพื้นที่ข้าวนาปรัง 534,002 ไร่ (ร้อยละ 109 ของเป้าหมาย) และพืชไร่-พืชผัก 62,069 ไร่ (ร้อยละ 95.2 ของเป้าหมาย)

4. การให้ความช่วยเหลือสนับสนุนการปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2551/52

4.1 กรมชลประทานได้เตรียมเครื่องสูบน้ำ 12 เครื่อง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการเพาะปลูก

4.2 จังหวัดและกรมชลประทานได้เตรียมรถบรรทุกน้ำเพื่อช่วยเหลือประชาชน 78 คัน

4.3 ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนล่างได้ขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงส่งผลให้ฝนตกในจังหวัดสุโขทัย จำนวน 1 วัน ในอำเภอเมืองสุโขทัย ปริมาณฝนรวม 6.6 มิลลิเมตร

5. แผนเตรียมรับสถานการณ์ภัยแล้ง จังหวัดสุโขทัย

จังหวัดสุโขทัยได้ประกาศพื้นที่ภัยแล้งครบทุกอำเภอ (9 อำเภอ) 83 ตำบล 810 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่เป็นสภาวะขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรเพียงบางส่วน โดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ได้เตรียมแผนเพื่อรับสถานการณ์ภัยแล้วดังกล่าวด้วยแล้ว

6. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายชาติชาย พุคยาภรณ์) ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรให้เต็มความสามารถและขอให้ผู้ตรวจราชการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เขตที่ 17 ประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยพิจารณาว่าในระดับจังหวัดจะต้องแก้ไขปัญหาอย่างไร รวมทั้งในระดับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะต้องแก้ไขปัญหาอย่างไรให้รีบดำเนินการโดยด่วน และให้ศึกษาเรื่องนี้ถ้าเป็นกรณีที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะต้องแก้ไขปัญหาในระดับรัฐบาลก็สามารถนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 เมษายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ