สรุปผลการเข้าประชุมคณะกรรมการพัฒนาการของธนาคารโลก ครั้งที่ 78

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 7, 2009 16:17 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการเข้าประชุมคณะกรรมการพัฒนาการของธนาคารโลก ครั้งที่ 78 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้

ตามที่นายกรัฐมนตรีได้อนุมัติให้เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (นายอำพน กิตติอำพน) ร่วมคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการของธนาคารโลก (Development Committee) ครั้งที่ 78 และพบชี้แจงกับภาคเอกชนเพื่อสร้างความมั่นใจต่อเศรษฐกิจไทย โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน ระหว่างวันที่ 24-26 เมษายน 2552 ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา การประชุมมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. การพบชี้แจงภาคเอกชน (Road Show) เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2552 ผู้เข้าร่วมฝ่ายไทยประกอบ ด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และเจ้าหน้าที่ ผู้เข้าร่วมฝ่ายสหรัฐประกอบด้วย เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ผู้แทนจาก US-ASEAN Business Council, Asia Society of Washington, ผู้บริหารระดับสูงของ The Coca — Cola Company, Chevron, Ford Motor Company, Philip Morris International, The Boeing Company, GlazoSmithKline, PhRMA, ConocoPhillips, Pfizer, AIG, Guardian International Corporation, และ IBM

1.1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ชี้แจงสถานการณ์ของประเทศไทย โดยมีประเด็นสำคัญคือ

(1) ขณะนี้ประเทศไทยมีรัฐบาลซึ่งสามารถบริหารประเทศได้ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีภาคราชการที่เข้มแข็งซึ่งช่วยให้การดำเนินนโยบายการพัฒนาประเทศที่สำคัญมีความต่อเนื่องในช่วงการที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง รัฐบาลยึดหลักในการทำงานที่จะใช้หลักกฎหมายที่ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และทำงานอย่างโปร่งใส ซื่อสัตย์สุจริต รัฐบาลได้ประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉินแล้ว และจะตั้งกรรมการซึ่งเป็นกลางเพื่อศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองในสังคม นอกจากนั้นรัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการทำงานในฐานะประธานของ ASEAN และการส่งเสริมความร่วมมืออันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน

(2) เศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพและภาคการเงินที่เข้มแข็ง จึงได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตการเงินเพียงเล็กน้อย แต่ก็ได้รับผลกระทบต่อภาคการผลิตและการใช้จ่ายอย่างรุนแรงเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ที่มีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกอย่างสูง ผ่านการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุน

(3) รัฐบาลมีมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน (SP1) ซึ่งเริ่มดำเนินการแล้ว โดยใช้งบประมาณเพิ่มเติม 1.16 แสนล้านบาทหรือประมาณร้อยละ 1 ของ GDP เพื่อรักษารายได้และการบริโภคของคนกลุ่มต่าง ๆโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย

(4) รัฐบาลกำลังเตรียมแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 (SP2) ซึ่งจะดำเนินการในช่วงปี 2553 — 2555 ในวงเงินประมาณ 1.56 ล้านล้านบาท เน้นด้านการลงทุนในสาขาที่จะสร้างความเข้มแข็งและการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในอนาคต เช่น ด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ด้านพลังงาน ด้านการศึกษาและสาธารณสุข และด้านการเกษตร เป็นต้น

(5) การลงทุนตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 จะส่งผลให้สัดส่วนหนี้ภาคสาธารณะต่อ GDP สูงขึ้นเป็นร้อยละ 61 ในปี 2554 แต่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าวิกฤตเศรษฐกิจไทยเมื่อปี พ.ศ. 2540 นอกจากนั้นยังมีสภาพคล่องที่สูงในประเทศเป็นแหล่งระดมทุนได้ แต่รัฐบาลจะใช้เงินกู้ต่างประเทศส่วนหนึ่ง และส่งเสริมการร่วมดำเนินการกับภาคเอกชน (PPP) ให้มีสัดส่วนร้อยละ 5-20 ของวงเงินลงทุนทั้งหมด

1.2 ภาคเอกชน ซึ่งเป็นนักลงทุนระยะยาวยืนยันว่ายังมีความสนใจขยายการลงทุนในประเทศไทย และโอกาสที่จะมีมากขึ้นในอนาคตจากการลงทุนตาม SP2 และสอบถามข้อมูลในประเด็นอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

(1) แผนการปรับปรุงภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่ม

(2) กำหนดการของการเจรจาข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา

(3) แผนการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและพลังงานทางเลือกของประเทศไทย

(4) การสนับสนุนให้มีการหารือ (dialogue) ระหว่างรัฐบาลและภาคเอกชนต่างประเทศในเรื่องนโยบายด้านสาธารณสุข

(5) การบังคับใช้กฎหมายที่สำคัญ เช่น กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา

2. การพบหารือกับธนาคารโลก ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกับ Managing Director ของธนาคารโลก (Mr. Juan Jose Daboub) เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2552 มีประเด็นสำคัญ ดังนี้

2.1 กำหนดการพิจารณาเงินกู้ สำหรับการลงทุน SP2 วงเงิน 1 พันล้าน ดอลลาร์ สรอ. ทางธนาคารโลกจะมีการพิจารณาในช่วงเดือนพฤษภาคม — มิถุนายน ดังนั้นจึงคาดว่าจะมีการลงนามและเบิกจ่ายได้ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ การเตรียมการในประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับรัฐสภาควรดำเนินการให้สอดคล้องกัน

2.2 ประเด็นสนับสนุนการพิจารณา ข้อมูลเพื่อสนับสนุนการพิจารณาคำขอกู้เงินที่ควรเตรียมให้พร้อม ได้แก่

(1) ความมั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการได้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความพร้อมของแผนงานและกลไกที่จะให้เกิดความต่อเนื่องหากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

(2) ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของแผนงาน เช่น การช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

(3) ประโยชน์ด้านสังคมของแผนงาน เช่น การดูแลผลกระทบทางสังคมของวิกฤต โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เด็ก คนชรา และผู้ด้อยโอกาส

(4) แผนความร่วมมือระยะยาวในการเป็นพันธมิตรการพัฒนา (Development Partnership) กับธนาคารโลก ซึ่งมีหลายด้านที่ประเทศไทยสามารถให้ประโยชน์ได้ เช่น Climate Investment Fund, weather insurance for agricultural sector, การพัฒนากรอบการลงทุนแบบ PPP, การเพิ่มประสิทธิภาพการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และการปรับปรุง social safety net เป็นต้น

(5) บทบาทของประเทศไทยในระดับภูมิภาค เช่น บทบาทใน ASEAN และการร่วมมือในการพัฒนากับประเทศเพื่อนบ้านเป็นต้น

3. การประชุมคณะกรรมการพัฒนาการของธนาคารโลก (Development Committee) ครั้งที่ 78 มีประเด็นสำคัญ ดังนี้

3.1 สถานการณ์เศรษฐกิจโลก ถึงแม้จะเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น แต่การใช้กำลังการผลิตของประเทศต่าง ๆ ลดลงเหลือประมาณร้อยละ 50-60 ดังนั้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นในปี 2553 — 2554 และการขยายตัวของเศรษฐกิจหลังเกิดวิกฤตก็จะอยู่ในอัตราต่ำกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ในระหว่างนี้แรงกดดันของภาวะเงินฝืดและการว่างงานจะยังเพิ่มขึ้น

3.2 ภาวะเศรษฐกิจส่งผลรุนแรงต่อคนซึ่งต้องป้องกันไม่ให้กลายเป็นวิกฤตสังคม ภาวะวิกฤตจะส่งผลให้มีคนยากจนในโลกเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 55 — 90 ล้านคนภายในปี พ.ศ. 2552 และเป้าหมาย MDGs อาจจะไม่สามารถบรรลุได้ภายในกำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายด้านความยากจน การตายของแม่และเด็กแรกเกิด การศึกษา การต่อต้านโรคเอดส์และมาเลเรีย

3.3 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ปรับปรุงการตรวจสอบและระวังภัยเศรษฐกิจล่วงหน้า (economic surveillance process) ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการตรวจสอบอย่างเข้มงวดสำหรับเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐ ด้วย

3.4 ธนาคารโลกจะมีเป้าหมายจะขยายเงินกู้ประมาณ 1 แสนล้าน ดอลลาร์ สรอ. ในช่วง 3 ปีต่อไป และมีแผนงานได้แก่ ด้านความยากจน (Global Food Crisis Response Program, Microcredit enhancement Facility) ด้านการค้า (Global Trade Finance Program) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Crisis Facility) ด้านภาคการเงิน (Capitalization Fund)

3.5 ธนาคารโลกจะต้องรีบดำเนินการตามข้อสรุปของ G20 ในการระดมทุนและกระจายเงินกู้และเงินช่วยเหลือต่อประเทศที่เดือดร้อน ซึ่งต้องปรับวิธีการดำเนินงานให้มีความรวดเร็ว และทบทวนข้อกำหนดต่าง ๆ เช่น single borrower limit เป็นต้นให้เหมาะสมกับสถานการณ์

3.6 การใช้เงินของธนาคารโลกเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกควรมีแผนงานที่มีความสมดุลระหว่างการพยุงเศรษฐกิจในระยะสั้น และการสร้างพื้นฐานที่เข้มแข็งเพื่อการพัฒนาในระยะยาว จึงควรพิจารณาให้แผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจช่วยสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและผลิตภาพการผลิต การสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ การส่งเสริมความมั่นคงและประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

3.7 ถึงแม้ความช่วยเหลือแบบทวิภาคีจะเพิ่มขึ้น ความช่วยเหลือแบบทวิภาคี South-South Cooperation และความร่วมมือในภูมิภาคในรูปแบบต่างๆ ก็ไม่ควรลดลง และควรมีการประสานกัน

3.8 ขอให้ธนาคารโลกทบทวนความพอเพียงของทุน (Capital Adequacy) ในการดำเนินการ และแนวทางปรับปรุงการมีส่วนร่วมของประเทศสมาชิก (Voice and Participation) ในการบริหารธนาคารโลกให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น และรายงานในการประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศประจำปี 2552 ณ กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี ในเดือนตุลาคมศกนี้

4. ความเห็น สศช.

4.1 สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวในปี 2553 ขึ้นอยู่กับการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินและการกระตุ้นเศรษฐกิจของระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในโลก เช่น สหรัฐ จีน ญี่ปุ่น และยุโรป เป็นต้น จึงควรติดตามความก้าวหน้าอย่างใกล้ชิด

4.2 การจัดเตรียมกรอบ SP2 ของประเทศไทยได้ครอบคลุมประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการสร้างพื้นฐานที่เข้มแข็งเพื่อการพัฒนาในระยะยาวแล้ว แต่ควรมีการศึกษาและประเมินผลกระทบด้านสังคมให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ในการใช้เงินให้ได้ประสิทธิผลสูงสุดในการลดผลกระทบของวิกฤตต่อคนและสังคม

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 พฤษภาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ