คณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่อง เงินกู้ Public Sector Reform Development Policy Loan (PSRDPL) จากธนาคารโลก ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ แล้วมีมติดังนี้
1. รับหลักการของร่างสัญญาเงินกู้ Public Sector Reform Development Policy Loan (PSRDPL) จากธนาคารโลก และเอกสารที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งนำเสนอร่างสัญญาดังกล่าวต่อรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบ
2. อนุมัติให้กระทรวงการคลังในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยดำเนินการกู้เงิน Public Sector Reform Development Policy Loan จากธนาคารโลก วงเงิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
3. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมอบหมายเป็นผู้ลงนามในสัญญากู้เงิน รวมทั้งเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย
4. มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจัดเตรียมทำความเห็นทางกฎหมายโดยด่วนต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
1. กระทรวงการคลังได้ประสานงานธนาคารโลกในการเร่งรัดขั้นตอนและกระบวนการเจรจาเงินกู้เพื่อให้สามารถกู้เงิน PSRDPL และสามารถเบิกจ่ายเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ โดยมีเป้าหมายให้การดำเนินนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศโดยเร็ว กระทรวงการคลังจึงจำเป็นต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในวันที่ 13 พฤษภาคม 2552 เพื่อพิจารณาอนุมัติก่อนนำเสนอให้รัฐสภาเห็นชอบก่อนปิดการประชุมรัฐสภาสมัยสามัญทั่วไป ภายในวันที่ 19 พฤษภาคม 2552 และธนาคารโลกสามารถนำเสนอคณะกรรมการบริหารของธนาคารโลกเพื่ออนุมัติเงินกู้ PSRDPL ให้แก่ประเทศไทยได้ในโอกาสแรกต่อไป
2. เงินกู้ Public Sector Reform Development Policy Loan (PSRDPL) จากธนาคารโลก วงเงิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นเงินกู้ลักษณะ Program Loan ที่พิจารณาให้ประเทศผู้กู้กู้จากปัจจัยโดยรวมของประเทศ โดยจะนำเสนอความสำเร็จของประเทศไทยในด้านการรับมือกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ (Response to the Crisis) การพัฒนาระบบการบริหารงบประมาณเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการงบประมาณการเงินและการคลังของประเทศ (Public Financial Management) การบริหารจัดการระบบราชการ (Public Administration) และการให้บริการของหน่วยงานราชการ (Service Delivery) เพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการบริหารธนาคารโลกพิจารณาให้เงินกู้แก่ประเทศไทย ทั้งนี้ ในการดำเนินการขอกู้เงินจากธนาคารโลก ประเทศไทยจะต้องทำกรอบนโยบายมาตรการ (Policy Matrix) เกี่ยวกับความสำเร็จในด้านดังกล่าวข้างต้น โดยนโยบายต่าง ๆ เป็นสิ่งที่หน่วยงานได้มีการดำเนินการแล้ว หรืออยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งนโยบายที่อยู่ในกรอบนโยบายมาตรการ ธนาคารโลกไม่ถือว่าเป็นข้อผูกมัดที่ประเทศไทยจะต้องดำเนินการให้สำเร็จเพื่อให้ได้เงินกู้ (unconditionality)
3. เงื่อนไขสัญญากู้เงิน
ผู้กู้ : กระทรวงการคลังในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย ผู้ให้กู้ : ธนาคารโลก วงเงินกู้ : เป็นเงินกู้สกุลเงินเหรียญสหรัฐ อัตราดอกเบี้ยลอยตัวในวงเงิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
การเบิกจ่ายเงินกู้ : ภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2553 (ซึ่งสามารถขยายระยะเวลาการเบิกจ่ายได้ตามความจำเป็น)
ระยะเวลากู้เงิน : 20 ปี (รวมระยะเวลาปลอดหนี้ 8 ปี)
งวดการชำระดอกเบี้ย : ชำระดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้ง
การชำระคืนต้นเงินกู้ : แบ่งเป็น 24 งวด กำหนดชำระปีละ 2 ครั้ง โดยเริ่มชำระคืนต้นเงินกู้งวดแรกในวัน
ชำระดอกเบี้ยงวดที่ 18 และชำระคืนต้นเงินกู้งวดสุดท้ายในวันชำระดอกเบี้ยงวดที่ 24
Front-end Fee : อัตราร้อยละ 0.25 ของวงเงินกู้
อัตราดอกเบี้ย : ใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัวของเงินกู้สกุลเงินเหรียญสหรัฐซึ่งมีวิธีคำนวณตามอัตรา
ต้นทุนการกู้เงินของธนาคารโลกบวกค่าธรรมเนียมและส่วนต่าง ซึ่งธนาคารโลก
จะปรับอัตราดอกเบี้ยทุก 6 เดือน (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยลอยตัวสกุลเงินเหรียญสหรัฐ
ระยะเงินกู้เฉลี่ย 15 ปี อยู่ที่ ร้อยละ 3.55)
เงื่อนไขอื่น ๆ : สัญญากู้เงินต้องมีผลบังคับใช้ภายใน 90 วัน หลังจากวันลงนามในสัญญา
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2552 ให้กระทรวงการคลังดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องกับสัญญาเงินกู้ ก่อนนำเสนอร่างสัญญาเงินกู้และเอกสารที่เกี่ยวข้องให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป ในการนี้ กระทรวงการคลังได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้1) จัดทำการเผยแพร่ข้อมูลในเว็บไซต์ของกระทรวงการคลังและหน่วยงานอื่นๆ ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 25522) แต่งตั้งคณะทำงานจัดการประชุมการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการจัดทำกรอบเจรจากู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในจังหวัดหลักๆ ของประเทศไทย
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 พฤษภาคม 2552 --จบ--