ร่างพิธีสารฉบับที่ 3 เพื่อแก้ไขสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พ.ศ. 2519

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 7, 2009 12:34 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างพิธีสารฉบับที่ 3 เพื่อแก้ไขสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พ.ศ. 2519

และการภาคยานุวัติสนธิสัญญาฯ โดยสหภาพยุโรป ตุรกี และสหรัฐอเมริกา

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ทั้ง 3 ข้อ ดังนี้

1. เห็นชอบร่างพิธีสารฉบับที่ 3 เพื่อแก้ไขสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พ.ศ. 2519 และให้เสนอรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามในพิธีสารฯ ในช่วงการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2552 ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ

2. เห็นชอบ

2.1 ร่างสารขยายจำนวนภาคีในสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำหรับสหภาพยุโรป

2.2 ร่างสารขยายจำนวนภาคีในสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำหรับตุรกี และ

2.3 ร่างสารขยายจำนวนภาคีในสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำหรับสหรัฐอเมริกา รวม 3 ฉบับ โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลงนามในสารขยายจำนวนภาคีฯ ดังกล่าว ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน วันที่ 20 กรกฎาคม 2552 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ

3. ให้กระทรวงการต่างประเทศแก้ไขร่างพิธีสารตามข้อ 1 และร่างสารขยายจำนวนภาคีฯ รวม 3 ฉบับ ตามข้อ 2 ที่ไม่ใช่สาระสำคัญได้ตามความจำเป็น โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า

1. ได้มีสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พ.ศ. 2519 ซึ่งจัดทำขึ้นโดยประเทศสมาชิกอาเซียน 5 ประเทศ (อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย) เพื่อกำหนดหลักการดำเนินความสัมพันธ์ในภูมิภาค ได้แก่ การเคารพในอำนาจอธิปไตย ความเสมอภาค และบูรณภาพแห่งดินแดน การไม่แทรกแซงกิจการภายใน การแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี การไม่ใช้หรือขู่ว่าจะใช้กำลัง และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน รวมทั้งมาตรการเกี่ยวกับแนวทางการยุติข้อพิพาทโดยสันติวิธี อาศัยกลไกคณะอัครมนตรี เพื่อเป็นการเสริมสร้างความมั่นใจในภูมิภาค

2. ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่กรุงมะนิลา วันที่ 30 กรกฎาคม 2550 ในช่วงฟิลิปปินส์เป็นประธานอาเซียนได้ตกลงให้มีการจัดทำพิธีสาร ฉบับที่ 3 แก้ไขสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฯ เพื่อให้องค์ภาวะที่มิใช่รัฐ เช่น สหภาพยุโรป สามารถภาคยานุวัติสนธิสัญญาฯ ได้ และที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ วันที่ 27 กุมภาพันธ 2552 ที่อำเภอชะอำ หัวหิน ได้มีมติให้ประเทศสมาชิกอาเซียนเร่งรัดการจัดทำพิธีสารฉบับที่ 3 ฯ ดังกล่าว เพื่อให้สหภาพยุโรปสามารถภาคยานุวัติสนธิสัญญาฯ ซึ่งการแก้ไขพิธีสารฯ ดังกล่าว จะต้องได้รับความเห็นชอบจากภาคีปัจจุบัน 25 ประเทศ ได้แก่ ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ (รวมประเทศไทยด้วย) ออสเตรเลีย บังคลาเทศ จีน สาธารณรัฐเกาหลี ฝรั่งเศส อินเดีย ญี่ปุ่น มองโกเลีย นิวซีแลนด์ ปากีสถาน ปาปัวนิวกินี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี รัสเซีย ศรีลังกา และติมอร์เลสเต นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบในหลักการต่อภาคยานุวัติโดยสาธารณรัฐตุรกีและสหรัฐอเมริกา

3. ประเทศไทยและอาเซียนมีท่าทีสนับสนุนการภาคยานุวัติสนธิสัญญาฯ โดยรัฐนอกภูมิภาคมาโดยตลอด ทั้งนี้ เห็นได้จากจำนวนภาคีที่มาจากภูมิภาค 15 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่มีสถานะเป็นประเทศคู่เจรจาของอาเซียน และ/หรือเป็นสมาชิกในการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum-ARF) ซึ่งการภาคยานุวัติสนธิสัญญาฯ ของประเทศเหล่านี้เป็นการส่งสัญญาณอันเป็นมิตรในการเคารพในหลักการสำคัญของอาเซียนที่ระบุในกฎบัตรอาเซียน ได้แก่ การเคารพเอกราช อธิปไตย ความเสมอภาค บูรณภาพแห่งดินแดน และ อัตลักษณ์ การไม่แทรกแซงกิจการภายใน ตลอดจนการระงับข้อพิพาทโดยสันติ

4. ปัจจุบันมีสหภาพยุโรป สาธารณรัฐตุรกี และสหรัฐอเมริกา แสดงเจตจำนงที่จะภาคยานุวัติสนธิสัญญาฯ โดยรัฐนอกภูมิภาคสามารถดำเนินการได้ตามสนธิสัญญาฯ เมื่อรัฐในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 10 ประเทศ ซึ่งเป็นรัฐสมาชิกอาเซียนให้ความเห็นชอบแล้ว

5. ดังนั้น เมื่อคำนึงถึงความสัมพันธ์อันดี ไทยจึงควรสนับสนุนการภาคยานุวัติสนธิสัญญาฯ โดยสหภาพยุโรป สาธารณรัฐตุรกี และสหรัฐอเมริกา แต่สำหรับสหภาพยุโรปจะสามารถกระทำได้ต่อเมื่อมีการจัดทำพิธีสารฉบับที่ 3 ฯ ก่อน

6. โดยที่ร่างพิธีสารฉบับที่ 3 ฯ มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขสนธิสัญญาฯ โดยกำหนดเงื่อนไขในการภาคยานุวัติ และการระงับข้อพิพาทในระดับภูมิภาค จึงเห็นว่า นัยของข้อบทเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทดังกล่าวอาจ “มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง” ตามมาตรา 190 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่สำหรับสารขยายจำนวนภาคีสำหรับสหภาพยุโรป สาธารณรัฐตุรกี และสหรัฐอเมริกา เป็นการเห็นชอบร่วมกันของรัฐสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ เพื่อรับภาคีใหม่ในสนธิสัญญาฯ จึงเห็นว่าไม่น่าจะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

อนึ่ง เพื่อธำรงไว้ซึ่งความเป็นศูนย์รวมและบทบาทเชิงรุกของอาเซียนในฐานะพลังขับเคลื่อนหลักในความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับหุ้นส่วนนอกภูมิภาค เช่น สหภาพยุโรป ดังนั้น ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 16 ซึ่งเป็นการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ วันที่ 23 กรกฎาคม 2552 จึงเป็นโอกาสอันเหมาะสมที่จะให้มีการลงนามพิธีสารฯ ดังกล่าว จึงได้เสนอเรื่องดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ

สาระสำคัญของเรื่อง

1. ร่างสนธิสัญญาฉบับที่ 3 ฯ เป็นการแก้ไขสนธิสัญญาฯ เพื่อเปิดให้องค์การระดับภูมิภาคที่มีสมาชิกที่เป็นรัฐอธิปไตยสามารถภาคยานุวัติสนธิสัญญาฯ ได้หากได้รับความเห็นชอบจากรัฐในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 10 ประเทศ และให้ใช้กลไกการระงับข้อพิพาทของสนธิสัญญาฯ กับภาคีนอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้โดยไม่จำกัดว่าภาคีนั้นจะต้องเป็นรัฐ

2. ร่างสารขยายจำนวนภาคีฯ เป็นการให้สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐตุรกี แสดงความประสงค์ที่จะภาคยานุวัติสนธิสัญญาฯ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 พฤษภาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ