การจัดสถานะประเทศไทยตามกฎหมายการค้าสหรัฐ ฯ มาตรา 301 พิเศษ ประจำปี 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 7, 2009 15:07 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการจัดสถานะประเทศไทยตามกฎหมายการค้าสหรัฐ ฯ มาตรา 301 พิเศษ ประจำปี 2552 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้

1. ภูมิหลัง

กฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ (Special 301) ได้กำหนดให้สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (United States Trade Representative — USTR) ประเมินสถานะการคุ้มครอง และการบังคับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้าสหรัฐฯ เป็นประจำทุกปี โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

(1) ประเทศที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามากที่สุด (Priority Foreign Country — PFC)

(2) ประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List — PWL)

(3) ประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List — WL)

สหรัฐฯ เคยจัดไทยไว้ในบัญชี PWL ในปี 2535 — 2536 ก่อนจะปรับเป็น WL ในปี 2537 — 2549 และปรับลดเป็น PWL ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน

2. ผลการจัดอันดับประจำปี 2552

2.1 สหรัฐฯ ได้ประกาศผลการจัดสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้า ตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ประจำปี 2552 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2552 โดยยังคงไทยเป็นประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) เช่นเดียวกับปี 2550 และ 2551 โดยให้เหตุผลว่าไทยยังมีสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ทั่วไป ทั้งเครื่องหมายการค้า และลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่สีแดง คือ พันธุ์ทิพย์ คลองถม มาบุญครอง พัฒน์พงศ์ และถนนสุขุมวิท แม้ว่าสหรัฐฯ จะตระหนักถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยภายใต้การบริหารงานของนายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ แต่ระยะเวลายังสั้นเกินไปที่จะปรับสถานะไทยให้ดีขึ้น

2.2 สหรัฐฯ ยังระบุในรายงานหวังว่าไทยจะปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวดเพื่อลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซีดี ซอฟต์แวร์ รายการเคเบิลทีวี และหนังสือ ตลอดจนแก้ปัญหาความล่าช้าในการจดทะเบียนสิทธิบัตร รวมทั้งยังขอให้ไทยคำนึงถึงความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิบัตรที่ส่งเสริมการพัฒนา คิดค้นยาจำเป็นชนิดใหม่ โดยสหรัฐฯ ยืนยันว่าเคารพสิทธิของไทยในการดำเนินนโยบายสาธารณสุขเพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าถึงยาจำเป็น และบังคับใช้สิทธิบัตรยาที่สอดคล้องกับความตกลงทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPS Agreement) ขององค์การการค้าโลก แต่ก็หวังว่าไทยจะพิจารณาแก้ไขปัญหาสาธารณสุขในเชิงที่ส่งเสริมการลงทุนวิจัยและพัฒนา

2.3 มีประเทศที่ถูกจัดเป็น PWL ในปีนี้ 12 ประเทศ คือ จีน รัสเซีย อัลจีเรีย อาร์เจนตินา แคนาดา ชิลี อินเดีย อินโดนีเซีย อิสราเอล ปากีสถาน เวเนซูเอลา และไทย เพิ่มขึ้นจาก 9 ประเทศในปี 2551 โดยเพิ่ม อัลจีเรีย แคนาดา และอินโดนีเซีย จากเดิมที่เป็นเพียง WL

2.4 มีประเทศที่ถูกจัดเป็น WL ในปีนี้ 33 ประเทศ เช่น บราซิล มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ฟินแลนด์ โปแลนด์ และเม็กซิโก เป็นต้น โดยอียิปต์ เลบานอน ตุรกี และ ยูเครน ถูกถอดจาก PWL เป็น WL เนื่องจากมีพัฒนาการดีขึ้น ในขณะที่บรูไนและฟินแลนด์ถูกจัดเป็น WL เป็นครั้งแรก

2.5 ในปีนี้ เกาหลี และไต้หวัน ได้ถูกถอดออกจากบัญชี WL และไม่ถูกจัดในบัญชีใดเลย เนื่องจากมีความคืบหน้าในการปรับปรุงระบบการคุ้มครองและบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเห็นเด่นชัดตลอดปีที่ผ่านมา แต่สหรัฐฯ ระบุว่าจะยังคงติดตามผลการแก้ไขปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ทางสื่ออินเตอร์เน็ตในเกาหลีอย่างใกล้ชิด และอาจจัดไว้ในบัญชี WL อีกครั้ง หากปัญหาดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม

3. ความเห็นกระทรวงพาณิชย์

3.1 การจัดอันดับประเทศคู่ค้าตามมาตรา 301 พิเศษ คือมาตรการฝ่ายเดียวที่สหรัฐฯ ใช้กดดันให้ประเทศคู่ค้าปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่สร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมสหรัฐฯ โดยข้อมูลที่ใช้ในการประเมินส่วนใหญ่มาจากภาคเอกชน เช่น อุตสาหกรรมยา ซอฟต์แวร์ เคเบิลทีวี ภาพยนตร์ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น ดังนั้นแม้ไทยจะดำเนินการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มแข็งขึ้น และได้แจ้งข้อมูลตัวเลขการปราบปรามในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยดำเนินคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญารวม 1,345 คดี ยึดของกลางได้กว่า 1,126,474 ชิ้น ยึดได้เฉลี่ย 865.69 ชิ้นต่อคดี เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ถึง 50% ให้สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ทราบ พร้อมทั้งชี้แจงข้อกล่าวหาของภาคเอกชนสหรัฐฯ ในหลายโอกาส แต่สหรัฐฯ ก็ยังคงใช้ข้อมูลของปี 2551 เป็นหลัก และต้องการติดตามผลการดำเนินการของไทยในระยะยาว

3.2 อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ เริ่มตระหนักถึงความจริงจังและมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายด้านการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งการปราบปรามการละเมิดอย่างเข้มงวด มีผลเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งกำหนดให้ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นวาระแห่งชาติ นอกจากจะช่วยพัฒนาไทยไปสู่เศรษฐกิจบนพื้นฐานการสร้างสรรค์ (Creative Economy) ที่จะเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของไทย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและประชาคมโลกแล้ว ยังจะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ และความมั่นใจของสหรัฐฯ ต่อการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไทยด้วย

3.3 คณะอนุกรรมการด้านการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มแข็งต่อไป และจะส่งข้อมูลความคืบหน้าในการดำเนินการแก่สำนักงานผู้แทนการค้า และภาคเอกชนสหรัฐฯ ทราบเป็นระยะ ซึ่งน่าจะช่วยสร้างความเข้าใจที่ดีขึ้น และส่งผลให้ไทยได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้นในปี 2553

3.4 สหรัฐฯ เป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 5 ของไทย รองจากอาเซียน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และจีน ในปี 2551 มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 31,665.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยไทยเป็นประเทศที่ใช้สิทธิ GSP ในการส่งสินค้าไปยังสหรัฐฯ มากเป็นอันดับที่ 2 รองจากอินเดีย คือ 3,520 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และในปีนี้ไทยได้ขอให้สหรัฐฯ ผ่อนผันไม่ระงับสิทธิ GSP สินค้า 9 รายการ เช่น ทุเรียนสด กล้วยไม้สด มะขามตากแห้ง มะละกอตากแห้ง เนื้อสัตว์ปรุงแต่ง กุ้งปรุงแต่ง เป็นต้น และขอคืนสิทธิ GSP สินค้า 3 รายการ คือ แป้งและธัญพืช เม็ดพลาสติก และกระเบื้องปูพื้นและผนัง ที่สหรัฐฯ จะประกาศผลในวันที่ 1 กรกฎาคม 2552 ซึ่งเมื่อพิจารณาจากปีที่แล้ว ผลการจัดสถานะไทยตามมาตรา 301 พิเศษ ก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบกับเรื่อง GSP แต่อย่างใด

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 พฤษภาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ