คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการเดินทางไปปฏิบัติราชการ ณ ประเทศญี่ปุ่นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ
ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นางพรทิวา นาคาศัย) ได้เดินทางเยือนนครโอซากา เมืองนาโงย่า และกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 21-26 เมษายน 2552 เพื่อชี้แจงสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศไทย ขยายผลและติดตามผลการหารือในการขยายการค้าระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนญี่ปุ่น ตลอดจนการส่งเสริมและผลักดันการขยายการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดญี่ปุ่นนั้น โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. การหารือกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อขยายความร่วมมือทางการค้า
1.1. การหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (H.E. Mr. Toshihiro Nikai) เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2552 ทั้งสองฝ่ายเห็นความสำคัญของความร่วมมือและประโยชน์ที่ได้รับจากข้อตกลง การค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) โดยฝ่ายญี่ปุ่นได้ขอให้รัฐบาลไทยเร่งให้สัตยาบันต่อความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์จากความตกลงดังกล่าวเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ซึ่งความตกลงได้เริ่มมีผลใช้บังคับแล้วเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2551 โดยผลใช้บังคับของความตกลงฯ จะก่อให้เกิดผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและในภูมิภาค เนื่องจากจะสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายธุรกิจในภูมิภาคที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูง ซึ่งฝ่ายไทยแจ้งว่ากำลังเร่งดำเนินการ โดยคาดว่าจะสามารถมีผลใช้บังคับได้ในเดือนมิถุนายน 2552 นี้
1.2. การหารือกับประธาน JETRO (Mr. Michitaka Nakatomi, President) เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2552 ฝ่ายไทยได้ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศ และขอความร่วมมือให้ JETRO สื่อสารให้นักธุรกิจชาวญี่ปุ่นทราบต่อไป ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นโดย JETRO ได้ตกลงจะสื่อสารข้อเท็จจริงให้นักธุรกิจญี่ปุ่นทราบและจะมีการเผยแพร่ผ่านทางอินเตอร์เน็ตด้วย นอกจากนี้ ฝ่ายไทยได้ขอให้ฝ่ายญี่ปุ่นขยายการดำเนินโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่นๆ ภายใต้ JTEPA ต่อไป นอกเหนือจากโครงการครัวไทยสู่ครัวโลกและโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาสิ่งทอไทยซึ่งได้มีผลการดำเนินงานเป็นรูปธรรมแล้ว
2. การสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักธุรกิจญี่ปุ่นในด้านการค้าและการลงทุนในประเทศไทย
2.1. การหารือร่วมกับประธานกรรมการ Thai-Japan Trade and Economic Committee, KEIDANREN เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2552 ฝ่ายญี่ปุ่นได้แสดงความกังวลใจต่อสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งฝ่ายไทยได้ให้ความมั่นใจต่อนักธุรกิจญี่ปุ่นว่า รัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขและทำให้สถานการณ์กลับคืนสู่สภาวะปกติอย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากนัก โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ซึ่งรัฐบาลถือเป็นวาระแห่งชาติที่จะต้องฟื้นฟูความมั่นใจของนักท่องเที่ยวอย่างรวดเร็ว และเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันเพื่อฝ่าฟันสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ขอให้ประธานและกรรมการได้ชี้แจงสถานการณ์ที่ถูกต้องให้สมาชิกทราบด้วย
2.2. การจัดประชุมหารือกับผู้บริหารหน่วยงานด้านเศรษฐกิจการค้าในแถบคันไซ (KANKEIREN) รวมทั้งกลุ่มผู้นำเข้า และนักลงทุนในประเทศไทย ในวันที่ 22 เมษายน 2552 ณ นครโอซากา ทั้งฝ่ายไทยและญี่ปุ่นได้เห็นพ้องร่วมกันในการขยายความร่วมมือในด้านต่างๆ ซึ่งแต่ละฝ่ายมีศักยภาพ อาทิ การพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับด้านสิ่งแวดล้อม และด้านธุรกิจบริการ เป็นต้น
2.3. การหารือร่วมกับผู้นำเข้าสินค้าไทยรายใหญ่ในญี่ปุ่น ในวันที่ 22 เมษายน 2552 ณ นครโอซากา และเมืองนาโงย่า รวม 4 กลุ่ม ได้แก่
1) กลุ่มผู้นำเข้าผักผลไม้สดรายใหญ่ ได้แก่ บริษัท Showa Boeki Co., Ltd. และบริษัท Royal Co., Ltd.
2) กลุ่มผู้บริหารสมาคมผู้นำเข้าสิ่งทอแห่งประเทศญี่ปุ่นหรือ Japan Textile Importer Association อาทิ บริษัท Itochu Corporation, บริษัท Unit Mitsui & Co., Ltd., บริษัท Nomura Trading, บริษัท N.I. Teijin Shoji Co., Ltd., และบริษัท Chori Co., Ltd. เป็นต้น
3) กลุ่มผู้นำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ได้แก่ บริษัท Panasonic Electric Works Co., Ltd. บริษัท Panasonic Corporation, และบริษัท Sharp Co., Ltd.
4) กลุ่มผู้บริหารบริษัทโตโยต้า
โดยฝ่ายไทยได้ชี้แจงสถานการณ์การเมืองของไทยและให้ความมั่นใจว่าสถานการณ์ต่างๆ เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว และขอความร่วมมือให้บริษัทฯ รักษาปริมาณการนำเข้าสินค้าจากไทย และช่วยผลักดันการจำหน่ายสินค้าไทยมากขึ้น ซึ่งทางฝ่ายญี่ปุ่นได้อธิบายภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ตกต่ำให้ทราบ และรับปากว่าจะพยายามรักษาระดับการนำเข้าจากไทย สำหรับบริษัทที่มีฐานการผลิตในประเทศไทย อาทิ บริษัทชาร์ปได้ยืนยันว่ายอดการจำหน่ายสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยยังคงขยายตัวและไม่มีนโยบายลดการจ้างแรงงานในประเทศไทย
2.4. การจัดประชุมชี้แจงสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าของไทยในปัจจุบันแก่นักธุรกิจญี่ปุ่น ในวันที่ 25 เมษายน 2552 ณ กรุงโตเกียว โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมทั้งประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศ (นายประมนต์ สุธีวงศ์) ประธานคณะกรรมการกิจการทั่วไปของหอการค้าญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย (Mr. Yasuo Kuroda) ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษ และมีนักธุรกิจผู้นำเข้าและนักลงทุนสนใจเข้าร่วมฟังรวม 170 คน ทั้งนี้ สาระสำคัญ ได้แก่ การชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ความวุ่นวายการเมืองที่เกิดขึ้น นโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่รัฐบาลเน้นให้เกิดความสมานฉันท์โดยใช้หลักนิติธรรม นโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ โอกาสสำหรับนักลงทุนและนักธุรกิจที่จะเกิดขึ้นจาก AJCEP ซึ่งคาดว่าจะมีผลใช้บังคับในเดือนมิถุนายนนี้ และการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตลอดจนการให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในด้านการค้าการลงทุนอย่างเต็มที่ของรัฐบาลไทย
2.5. การให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนญี่ปุ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ชี้แจงให้สื่อมวลชนทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศไทยว่า ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตการส่งออกของไทยรวมทั้งการดำเนินธุรกิจหรือการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ และนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาที่มุ่งเน้นส่งเสริมการปฏิรูปการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายโดยใช้หลักนิติธรรม โดยขอให้เชื่อมั่นต่อการดำเนินงานของรัฐบาลว่าจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ สื่อมวลชนญี่ปุ่นที่ได้ให้สัมภาษณ์ ได้แก่ ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ Tokyo MAX รายการ World Today (โดย JETRO Weekly News) หนังสือพิมพ์ NIKKEI และหนังสือพิมพ์ ASEAN Economic News
3. การส่งเสริมและผลักดันการขยายการส่งออกสินค้าไทยและธุรกิจบริการไทยในญี่ปุ่น
3.1. การส่งเสริมโครงการครัวไทยสู่โลก
3.1.1. มีการมอบรางวัล Thai Select แก่ผู้ประกอบการร้านอาหารไทย ณ นครโอซากา จำนวน 17 ร้าน เพื่อส่งเสริมการยกระดับคุณภาพมาตรฐานร้านอาหารไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ปัจจุบันมีภัตตาคารอาหารไทยในญี่ปุ่นประมาณ 700 ร้าน ได้รับเครื่องหมาย Thai Select ประมาณ 100 ร้าน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินโครงการครัวไทยสู่โลกอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นทั่วโลก ปัจจุบันมีภัตตาคารไทยประมาณ 13,100 แห่งทั่วโลก และได้รับเครื่องหมาย Thai Select จำนวน 1,200 ร้าน
3.1.2. มีการประชุมหารือกับผู้ประกอบการเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ อาทิการเจรจาเพิ่มโควต้านำเข้าข้าวของญี่ปุ่น และการแก้ไขปัญหาขาดแคลนพ่อครัวแม่ครัวที่มีคุณภาพ เป็นต้น
3.1.3. กระทรวงพาณิชย์โดยกรมส่งเสริมการส่งออก ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับสถาบันซึทจิ ซึ่งเป็นสถาบันสอนทำอาหารชั้นนำในโอซากา (Tsuji Academy, Cooking & Confectionery Vocational School) ในการร่วมกันจัดทำหลักสูตรสอนทำอาหารไทยเพื่อเพิ่มจำนวนพ่อครัวแม่ครัวอาหารไทยที่มีคุณภาพในญี่ปุ่น
3.2. การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าไทยร่วมกับบริษัทอิออน (หรือห้างจัสโก้) จำนวน 230 สาขาทั่วประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในปีนี้ จะมีการนำเข้าสินค้าไทยมาจำหน่ายในห้างฯ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 30 คิดเป็นมูลค่า 48.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1,700 ล้านบาท) และยังได้วางแผนการขยายการนำเข้าเป็น 53 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1,900 ล้านบาท) ในปี 2553 ทั้งนี้ บริษัทอิออนจะจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าไทยอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ บริษัทฯ มีโครงการจะย้ายฐานการผลิตสินค้าในตราของห้างฯ คือ TopValu มายังประเทศไทยอีกหลายชนิด เช่น ผักผลไม้แปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไก่แปรรูป อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน เป็นต้น เนื่องจากประเทศไทย มีศักยภาพด้านคุณภาพมาตรฐานการผลิตและความปลอดภัยในอาหาร ทั้งนี้ ในอนาคตคาดว่าจะมีการผลิตสินค้าอุปโภคจำนวน 150 ชนิดและสินค้าอาหาร 40 ชนิด
4. บทสรุปและข้อคิดเห็น
4.1 การเดินทางเยือนญี่ปุ่นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในครั้งนี้ ได้สร้างความเข้าใจ และความเชื่อมั่นต่อระบบการเมือง และเศรษฐกิจของไทยแก่นักธุรกิจ และภาครัฐของญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก ซึ่งหากรัฐบาลสามารถรักษาเสถียรภาพทางการเมือง และควบคุมสถานการณ์ให้สงบต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง โดยดำเนินการแจ้งข้อมูลที่ถูกต้องแก่ต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าความเชื่อมั่นทางการค้าและการลงทุนกับไทยจะกลับสู่ระดับเดิมอย่างแน่นอน
4.2 การเดินทางเยือนครั้งนี้ เป็นการส่งเสริมและเร่งรัดการส่งออกสินค้าไทยสู่ตลาดญี่ปุ่น โดยช่วยกระตุ้นการใช้ประโยชน์จากการลงนามความตกลงการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) อย่างเต็มที่มากขึ้น และเพื่อให้ไทยสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ได้เช่นเดียวกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ เห็นควรเร่งรัดกระบวนการนำประกาศลด/ ยกเลิกภาษีภายใต้ AJCEP ของกระทรวงการคลังลงใน พระราชกิจจานุเบกษา และให้กระทรวงการต่างประเทศแจ้งต่อประเทศภาคีภายในวันที่ 30 เมษายน 2552 เพื่อให้ความตกลงฯ มีผลใช้บังคับ ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2552 ซึ่งขณะนี้ร่างประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวได้ผ่าน ความเห็นชอบจากคณะกรรมการตรวจร่างกฎหมายแล้ว รอเพียงการยืนยันจากกระทรวงการคลังในการนำประกาศลงในพระราชกิจจานุเบกษา
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 เมษายน 2552 --จบ--