กรอบการเจรจากู้เงินจากต่างประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 7, 2009 12:54 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติกรอบการเจรจากู้เงินจากต่างประเทศสำหรับโครงการ 3 โครงการ และให้นำเสนอรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบกรอบการเจรจากู้เงินดังกล่าว ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และมอบหมายให้กระทรวงการคลังดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่จะนำเสนอสัญญาเงินกู้และเอกสารที่เกี่ยวข้องให้รัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

1. ตามแผนการก่อหนี้จากต่างประเทศ ประจำปีงบประมาณ 2552 ภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2552 มีโครงการที่กำหนดใช้เงินกู้จากต่างประเทศอีก 4 โครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถลงนามในสัญญาเงินกู้กับแหล่งเงินกู้ต่างประเทศภายในปีงบประมาณ 2552 ดังนี้ (1) โครงการ ก่อสร้างทางสายหลักให้เป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) ของกรมทางหลวง (2) โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนนนทบุรี 1 ของกรมทางหลวงชนบท (3) โครงการปรับปรุงกิจการประปาแผนหลักครั้งที่ 8 ของการประปานครหลวง (4) โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

โดยกระทรวงการคลังมีพันธะที่จะต้องเสนอกรอบการเจรจากู้เงินโครงการ (1) (2) และ (3) ที่กล่าวข้างต้นให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติก่อนเสนอรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป และสำหรับโครงการ (4) เนื่องจากเป็นโครงการที่มีการดำเนินการเจรจาในรายละเอียดก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฯ ดังนั้น หลังจากเจรจาในร่างสัญญาเงินกู้และสัญญาค้ำประกันเงินกู้กับ JICA แล้ว จึงจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้กระทรวงการคลังกู้เงินจากรัฐบาลญี่ปุ่นผ่าน JICA ก่อนเสนอรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป

2. วัตถุประสงค์ในการกู้เงิน

(1) โครงการก่อสร้างทางสายหลักให้เป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) ของกรมทางหลวง มีวัตถุประสงค์ ดังนี้

  • เพื่อพัฒนาระบบทางหลวงให้มีประสิทธิภาพในการรองรับการจราจรให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นการขยายโครงสร้างพื้นฐานทางถนนให้เชื่อมต่อกันเป็นระบบ ทำให้ประชาชนสามารถใช้ในการเดินทางมากยิ่งขึ้น
  • เพื่อสนับสนุนการพัฒนาและเป็นตัวชี้นำการกระจายความเจริญไปสู่ชนบทและภูมิภาคต่าง ๆอย่างทั่วถึง
  • เพื่อพัฒนาส่งเสริมเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและขนส่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางถนนที่เชื่อมกับต่างประเทศในเชิงรุก รวมทั้งการเสริมสร้างศักยภาพของประเทศ

โครงการก่อสร้างทางสายหลักเป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) เป็นเส้นทางที่มีลักษณะต่อเชื่อมระหว่างภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบทางหลวงให้มีประสิทธิภาพในการรองรับการจราจรที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งส่งเสริมต่อการพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและขนส่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีเส้นทาง จำนวน 8 สายทาง รวมระยะทาง 433 กิโลเมตร ซึ่งมีเส้นทางยุทธศาสตร์ ดังนี้

  • เส้นทางสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) เป็นเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างประเทศเวียดนาม-ลาว-ไทย-พม่า เพื่อรองรับด้านการค้า บริการ และการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านในอนาคต และเป็นเส้นทางเชื่อมโยงการส่งสินค้าระหว่างท่าเรือด้านทะเลจีนใต้กับทะเลอันดามัน
  • เส้นทางสนับสนุนเชื่อมโยงเข้าสู่พื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard) เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและส่งสินค้าและวัตถุดิบระหว่างภาคต่าง ๆ กับท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด และแหล่งอุตสาหกรรมต่าง ๆ บริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก
  • เส้นทางสนับสนุนการเชื่อมโยงเข้าสู่พื้นที่เลียบชายฝั่งทะเลภาคใต้ด้านตะวันออกและด้านตะวันตก เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการลงทุนบริเวณพื้นที่ภาคใต้เพื่อให้การเดินทางสะดวกรวดเร็ว

(2) โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนนนทบุรี 1 ของกรมทางหลวงชนบท มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยในการพัฒนาโครงข่ายการเชื่อมโยงพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำ ให้เป็นทางเลือกของเส้นทางคมนาคม ในพื้นที่ 2 จังหวัด คือกรุงเทพมหานคร และนนทบุรีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยแบ่งเบาการจราจรบนสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีอยู่ในปัจจุบัน และยังเป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของประชาชน รวมทั้งช่วยปรับปรุงโครงข่าย เส้นทางคมนาคมในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครตอนบนและนนทบุรีให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้สามารถรองรับการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเขตชุมชน

(3) โครงการปรับปรุงกิจการประปาแผนหลักครั้งที่ 8 ของการประปานครหลวง มีวัตถุประสงค์ ดังนี้

  • เพื่อขยายกำลังการผลิตน้ำประปาจากน้ำผิวดินให้รองรับกับปริมาณความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นจากการขยายเขตบริหารจำหน่ายน้ำตามยุทธศาสตร์ด้านการตลาดและการบริหารจนถึงปี พ.ศ. 2560
  • เพื่อให้สถานีสูบจ่ายน้ำต่างๆ ในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาสามารถรับน้ำจากโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ได้พอเพียงโดยไม่ต้องรับน้ำจากโรงงานผลิตน้ำบางเขนที่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออก เนื่องจากปัจจุบันมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจในพื้นที่ฝั่งตะวันออกมากขึ้นและแหล่งอุตสาหกรรมหลายแหล่งที่ต้องการใช้น้ำเพิ่ม นอกจากนี้จะยังมีการรณรงค์เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำบาดาลของภาคเอกชนตามนโยบายของรัฐบาล อันเป็นการป้องกันปัญหาการเกิดแผ่นดินทรุดบริเวณรอบนอกกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
  • เพื่อก่อสร้างและปรับปรุงประสิทธิภาพการสูบจ่ายน้ำที่สถานีสูบจ่ายน้ำต่างๆ ให้มีความสามารถสูบจ่ายน้ำประปาได้ตามความต้องการของผู้ใช้น้ำตลอดเวลา
  • เพื่อก่อสร้างระบบท่อประปาให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น สามารถบริหารน้ำประปาแก่ประชาชนที่ยังไม่มีน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภคให้ทั่วถึงยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายขยายพื้นที่บริการน้ำประปาออกไปอีกประมาณ 200 ตารางกิโลเมตร
  • เพื่อลดและรักษาระดับน้ำสูญเสียให้อยู่ในเป้าหมายที่กำหนดร้อยละ 30 ด้วยการเปลี่ยนท่อประปาเก่าที่มีอายุการใช้งานมานานและแตกรั่วทำการบำรุงรักษายาก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพผิวจราจร การทรุดตัวของดินและไม่มีอุปกรณ์มาตรฐานในการซ่อมบำรุง รวมทั้งการรื้อย้ายและเพิ่มขนาดท่อประปาที่กีดขวางการก่อสร้างปรับปรุงถนนและหรือการก่อสร้างของหน่วยงานสาธารณูปโภคอื่น เช่น ไฟฟ้า โทรศัพท์ เป็นต้น รวมทั้งสนองนโยบายการห้ามขุดถนนของกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรีและจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อลดปัญหาการจราจร

3. กรอบวงเงินกู้

กำหนดกรอบวงเงินที่จะขอกู้เงินสำหรับ 3 โครงการประมาณ 311.43 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า 10,277.20 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น

(1) โครงการก่อสร้างทางสายหลักให้เป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) ของกรมทางหลวง กำหนดวงเงินที่จะขอกู้เงินจากธนาคารโลก และธนาคารพัฒนาเอเชีย ประมาณ 170.30 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า 5,620 ล้านบาท

(2) โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนนนทบุรี 1 ของกรมทางหลวงชนบท กำหนดวงเงินที่จะขอกู้เงินจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ประมาณ 80.52 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า 2,657.20 ล้านบาท

(3) โครงการปรับปรุงกิจการประปาแผนหลักครั้งที่ 8 ของการประปานครหลวง กำหนดวงเงินที่จะขอกู้เงินจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ประมาณ 60.61 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า 2,000 ล้านบาท

4. กรอบต้นทุนและระยะเวลาในการกู้เงินกำหนดกรอบในการกู้เงินโดยจะเจรจาให้ได้ต้นทุนเงินกู้ในระดับที่เหมาะสมและสอดคล้องกับภาวะตลาด และมีระยะเวลาการกู้เงินที่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลในอนาคต นอกจากนี้ ในการพิจารณาต้นทุนการกู้เงินจะใช้ต้นทุนที่ได้ทำการแปลงหนี้ต่างประเทศเป็นเงินบาท (Swap rate) แล้วเปรียบเทียบกับต้นทุนการกู้เงินในประเทศของรัฐบาลด้วย อย่างไรก็ดี การกู้เงินจากแหล่งเงินกู้ดังกล่าวมีต้นทุนการกู้เงินโดยเฉลี่ยต่ำกว่าการกู้เงินในประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีต้นทุนการกู้เงินสำหรับการออกพันธบัตรรัฐบาลอายุ 18 ปี อยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.46 ต่อปี (ณ วันที่ 20 เมษายน 2552) โดยมีต้นทุนการกู้เงินต่างประเทศประมาณร้อยละ 3.41-5.37 ต่อปี ภายใต้ระยะเงินกู้เฉลี่ยประมาณ 7-18 ปี

          แหล่งเงินกู้          ต้นทุนการกู้เงิน* (%)       อายุเงินกู้เฉลี่ย (ปี)
          ธนาคารโลก           3.87-5.37                  18
          ADB                   3.41                      7
          JICA                  3.89                     16

หมายเหตุ :* เป็นต้นทุนที่ได้ทำการแปลงหนี้ต่างประเทศเป็นหนี้เงินบาทแล้ว ณ วันที่ 20 เมษายน 2552

5. กรอบในการจัดซื้อจัดจ้าง

จะดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างภายใต้ระเบียบของแต่ละแหล่งเงินกู้

6. กรอบระยะเวลาในการเบิกจ่ายเงินกู้

กำหนดกรอบและระยะเวลาในการเบิกจ่ายเงินกู้ให้สอดคล้องกับการดำเนินโครงการของแต่ละโครงการ โดยจะเจรจาให้ได้เงื่อนไขที่เป็นประโยชน์สูงสุด

7. กรอบในการกำกับติดตามและการตรวจสอบการใช้จ่ายเงิน

กำหนดกรอบในการกำกับติดตามและการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินโดยให้มีการตรวจสอบและกำกับติดตามจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งแหล่งเงินกู้ของแต่ละโครงการ และให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเข้ามาตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างและการใช้จ่ายเงินของทุกโครงการ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 พฤษภาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ