คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอว่า ได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์กรเพื่อการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ. .... เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีการแก้ไขชื่อร่างพระราชบัญญัติเป็นร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ. .... ตัดบทบัญญัติที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมในร่างพระราชบัญญัตินี้เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายและกำหนดบทเฉพาะกาลให้ครอบคลุมการดำเนินการในวาระเริ่มแรก จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างกฎหมาย
1. ให้มีคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายที่ดำเนินการเป็นอิสระคณะหนึ่งประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่ง รองประธานกรรมการคนหนึ่ง และกรรมการอื่นอีกเก้าคน โดยมีกรรมการที่ปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลาจำนวนสามคน กรรมการมีวาระอยู่ในตำแหน่งหกปี นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง เว้นแต่กรรมการที่ปฏิบัติงานเต็มเวลามีวาระอยู่ในตำแหน่งสามปี นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง
2. ให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายมีหน้าที่หลักในการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายของประเทศให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ สำรวจ ศึกษา วิเคราะห์ทางวิชาการต่างๆ เพื่อวางเป้าหมาย นโยบาย พร้อมทั้งจัดทำแผนโครงการ และมาตรการต่างๆ ในการปฏิรูปกฎหมายอย่างเป็นระบบ เสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับแผนการตรากฎหมาย ให้ความเห็นหรือข้อสังเกตต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับร่างกฎหมายที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ศาล องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
3. ให้กรรมการจำนวนแปดคนมาจากกระบวนการสรรหาของคณะกรรมการสรรหากรรมการ และกรรมการที่มาจากกระบวนการสรรหาจำนวนแปดคนนี้จะดำเนินการสรรหากรรมการอีกสามคนเพื่อมาปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการเต็มเวลา ทั้งนี้ ต้องเป็นผู้ที่มีผลงานหรือเคยปฏิบัติงานที่แสดงให้เห็นถึงการเป็นผู้มีความรู้และมีประสบการณ์ที่ประจักษ์ในด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ หรือด้านอื่นอันเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปกฎหมาย
4. ให้มีสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นนิติบุคคลและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับกิจการทั่วไปของคณะกรรมการ รวมทั้งงานด้านธุรการของคณะกรรมการในการดำเนินการมีเลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายรับผิดชอบการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานขึ้นตรงต่อประธานกรรมการ และเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน รวมทั้งเป็นผู้แทนของสำนักงานในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก โดยเลขาธิการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 พฤษภาคม 2552 --จบ--