ความตกลงว่าด้วยการลงทุนภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 7, 2009 16:12 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ความตกลงว่าด้วยการลงทุนภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

ที่ครอบคลุมด้านต่างๆ ระหว่างอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ทั้ง 5 ข้อ ดังนี้

1. ให้นำเสนอรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบความตกลงว่าด้วยการลงทุนภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมด้านต่างๆ ระหว่างอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลี

2. อนุมัติการลงนามความตกลงฯ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว โดยมอบอำนาจให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ลงนาม เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบความตกลงดังกล่าวแล้ว

3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ลงนามในความตกลงดังกล่าว

4. มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีที่กำหนดในความตกลงว่าด้วยการลงทุน

5. มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ประสานกระทรวงการต่างประเทศแจ้งประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นและเกาหลีใต้ว่า ไทยพร้อมที่จะให้ความตกลงดังกล่าวมีผลผูกพันต่อไป หลังจากรัฐสภาให้ความเห็นชอบความตกลงฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินกระบวนการภายใน ตามข้อ 4 เสร็จสิ้นแล้ว

สาระสำคัญของเรื่อง

1. อาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ได้เจรจาเพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ตั้งแต่ปี 2548 โดยกำหนดให้มีการเจรจาจัดทำความตกลงต่าง ๆ รวม 5 ฉบับ ได้แก่ (1) กรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมด้านต่าง ๆ ระหว่างอาเซียนและเกาหลีใต้ (2) ความตกลงว่าด้วยกลไกการระงับข้อพิพาท (3) ความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้า (4) ความตกลงว่าด้วยการค้าบริการ และ (5) ความตกลงว่าด้วยการลงทุน ซึ่งอาเซียนและเกาหลีใต้ ได้มีการลงนามความตกลงต่าง ๆ ไปแล้ว ยกเว้นความตกลงว่าด้วยการลงทุน

2. ในการประชุมคณะเจรจาการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ ครั้งที่ 25 ระหว่างวันที่ 30 มีนาคม-วันที่ 8 เมษายน 2552 อาเซียนและเกาหลีใต้บรรลุผลการเจรจาจัดทำความตกลงว่าด้วยการลงทุนแล้ว หลังความพยายามเจรจานานร่วม 3 ปี โดยทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะให้มีการลงนามความตกลงนี้ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลีใต้ สมัยพิเศษ (ASEAN-Korea Commemorative Summit) วันที่ 1-2 มิถุนายน 2552 ณ เกาะเจจู สาธารณรัฐเกาหลี

สรุปสาระสำคัญของความตกลงฯ

ความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียน-เกาหลีใต้ มีพันธกรณีหลักที่สำคัญสรุป ได้ดังนี้

1. พันธกรณีของความตกลงฯ แบ่งออกเป็น 2 หลักใหญ่ คือ การเปิดเสรีและการคุ้มครองการลงทุน โดยครอบคลุมทั้งการลงทุนทางตรง (Foreign Direct Investment : FDI) และการลงทุนในหลักทรัพย์ (Portfolio Investment)

2. ขอบเขตของการเปิดเสรีครอบคลุมธุรกิจ 5 ภาค ได้แก่ เกษตร ประมง ป่าไม้ เหมืองแร่ และภาคการผลิต ส่วนการให้ความคุ้มครองรวมถึงการลงทุนทั้ง 5 ภาคข้างต้นและในธุรกิจบริการภายใต้ความตกลงว่าด้วยการค้าบริการอาเซียน-เกาหลีใต้ (Agreement on Trade in Services under the Framework Agreement on Comprehensive Economic Cooperation among the Government of the Member Countries of the Association of Southeast Asian Nations and the Republic of Korea) ด้วย

3. แนวทางการเปิดเสรีใช้ Negative List Approach โดยพันธกรณีหลัก คือ การให้การปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment) และการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most-favoured-nation Treatment) และเงื่อนไขการดำรงตำแหน่งผู้บริหารอาวุโสและคณะกรรมการ (Senior Management and Board of Directors) เป็นต้น อย่างไรก็ดี อาเซียนและเกาหลีใต้ยังไม่ต้องจัดทำตารางข้อสงวนเมื่อความตกลงนี้มีผลใช้บังคับ โดยจะทำเป็นแผนงาน (Work Programme) ซึ่งทั้งสองฝ่ายตกลงกันที่จะจัดทำตารางข้อสงวนภายใน 5 ปี นับจากวันที่ความตกลงนี้มีผลใช้บังคับ ซึ่งหมายความว่า ไทยยังไม่ได้เปิดเสรีภายใต้ความตกลงนี้จนกว่าจะสรุปแผนงานได้

4. การคุ้มครองการลงทุนในความตกลงนี้ประกอบด้วยการปฏิบัติที่เป็นธรรม การชดเชยในกรณีเกิดเหตุการณ์ไม่สงบ การชดเชยในกรณีที่มีการเวนคืน การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐ การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับนักลงทุน การอนุญาตให้มีการโอนผลกำไรที่ได้จากการลงทุนกลับประเทศได้ เป็นต้น

5. ประเด็นอื่นๆ ได้แก่ ประเด็นที่ไทยผลักดันให้รัฐสามารถดำเนินมาตรการเพื่อปกป้องเสถียรภาพทาง การเงินและอัตราแลกเปลี่ยน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 พฤษภาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ