ผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 9/2552

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 14, 2009 05:34 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 9/2552 และเห็นชอบมติคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ตามที่เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เสนอ

คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (รศก.) ได้มีการประชุม ครั้งที่ 9/2552 เมื่อวันพุธที่ 29 เมษายน 2552 เวลา 19.00-12.00 น. ณ ห้องประชุมสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการ ได้สรุปผลการประชุม รศก. ดังนี้

1. รายงานสถานการณ์แรงงาน และการขึ้นทะเบียนผู้ประกัน

กระทรวงแรงงานได้รายงานสถานการณ์แรงงาน และการขึ้นทะเบียนผู้ประกัน สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1.1 ข้อมูลการขึ้นทะเบียนว่างงานของผู้ประกันตน ในช่วงเดือนตุลาคม 2551 ถึงเดือนมีนาคม 2552 มีผู้ประกันตนมาขึ้นทะเบียนเป็นผู้ว่างงาน 370,393 คน แบ่งเป็นผู้ถูกเลิกจ้าง 133,307 คน และลาออก 237,086 คน เมื่อพิจารณาข้อมูลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2552 มีผู้มาขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนกรณีว่างงาน 183,781 คน โดยในเดือนมีนาคม 2552 มีผู้มาขึ้นทะเบียน 81,842 คนมากกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน 52,485 คนในช่วงวันที่ 1-24 เมษายน 2552 มีจำนวนผู้ประกันตนขึ้นทะเบียนเป็นผู้ว่างงาน 49,949 คน จึงมีแนวโน้มที่ผู้ประกันตนที่ขึ้นทะเบียนว่างงานจะลดลง เป็นเดือนที่สองต่อเนื่องกัน

1.2 ข้อมูลของผู้ว่างงานที่กลับเข้าทำงาน ช่วงเดือนตุลาคม 2551-มีนาคม 2552 มีจำนวนผู้ว่างงานกลับเข้าทำงานทั้งสิ้น 111,968 คน คิดเป็นร้อยละ 30.70 ของจำนวนผู้ประกันตนที่ขึ้นทะเบียนว่างงานทั้งหมด โดยในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2552 จำนวนผู้ประกันตนที่กลับเข้าทำงานโดยรวมค่อนข้างคงที่ เหลือ 19,645 คน 20,877 คน และ 18,225 คน ตามลำดับ

1.3 ประเภทสถานประกอบการที่มีการเลิกจ้าง ประเภทของอุตสาหกรรมที่มีการเลิกจ้าง 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) การผลิตสิ่งทอ เครื่องแต่งกาย ฟอกหนังสัตว์ และรองเท้า ร้อยละ 11.20 (2) การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ร้อยละ 10.90 (3) การผลิตผลิตภัณฑ์จากแร่อโลหะ โลหะ ร้อยละ 8.27 (4) การบำรุงรักษาคอมพิวเตอร์ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับฮาร์ดแวร์ และการทำบัญชี ร้อยละ 8.17 และ (5) การผลิตเครื่องแต่งกาย รวมทั้งการตกแต่งและ ย้อมขนสัตว์ ร้อยละ 8.07 โดยอาจมีแนวโน้มการเลิกจ้างเพิ่มมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ

1.4 สถานการณ์การชุมนุมของผู้ใช้แรงงาน ช่วงเดือนตุลาคม 2551- 23 เมษายน 2552 มีการชุมนุมเรียกร้องของกลุ่มผู้ใช้แรงงานจำนวน 80 ครั้ง มีสถานประกอบการที่เกี่ยวข้อง 72 แห่ง โดยพื้นที่ที่มีการชุมนุมเรียกร้องมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี และสมุทรปราการ ตามลำดับ ซึ่งกระทรวงแรงงานได้ใช้มาตรการแรงงานสัมพันธ์เชิงบวกเพื่อแก้ปัญหาข้อข้ดแย้งใน 3 ระดับ คือ (1) ระดับทวิภาคี ใช้วิธีการเจรจาตามมาตรการแรงงานสัมพันธ์เชิงรุก (2) ระดับจังหวัด ใช้กลไกของผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ (3) ระดับกระทรวง โดยใช้กลไกไตรภาคี โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นผู้กำกับดูแล

1.5 การดำเนินงานของกระทรวงแรงงาน กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการเพื่อบรรเทาปัญหาการเลิกจ้างงานและเพื่อให้ผู้ที่ว่างงานได้กลับเข้าสู่ระบบประกันสังคม เช่น โครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงาน โครงการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและบุคลากรภาครัฐ และการจัดมหกรรมนัดพบแรงงาน “สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สู้ภัยเศรษฐกิจ” เป็นต้น โดยในช่วงเดือนตุลาคม 2551-มีนาคม 2552 มีการจัดงานนัดพบแรงงาน 262 ครั้ง ตำแหน่งงานว่าง 735,769 ตำแหน่ง ผู้สมัครงาน 110,034 คน ได้รับการบรรจุเข้าทำงาน 31,668 คน คิดเป็นร้อยละ 28.78 ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เพิ่งจบการศึกษาและผู้ที่ต้องการเปลี่ยนงานใหม่

มติที่ประชุม

1. รับทราบและมอบหมายให้กระทรวงแรงงาน นำเสนอข้อมูลของการลาออกและการเลิกจ้างแรงงาน รวมทั้งการใช้สิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมจำแนกเป็นรายสาขา โดยเปรียบเทียบกับข้อมูลในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้านี้เพื่อให้ข้อมูลดังกล่าวเกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

2. มอบหมายให้ สศช.ประสานกับกระทรวงการคคลัง และกระทรวงพาณิชย์ ศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกต่อประเทศไทย โดยแสดงให้เห็นผลกระทบต่ออุตสาหกรรมทั้งที่ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และพึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อให้ทราบถึงผลกระทบที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

2. ข้อเสนอแนวทางการบริหารจัดการเศรษฐกิจในภาวะวิกฤต

คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ได้นำเสนอ “ข้อเสนอ (ฉบับที่ 2) เรื่องแนวทางการบริหารจัดการเศรษฐกิจในภาวะวิกฤต สรุปได้ดังนี้

2.1 รัฐบาลควรสื่อสารกับประชาชน ให้ได้รับทราบสถานการณ์ที่แท้จริงความพยายามของรัฐบาลในการแก้ไขวิกฤต และวิธีการที่ถูกต้องในการเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจ ดังนี้

1) เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในภาวะถดถอย อาจต้องใช้เวลานานกว่า 1-2 ปี ในการฟื้นตัว และเศรษฐกิจไทยในปี 2552 มีโอกาสติดลบ แต่รัฐบาลจะพยายามให้ติดลบน้อยที่สุด และกลับมาเป็นบวกโดยเร็วที่สุด

2) รัฐบาลจะควบคุมความเสียหายจากวิกฤตให้อยู่ในวงจำกัด ประคับประคองภาคการผลิตจริง (Real Sector) และช่วยให้คนตกงานสามารถอยู่รอดได้ในช่วงวิกฤต

3) รัฐบาลควรส่งสัญญาณการรณรงค์ “กินของไทย ใช้ของไทย เที่ยวเมืองไทย” เพื่อทดแทนภาคการส่งออกที่หดตัว

2.2 รัฐบาลควรเร่งรัดดำเนินการมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลได้ประกาศไปแล้ว โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ที่จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เพื่อให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว และควรมอบหมายให้ สศช.ติดตามประเมินผลมาตรการที่สำคัญ และรายงานต่อคณะกรรมการ รศก.

2.3 เร่งรัดการดำเนินการตามข้อเสนอของคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ (ฉบับที่ 1) เรื่อง “แนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อการลงทุนสำหรับอนาคต” ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2552

2.4 ออกมาตรการระยะสั้น-กลาง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาล ในการปรับเปลี่ยน ทิศทางการพัฒนาประเทศไทยไปสู่ Creative & Sustainable Economy ในระยะยาว (Short-term Measures for Long-term Goals)

มติคณะกรรมการ รศก.

1. รับทราบแนวทางการบริหารจัดการเศรษฐกิจในภาวะวิกฤต (ข้อเสนอ ฉบับที่ 2) ของคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ

2. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดเป้าหมายระยะเวลาการดำเนินงานแล้วเสร็จ และรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามมาตรการเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา ให้ฝ่ายเลขานุการทราบ เพื่อนำข้อมูลเผยแพร่ทางเว็บไซต์ ซึ่งได้จัดเตรียมไว้แล้ว โดยให้ฝ่ายเลขานุการจัดทำในรูปแบบตารางสรุปความก้าวหน้าของการดำเนินงาน

3. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการประสานกับผู้เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดเป้าหมายการเปิดให้บริการศูนย์ประสานงานเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (One Start & One Stop Service Center) เพื่อให้สามารถอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพต่อไป

4. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องระบุโครงการที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง Green Economy และ Creative Economy ภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 เพื่อสร้างความชัดเจนของทิศทางการพัฒนาประเทศ และเป็นการสร้างความตื่นตัวให้กับหน่วยงานราชการ และภาคเอกชนในการริเริ่มโครงการในลักษณะนี้เพิ่มมากขึ้น

3. การประเมินผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองระหว่างวันที่ 8-14 เมษายน 2552

สศช.ได้ประเมินผลกระทบเบื้องต้นในช่วงวันที่ 8-14 เมษายน 2552 จากหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบเท่าที่จะเก็บรวบรวมได้ พบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบ 3 ส่วนคือ (1) ผลกระทบต่อการให้บริการสาธารณะของรัฐ (2) ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยตรง และ (3) ผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือโดยตรง สรุปได้ดังนี้

3.1 ผลกระทบต่อบริการสาธารณะของรัฐ ความเสียหายในเบื้องต้นต่อบริการสาธารณะของรัฐ ด้านขนส่งทางบก ขนส่งทางอากาศ ไฟฟ้า และสื่อสารและโทรคมนาคม พบว่า มีความเสียหายต่อทรัพย์สินของหน่วยงานให้บริการสาธารณะ การหยุดชะงักของการให้บริการ และการสูญเสียรายได้ของหน่วยงานให้บริการคิดเป็นมูลค่าประมาณ 220.51 ล้านบาท โดยภาคการส่งออกไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด

3.2 ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว ประเมินผลกระทบจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ (1) ภาวะเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะซบเซาต่อเนื่องในระยะ 2-3 ปี (2) ผลกระทบจากการปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมืองระหว่างวันที่ 28 พ.ย.-2 ธ.ค.2551 และ (3) ผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง 8-14 เมษายน 2552

1) สศช. ใช้สมมติฐานอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ประกาศปรับตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกใหม่ จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.5 เป็น ติดลบร้อยละ -1.3 (ณ เมษายน 2552) และผลจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้ได้ทำให้องค์การการท่องเที่ยวโลก (World Tourism Organization, WTO) คาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกในปี 2552 จะหดตัวร้อยละ 2

2) สศช. ได้ประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวในระยะที่เหลืออีก 9 เดือน (เมษายน-ธันวาคม) ของ ปี 2552 และประเมินผลกระทบต่อรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งปี 2552 ภายใต้สมมติฐาน 3 กรณีคือ กรณีที่หนึ่งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสามารถกลับเข้าสู่แนวโน้มปกติได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ทำให้อัตราการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวโดยเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 7.1 ต่อเดือน กรณีที่สอง อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวฟื้นตัวช้า เนื่องจากยังคงได้รับผลกระทบจากความเชื่อมั่น ทำให้อัตราการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงร้อยละ 2.0 จากแนวโน้มปกติ และกรณีที่สามอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากความเชื่อมั่นและวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้อัตราการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงร้อยละ 5.0 จากแนวโน้มปกติ

3) จากประมาณการผลกระทบที่เกิดขึ้นในปี 2552 พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวจะต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 14 ล้านคน และ 505,000 ล้านบาท แล้วแต่กรณี โดยมีนักท่องเที่ยวลดลงประมาณ 0.22-0.59 ล้านคน ทำให้มีรายได้ลดลงประมาณ 7,878-21,515 ล้านบาท นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขปี 2551 ซึ่งมีนักท่องเที่ยวจำนวน 14.28 ล้านคน และมีรายได้ 585,870 ล้านบาท พบว่า ในปี 2552 จะมีนักท่องเที่ยวลดลงประมาณ 0.49-0.87 ล้านคน และมีรายได้ลดลงประมาณ 88,748-102,385 ล้านบาท ตามลำดับ อนึ่ง การประมาณการของ สศช. ในกรณีที่ 3 (จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง 0.87 ล้านคน และรายได้ลดลง 102,385 ล้านบาท) ยังคงต่ำกว่าประมาณการของสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ที่คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงจากปี 2551 ประมาณ 3.2 ล้านคน และมีรายได้ลดลง 190,000 ล้านบาท

4) ผลกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ธุรกิจโรงแรมและที่พักจะได้รับผลกระทบมากที่สุด (2.3-6.2 พันล้านบาท) รองลงมา ได้แก่ ธุรกิจร้านจำหน่ายสินค้าและของที่ระลึก (1.9-5.1 พันล้านบาท) และธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม (1.4-3.9 พันล้านบาท)

5) ผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ด้านอุปทานจะอยู่ระหว่างร้อยละ 0.074-0.198

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการดำเนินมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านการท่องเที่ยวจากการปิดท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิและดอนเมืองและจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองแล้ว เช่น การลดหย่อนค่าธรรมเนียม Landing & parking fees ค่าประกันการใช้ไฟฟ้า ค่าธรรมเนียมพิเศษห้องพัก (มีผลในปี 2553) และค่าธรรมเนียมวีซ่า เป็นต้น โดยมีมาตรการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น การช่วยเหลือสภาพคล่องสำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยว และโครงการ Amazing Thailand 2009 เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการที่อยู่ในระหว่างพิจารณา และมาตรการที่ได้ข้อสรุปแล้ว เช่น มาตรการขยายสินเชื่อเพิ่มเติมของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ การหักค่าใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวเพื่อเสียภาษี 2 เท่า และการลดอัตราค่าโดยสาร เป็นต้น

3.3 ผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของประเทศไทย มี 3 ระดับ

1) การจัดอันดับความน่าเชื่อถือของเศรษฐกิจไทย (Credit Ratings) ซึ่งมี 2 สถาบันที่ได้ประกาศปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือทันทีที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง คือ

(1) Fitch Rating (วันที่ 16 เมษายน 2552) ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยลงมาหนึ่งอันดับได้แก่ (1) ระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (2) ระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินบาท (3) ระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศ (4) ระดับเครดิตของประเทศ

(2) Standard and Poor (วันที่ 14 เมษายน 2552) ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยในหมวดตราสารหนี้ระยะยาวและระยะสั้นสกุลเงินบาท และกำหนดให้แนวโน้มของระดับเครดิตของไทยอยู่ในระดับที่เป็นลบ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อโดยรวมของระบบเศรษฐกิจไทย ผ่านต้นทุนการออกตราสารทางการเงินของไทยและอัตราการซื้อประกันความเสี่ยงที่จะเพิ่มสูงขึ้น

2) การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ มี 3 สถาบันหลัก โดยจะต้องสร้างความน่าเชื่อมั่นเพื่อรักษาอันดับไม่ให้ตกต่ำไปกว่าปีที่แล้ว ดังนี้

(1) ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จัดลำดับโดย World Economic Forum (WEF) และ Institute of Management Development (IMD) ซึ่งจะมีปัจจัยความมีเสถียรภาพทางการเมืองเป็นองค์ประกอบหนึ่ง ขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบใดๆ แต่อาจจะมีผลต่อการจัดอันดับในปี 2552

(2) ความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว ในช่วงปี 2550-2552 องค์การการท่องเที่ยวโลก (World Tourism Organization) จัดลำดับความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยปรับตัวดีขึ้นโดยลำดับถึง 4 อันดับ (จากอันดับที่ 43 ในปี 2550 เป็นอันดับที่ 42 ในปี 2551 และอันดับที่ 39 ในปี 2552 จาก 130 ประเทศ)

(3) การจัดอันดับกลุ่มประเทศน่าเที่ยว ในปี 2550 ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศ น่าเที่ยวลำดับที่ 18 จาก 50 อันดับแรกของโลก (Top tourism destinations, 50 most visited) โดยมีจุดแข็ง ได้แก่ โครงข่ายการขนส่งทางอากาศที่สะดวก การพัฒนาสินค้า/กิจกรรมด้านการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง และอัธยาศัยไมตรีของคนไทย และมีจุดอ่อน ได้แก่ กฎหมาย กฎ ระเบียบและข้อบังคับด้านการท่องเที่ยวที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจการท่องเที่ยว

(4) การจัดอันดับเมืองน่าเที่ยว กรุงเทพฯ ได้รับรางวัลเมื่อปลายปี 2551 ซึ่งยังไม่มีผลในขณะนี้ แต่อาจจะมีผลในปี 2552 ซึ่งประเทศไทยมีเมืองที่ถูกจัดว่าเป็นเมืองที่น่าเที่ยวอยู่หลายแห่ง ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก

(5) การจัดอันดับเมืองท่องเที่ยวเสี่ยงของแต่ละประเทศ เป็นการประกาศเตือนของแต่ละประเทศในกรณีที่เกิดเหตุการณ์

มติคณะกรรมการ รศก.

รับทราบผลการประเมินผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองระหว่างวันที่ 8-14 เมษายน 2552 ของ สศช.

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 พฤษภาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ