มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2552 (ครั้งที่ 125)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 14, 2009 07:56 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีพิจารณามติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2552 (ครั้งที่ 125) ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ แล้วมีมติ ดังนี้

1. เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (ฟฟล.) เรื่อง ความร่วมมือในการเชื่อมต่อระบบส่งไฟฟ้า 115 เควี จุดใหม่ ระหว่างสถานีไฟฟ้าท่าลี่ (ไทย) กับสถานีไฟฟ้าปากลาย (สปป.ลาว)

2. เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (ฟฟล.) เรื่อง ความร่วมมือในการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินความต้องการของรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาวจากโครงการโรงไฟฟ้าน้ำเทิน 2

3. เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้าโครงการหงสาลิกไนต์ และมอบหมายให้ กฟผ. นำร่างบันทึกความเข้าใจฯ ที่ได้รับความเห็นชอบแล้วไปลงนามร่วมกับผู้ลงทุนต่อไป และเห็นชอบในหลักการให้ กฟผ. สามารถปรับปรุงเงื่อนไขจากร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้าโครงการหงสาลิกไนต์ในขั้นการจัดทำร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้

ทั้งนี้เนื่องจากโครงการหงสาลิกไนต์เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนโรงแรกที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ เพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม แต่ทั้งนี้จะไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้า

สาระสำคัญของเรื่อง

สรุปสาระร่างบันทึกความเข้าใจการเชื่อมต่อระบบส่งไฟฟ้า 115 เควี จุดใหม่ระหว่างสถานีไฟฟ้าท่าลี่ (ไทย) กับสถานีไฟฟ้าปากลาย (สปป.ลาว) ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบแล้ว ดังนี้

1. เห็นชอบในการให้ความร่วมมือในการเชื่อมโยงระบบส่งไฟฟ้า 115 เควี จุดใหม่ ระหว่างสฟ.ท่าลี่ (ไทย) กับ สฟ.ปากลาย (สปป.ลาว) ส่วนเงื่อนไขรายละเอียดรวมทั้งการกำหนดเวลา การเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบไฟฟ้าทั้งสองฝ่ายจะได้กำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมต่อไป

2. จะร่วมจัดทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โดยมีราคาและเงื่อนไขที่เหมาะสมสอดคล้องกับความมั่นคงการจำหน่ายไฟฟ้า และดำเนินการอื่น ๆ ตามความจำเป็น

3. จะร่วมมือเพื่อประสานการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าระหว่างสองประเทศให้สอดคล้องกับหลักการทางเทคนิค รวมทั้งนโยบายการพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้าของแต่ละประเทศให้มีประสิทธิภาพสูง ตลอดจนให้เป็นไปตามกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกัน

4. จะเสนอเรื่องความร่วมมือดังกล่าวต่อคณะอนุกรรมการประสานฯ ของไทย และคณะประสานงานการพัฒนาไฟฟ้ากับต่างประเทศของ สปป.ลาว เพื่อให้ความเห็นชอบในการดำเนินการและส่งผลในทางปฏิบัติต่อไป

5. บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ทั้งสองฝ่ายได้รับความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการประสานฯ และคณะประสานงานการพัฒนาไฟฟ้ากับต่างประเทศตามข้อ 4 และจะสิ้นสุดเมื่อเกิดเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งดังต่อไปนี้ แล้วแต่เหตุการณ์ใดจะเกิดก่อน

5.1 ทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกันยกเลิกบันทึกความเข้าใจฉบับนี้เป็นลายลักษณ์อักษร หรือ

5.2 เมื่อทั้งสองฝ่ายได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

สรุปสาระร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (ฟฟล.) เรื่อง ความร่วมมือในการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินความต้องการของรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาวจากโครงการโรงไฟฟ้าน้ำเทิน 2 (75 MW) สรุปได้ดังนี้

1. กฟผ.รับทราบว่า ฟฟล. มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับโครงการโรงไฟฟ้าน้ำเทิน 2 ซึ่งมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าประมาณกลางปี 2552 โดยในระยะแรกจะมีไฟฟ้าเกินจากความต้องการของ ฟฟล. จึงประสงค์จะขายไฟฟ้าส่วนเกินความต้องการนี้ให้ กฟผ. และ กฟผ. ยินดีที่จะรับซื้อ ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันตกลงราคาและเงื่อนไขในการซื้อขายไฟฟ้าต่อไป

2. ทั้งสองฝ่ายจะเสนอเรื่องความร่วมมือนี้ต่อคณะอนุกรรมการประสานฯ ของไทย และคณะประสานงานการพัฒนาไฟฟ้ากับต่างประเทศของ สปป.ลาว เพื่อให้ความเห็นชอบในการดำเนินการและส่งผลในทางปฏิบัติต่อไป

3. บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ทั้งสองฝ่ายได้รับความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการประสานฯ และคณะประสานงานการพัฒนาไฟฟ้ากับต่างประเทศตามข้อ 2 และจะสิ้นสุดเมื่อเกิดเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งดังต่อไปนี้ แล้วแต่เหตุการณ์ใดจะเกิดก่อน

3.1 ทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกันยกเลิกบันทึกความเข้าใจฉบับนี้เป็นลายลักษณ์อักษร หรือ

3.2 เมื่อทั้งสองฝ่ายได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

สาระสำคัญร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) โครงการหงสาลิกไนต์

ร่าง Tariff MOU โครงการหงสาลิกไนต์ มีรูปแบบเดียวกับ Tariff MOU ที่เคยผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบโดยสำนักงานอัยการสูงสุด คณะอนุกรรมการประสานฯ กพช. และ ครม. แต่จะมีความแตกต่างเฉพาะในส่วนของข้อเสนออัตราค่าไฟฟ้า เงื่อนไขด้านเทคนิค และเพิ่มเติมเงื่อนไขการวางหลักทรัพย์ค้ำประกันกรณีที่บริษัทไม่สามารถดำเนินการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายในอายุ Tariff MOU โดย กฟผ. จะสามารถยึดหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้ ดังนี้

1. ข้อตกลงนี้ทำขึ้นระหว่าง กฟผ. และบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)

2. โครงการหงสาลิกไนต์เป็นโครงการที่ กฟผ.ดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและสปป.ลาว

3. บริษัทฯ และผู้ร่วมลงทุนรายอื่น (รวมเรียกว่า Sponsors) จะจัดตั้งบริษัทใน สปป.ลาวเพื่อพัฒนาโครงการ

4. Sponsors จะเจรจากับรัฐบาล สปป.ลาว เพื่อให้ได้สัญญาสัมปทานซึ่งผ่านความเห็นชอบของ National Assembly ของ สปป.ลาว เพื่อให้สามารถพัฒนาโครงการและผลิตไฟฟ้าขายให้ กฟผ. อย่างถูกต้องตามกฎหมายของ สปป.ลาว และสอดคล้องกับเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

5. การขอความเห็นชอบ MOU และการบังคับใช้

(1) กฟผ.จะขอความเห็นชอบ MOU จาก กพช. ภายใน 3 เดือนนับจากวันลงนาม

(2) บริษัทฯ จะขอความเห็นชอบจากกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ของรัฐบาล สปป.ลาวภายใน 3 เดือนนับจากวันลงนาม

(3) MOU จะมีผลบังคับใช้หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายได้รับแจ้งการได้รับความเห็นชอบตามที่ระบุข้างต้น

6. โครงการมีกำลังผลิตสุทธิที่โรงไฟฟ้า 1,653 เมกะวัตต์ โดยขายให้ สปป.ลาวไม่เกิน 175 เมกะวัตต์ และขายให้ไทย 1,473 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ การขายไฟฟ้าให้ สปป.ลาว จะต้องมีระบบป้องกันที่จะไม่กระทบต่ออีกฝ่ายหนึ่ง

7. อัตราค่าไฟฟ้า ณ ชายแดน เฉลี่ยตลอดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 25 ปี (Levelized) ดังนี้

  • Availability Payment (AP) = 1.409 บาท/หน่วย
             - Energy Payment (EP)         =    0.866 บาท/หน่วย
               รวม AP + EP                 =    2.275 บาท/หน่วย

8. สัญญาซื้อขายไฟฟ้าอายุ 25 ปี นับจากวันจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date : COD) ของเครื่องที่จ่ายไฟฟ้าเป็นเครื่องสุดท้าย โดยอาจมีอายุสัญญาได้ยาวกว่าที่กำหนดได้ หากสปป.ลาวอนุมัติและทั้งสองฝ่ายตกลงกัน

9. ทั้งสองฝ่ายจะใช้ร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการหงสาลิกไนต์ที่ กฟผ. ได้จัดส่งให้เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2552 เป็นต้นแบบในการเจรจาเพื่อจัดทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้แล้วเสร็จภายในอายุของ MOU นี้

10. MOU จะสิ้นสุดเมื่อมีเหตุการณ์ใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อน

1) เมื่อมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

2) MOU มีอายุครบ 18 เดือนนับจากวันลงนามหรือวันที่ช้ากว่าหากมีการตกลงต่ออายุ MOU ออกไป

3) ทั้งสองฝ่ายตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อเลิกก่อนได้

11. แต่ละฝ่ายจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในส่วนของตน และไม่สามารถเรียกร้องความเสียหายจาก MOU หรือจากการยกเลิก MOU ยกเว้นหลักทรัพย์ค้ำประกันที่วางไว้หากไม่สามารถเจรจาเพื่อลงนามในร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ได้ภายในระยะเวลาที่เหมาะสม

12. ผู้พัฒนาโครงการจะต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกันจำนวน 147.3 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 30 วันหลังจากวันที่ กฟผ. แจ้งว่า MOU ได้รับการอนุมัติจาก กพช.

13. กำหนดวันแล้วเสร็จของงานต่าง ๆ ดังนี้

  • Scheduled Financial Close Date (SFCD) : วันที่ช้ากว่าระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2554 และ 12 เดือนนับจากวันลงนาม PPA
  • Scheduled Energizing Date (SED) (กำหนดวันที่ระบบส่งของทั้งสองฝ่ายพร้อมรับและ ส่งพลังงานไฟฟ้า) เท่ากับ 44 เดือนนับจากวันที่ช้ากว่าระหว่างวัน Financial Close Date และวัน SFCD
  • Scheduled Commercial Operation Date (SCOD) คือวันที่ช้ากว่าระหว่าง
  • Unit 1 : 50 เดือน นับจากวันที่ช้ากว่าระหว่างวัน Financial Close Date และวัน SFCD
  • Unit 1 : 55 เดือน นับจากวันที่ช้ากว่าระหว่างวัน Financial Close Date และวัน SFCD
  • Unit 1 : 59 เดือน นับจากวันที่ช้ากว่าระหว่างวัน Financial Close Date และวัน SFCD
  • หากฝ่ายใดทำให้วัน COD ล่าช้ากว่าวัน SCOD จะต้องจ่ายค่าปรับในอัตราที่เท่ากัน

14. จำนวนหลักทรัพย์ค้ำประกัน

  • วันลงนามสัญญาฯ : 21 Million USD และวัน Financial Close Date : 53 Million USD
  • วัน COD : 47 Million USD และวันครบรอบ COD 13 ปี : 16 Million USD

15. Traiff MOU และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจะถูกบังคับคดีและตีความตามกฎหมายไทย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 พฤษภาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ