สถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ที่ระบาดในประเทศเม็กซิโก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 29, 2009 15:16 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ที่ระบาดในประเทศเม็กซิโก ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอดังนี้

ด้วย องค์การอนามัยโลกได้รายงานการระบาดของโรคปอดบวมในประเทศเม็กซิโก ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2552 และทวีความรุนแรงมากขึ้นในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งเมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา พบผู้ป่วยมากกว่า 854 ราย เสียชีวิต 59 ราย ซึ่งผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ ณ วันที่ 26 เมษายน 2552 ได้รับการยืนยันว่า มีสาเหตุเกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิด A สายพันธุ์ H1N1 เป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ของคน ที่มีสายพันธุกรรมของเชื้อไข้หวัดใหญ่ในหมูผสมอยู่ด้วย จำนวน 18 ราย ต่อมามีการพบผู้ป่วยยืนยันในประเทศสหรัฐอเมริกาอีก 20 ราย ที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่เดียวกัน ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย 7 ราย มลรัฐเท็กซัส 2 ราย ซึ่งทั้ง 2 รัฐนี้มีชายแดนติดกับประเทศเม็กซิโก มลรัฐนิวยอร์ค 8 ราย มลรัฐแคนซัส 2 ราย มลรัฐโอไฮโอ 1 ราย แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต

ข้อมูลเบื้องต้นจากการสอบสวนโรค บ่งชี้ว่า การระบาดในขณะนี้เป็นการติดต่อจากคนสู่คน และมีผู้เสียชีวิต ทำให้เกิดความกังวลว่าอาจเกิดการระบาดใหญ่ขยายตัวไปประเทศอื่น องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในเม็กซิโก เป็นภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศแล้ว เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา และแจ้งเตือนให้ทุกประเทศเพิ่มระดับความเข้มข้นของการเฝ้าระวังการระบาดที่ผิดปกติของกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่และปอดอักเสบชนิดรุนแรง แต่ยังไม่แนะนำให้จำกัดการเดินทางหรือการค้าระหว่างประเทศ

ในการนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดมาตรการและการดำเนินการ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน ดังนี้

1. เร่งรัดและเพิ่มระดับความเข้มข้นการเฝ้าระวังโรค ให้ครอบคลุมกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่และปอดอักเสบรุนแรง โดยจัดทำแนวทางปฏิบัติเผยแพร่ให้กับหน่วยงานสถานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ และทีมเฝ้าระวังและสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) มากกว่า 1,030 ทีม ครอบคลุมทุกอำเภอ จังหวัด เพื่อดำเนินการค้นหาผู้ป่วย ตรวจจับการระบาดได้อย่างรวดเร็ว และ ควบคุมได้ทันท่วงที

2. เตรียมพร้อมด้านการตรวจยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการ เพื่อให้สามารถตรวจเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่และยืนยันได้ภายใน 4 ชั่วโมง จำนวน 14 แห่ง มีรถตรวจเคลื่อนที่ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 6 คัน เชื่อมโยงเครือข่ายการชันสูตรทางห้องปฏิบัติการกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและศิริราชพยาบาล รวมทั้งองค์การอนามัยโลกและศูนย์ความร่วมมือไทย — สหรัฐ ด้านสาธารณสุข

3. เตรียมความพร้อมด้านการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วย จัดทำแนวทางการคัดกรองผู้ป่วยและการรักษาพยาบาล ให้โรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขได้จัดให้มีห้องแยกเพื่อดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งไว้พร้อมแล้ว

4. สำรองเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ ประเทศไทยได้ทำการสำรองยาต้านไวรัสไว้เพื่อวัตถุประสงค์ในการรักษาและป้องกันโรค โดยมีความมั่นใจว่า เพียงพอต่อการระบาดของโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระยะแรกของการระบาด ซึ่งหากการระบาดของโรคขยายวงกว้างขึ้นภายในประเทศ กระทรวงสาธารณสุขก็พร้อมที่จะเพิ่มกำลังการผลิตสูงสุดเพื่อให้ได้เป้าหมายเพียงพอต่อความต้องการ

5. การให้ข้อมูลประชาชน เพื่อให้รู้สถานการณ์ที่ถูกต้องและ วิธีการป้องกันโรค กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำคำแนะนำประชาชนในการดูแลสุขภาพเผยแพร่ทางเว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข (www.moph.go.th) และ สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ (http:// beid.ddc.moph.go.th) รวมทั้งให้บริการ Call Center หมายเลขโทรศัพท์ 02 — 590 3333 ตลอด 24 ชั่วโมง

6. การตรวจผู้โดยสารที่เดินทางมาจากต่างประเทศ กรมควบคุมโรค ได้ติดตั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ (Thermo Scan) ที่สนามบินนานาชาติ จังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ และที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อคัดกรองผู้โดยสารที่มีอาการไข้ โดยจะดูแลผู้เดินทางให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด รวมทั้งได้แจกคำเตือนสุขภาพสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในประเทศจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค คือ เม็กซิโก อเมริกา และ แคนาดา

นอกจากนี้ เพื่อให้มีการประสานความร่วมมือทุกภาคส่วน กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการแต่งตั้ง คณะกรรมการอำนวยการ ป้องกัน ควบคุม แก้ไขสถานการณ์โรคไข้หวัดนก และการเตรียมพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ โดยปรับองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ ให้เป็นปัจจุบัน และขอความร่วมมือทุกภาคส่วนดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 เมษายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ