ผลการประชุม The 7th Sub-Regional Ministerial Steering Committee on Haze Pollution

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 7, 2009 16:20 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการประชุม The 7th Sub-Regional Ministerial Steering Committee on Haze Pollution ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอ

ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยคณะ ได้เป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุม The 7th Sub-Regional Ministerial Steering Committee on Haze Pollution ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2552 ณ กรุงบันดาร์เสรี เบกาวัน ประเทศเนการาบรูไน ดารุสซาลาม นั้น สรุปดังนี้

1. ศูนย์เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยาแห่งอาเซียน (ASEAN Specialized Metrological Centre : ASMC) ได้รายงานสภาพอุตุนิยมวิทยาในภูมิภาคอาเซียนในเขตใต้เส้นศูนย์สูตร ในปี 2552 อยู่ในสภาวะปกติ (Neutral Condition) ส่งผลให้ประเทศอาเซียนในเขตใต้เส้นศูนย์สูตรจะเริ่มเข้าสู่หน้าแล้งตามปกติ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2552 และคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนว่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติเล็กน้อยถึงสูงกว่าปกติเล็กน้อยในพื้นที่ส่วนใหญ่ของภูมิภาค ซึ่ง ASMC จะได้มีการติดตามและรายงานผลต่อประเทศภาคีสมาชิกอย่างต่อเนื่อง

จากสภาพอุตุนิยมวิทยาดังกล่าว จึงคาดการณ์ได้ว่า มีโอกาสในการเพิ่มจำนวนสูงขึ้นของไฟป่าในเกาะสุมาตราและบอร์เนียวในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งสามารถตรวจวัดได้จากจำนวนจุดความร้อน (Hot Spot) จากภาพถ่ายดาวเทียม ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2552 จนถึงปลายเดือนกันยายน 2552 และจะลดจำนวนลงในเดือนตุลาคม 2552 เนื่องจากเริ่มมีฝนตก

2. ประเทศสมาชิกเห็นชอบในการเพิ่มการรายงานปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) ควบคู่ไปกับการรายงานจำนวน Hotspots สำหรับการเฝ้าระวังและเตือนภัยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน เพื่อให้สามารถประเมินสถานการณ์ปัญหาและดำเนินมาตรการในการควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. ประเทศไทย ได้รายงานสถานการณ์หมอกควันและไฟป่าที่เกิดขึ้นในอนุภูมิภาคแม่โขง โดยในส่วนของประเทศไทยได้มีการดำเนินมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เช่น การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ “90 วัน รวมพลังหยุดเผา บรรเทาโลกร้อน” การจัดให้มีเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน ลูกเสือสิ่งแวดล้อม โดยในการดำเนินงานต่อไป ประเทศไทยได้เสนอให้มีความร่วมมือระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคแม่โขงมากขึ้น และกำหนดให้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2552 ต่อเนื่องกับการประชุมคณะทำงานอนุภูมิภาคแม่โขง ครั้งที่ 3 (The 3rd Meeting of TWG Mekong) และการประชุมคณะกรรมการภายใต้การประชุมประเทศภาคีต่อข้อตกลงอาเซียนเรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ครั้งที่ 4 (The 4th Meeting of the Committee under the Conference of the Parties to the ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution) ที่ประเทศเวียดนาม

4. สืบเนื่องจากการที่ประเทศไทยมีผลการดำเนินงานด้านการจัดการป่าพรุอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพในระดับภูมิภาค ประเทศไทย จึงได้แจ้งต่อที่ประชุมถึงความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการจัดการป่าพรุในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้แต่ละประเทศมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และดูงานด้านการจัดการป่าพรุในพื้นที่จริงในภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบตามข้อเสนอของประเทศไทย โดยผนวกการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ “Project on Rehabilitation and Sustainable Use of Peatland Forests in Southeast Asia” ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจาก The International Fund for Agricultural Development (IFAD) โดยกำหนดจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการประมาณเดือนมิถุนายน 2552 ที่ประเทศไทย นอกจากนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะได้หารือกับสำนักงานเลขาธิการอาเซียนและประเทศภาคีสมาชิก เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อรายงานผลการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ และหารือประเด็นสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ในระดับภูมิภาค ก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ที่จังหวัดภูเก็ต

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 พฤษภาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ