สรุปผลการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน+3

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 14, 2009 08:43 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง สรุปผลการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน+3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) สมัยพิเศษ

ว่าด้วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ(เอช1เอ็น1)

คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน+3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) สมัยพิเศษว่าด้วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ(เอช1เอ็น1) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ดังนี้

1. ประเทศไทยโดยกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน+3 สมัยพิเศษว่าด้วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ (เอช1เอ็น1) ระหว่างวันที่ 7 — 8 พฤษภาคม 2552 ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ เพื่อร่วมหารือถึงมาตรการในการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิด A(H1N1) โดยวันที่ 7 พฤษภาคม 2552 เป็นการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสระดับปลัดกระทรวงสาธารณสุข และวันที่ 8 พฤษภาคม 2552 เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีสาธารณสุขของประเทศสมาชิกอาเซียน+3 รวม 13 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาลาเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยมีผู้สังเกตการณ์จากองค์กรระหว่างประเทศทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมทั้ง ผู้บริหารและนักวิชาการจากกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้น 115 คน

2. การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสมี Dr. Enrique Amar Tayag, Director IV, National Epidemiology Center กระทรวงสาธารณสุขฟิลิปปินส์ เป็นประธานการประชุม และการประชุมระดับรัฐมนตรีมี H.E. Dr. Francisco T. Duque III รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขฟิลิปปินส์ (ในฐานะประธานการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนประจำปี 2552) เป็นประธานการประชุมฯ ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีฯ รัฐมนตรีช่วยฯ และผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ได้แก่ 1) H.E. Pehin Dato Suyoi Osman รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขบรูไนดารุสซาลาม 2) H.E. Dr. Mam Bunheng รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกัมพูชา 3) H.E. Supari Siti Fadilah รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซีย 4) H.E. Dr. Ponmek Dalaloy รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลาว 5) H.E. Dato’ Sri Tiong Lai Liow รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซีย 6) H.E. Dr. Balaji Sadasivan รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ 7) นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไทย 8) H.E. Trieu Quoc Nguyen รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเวียดนาม 9) H.E. Dr. Chen Zhu รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจีน 10) Dr. Takao Watanabe รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่น และ 11) Dr. Lee Dukhyoung ผู้ช่วยรัฐมนตรีด้านนโยบายควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สวัสดิการและครอบครัว เกาหลีใต้ มีเพียงประเทศเดียว คือ พม่า ที่ส่งผู้แทนระดับเอกอัครราชทูตเข้าร่วมประชุม

3. ผลการประชุมฯ สรุปได้ดังนี้ :

3.1 สถานการณ์ทั่วไปของการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิด A(H1N1)

ผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรระหว่างประเทศที่เชี่ยวชาญด้านไข้หวัดใหญ่กล่าวถึงอุบัติการณ์ของโรคและความรุนแรงของการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิด A(H1N1) ว่าเป็นโรคระบาดชนิดสายพันธุ์ใหม่ซึ่งยังไม่ทราบระบาดวิทยาของโรคที่ชัดเจน การแพร่กระจายของโรคเป็นไปอย่างรวดเร็วเนื่องจากสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ ปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อมากกว่า 2,000 ราย ใน 23 ประเทศ เป็นเหตุให้องค์การอนามัยโลกได้ยกระดับการแพร่กระจายของโรคเป็นระดับ 5

Dr. David Nabarro, Head of UN System Influenza Coordination (UNSIC) เห็นว่าทุกประเทศได้มีแผนยุทธศาสตร์รองรับการระบาดของโรคไข้หวัดนกอยู่แล้วทำให้สามารถที่จะปรับแผนดังกล่าวในการรองรับการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ได้ทันท่วงที อย่างไรก็ตามขอให้ทุกประเทศเสริมสร้างมาตรการในการป้องกันและเฝ้าระวังโรคดังกล่าวให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

Dr. Ann Schuchat แห่งศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค (Centers for Disease Control and Prevention : CDC) ของสหรัฐอเมริกา กล่าวว่าเชื้อไวรัสที่พบเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว จึงขอให้ทุกประเทศมีการเฝ้าระวังและควบคุมโรคที่เข้มแข็งเพื่อลดอัตราการป่วยและการตาย และการให้ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่

Dr. Keiji Fukuda ผู้เชี่ยวชาญด้านไข้หวัดใหญ่ขององค์การอนามัยโลก ได้รายงานสถานการณ์การระบาดของโรคว่ายังมีการระบาดอย่างต่อเนื่องและพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 20 ปี โดยเฉลี่ย ทั้งในหญิงและชาย มีอาการไม่รุนแรงถึงรุนแรงมาก และผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการท้องเสีย (Diarrhea) อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงของการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ยังไม่รุนแรงเท่ากับไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในปี 1918 และองค์การอนามัยโลกไม่ได้แนะนำให้จำกัดการเดินทางแต่อย่างได ทั้งนี้ ได้เรียกร้องให้ประเทศในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน+3 มีการเฝ้าระวังการระบาดของโรคติดต่ออื่นๆ ด้วย

นอกจากนี้ นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียนได้เรียกร้องให้สมาชิกอาเซียนร่วมมือกันรับมือกับการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ โดยเน้นการให้ความรู้แก่ประชาชนในการสริมสร้างอนามัยส่วนบุคคล ส่วนผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก แสดงความห่วงกังวลต่อการระบาดของโรคเนื่องจากไม่สามารถพยากรณ์ความรุนแรงของการระบาดของโรคได้ และขอให้ทุกประเทศเตรียมความพร้อมในการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายของโรค ตลอดจนเฝ้าระวังการระบาดของโรคไข้หวัดนก (H5N1) ผู้แทนธนาคารโลกได้แสดงเจตนารมณ์พร้อมให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศในภูมิภาคอาเซียน+3 ในการเสริมสร้างระบบการเฝ้าระวังโรคและการเตรียมความพร้อมรับมือกับโรคระบาดไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิด A(H1N1) ให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น

3.2 การเตรียมความพร้อมในการรับมือกับโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิด A(H1N1) ของประเทศสมาชิกอาเซียน+3

จากรายงานสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิด A(H1N1) ของประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ไม่พบผู้ติดเชื้อของโรคนี้ และทุกประเทศมีการเตรียมพร้อมมาตรการการรับมือการระบาดของโรค มีแผนระดับชาติในการเฝ้าระวังโรคตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ (International Health Regulations 2005 : IHR 2005) ตลอดจนการให้ความรู้เรื่องแก่ประชาชนและในการดูแลสุขอนามัยของตนเอง

ที่ประชุมฯ เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกร่วมมือในการป้องกันและควบคุมโรคในภูมิภาค โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนข้อมูลการระบาดของโรค การพัฒนาคุณภาพการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การประสานการควบคุมโรคข้ามพรมแดน พิจารณาดำเนินการตรวจคัดกรองผู้โดยสารขาออก (Exit screening) และการเพิ่มจำนวนยาต้านไวรัสในคลังสำรอง

3.3 Joint Ministerial Statement ว่าด้วยมาตรการในการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิด A(H1N1) ของประเทศสมาชิกอาเซียน+3

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ได้ให้การรับรองแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยมาตรการในการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิด A(H1N1) (Joint Ministerial Statement of ASEAN+3 Health Ministers’ Special Meeting on Influenza A(H1N1)) สาระสำคัญของ Joint Ministerial Statement คือ การปฏิบัติตามมาตรการ 15 ข้อ เพื่อป้องกันและควบคุมการระบาดของโรค

3.4 การเตรียมความพร้อมในการป้องกันและควบคุมการระบาดข้ามพรมแดนของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิด A(H1N1) ของไทย

ประเทศไทยได้มีการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิด A(H1N1) อย่างเข้มแข็ง ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติและแผนปฏิบัติการแม่บทการเตรียมความพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ พ.ศ. 2552 ทั้งนี้ มีมาตรการหลักในการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรค ดังนี้ :

1) การเร่งรัดและเพิ่มระดับความเข้มข้นในการเฝ้าระวังโรค จัดทำแนวทางปฏิบัติเผยแพร่ให้กับสถานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ และทีมเฝ้าระวังและสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว(SRRT)ซึ่งครอบคลุมทุกจังหวัดและอำเภอ เพื่อดำเนินการค้นหาผู้ป่วยและควบคุมโรคได้ทันท่วงที

2) การเตรียมพร้อมด้านการตรวจยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการ

3) การสำรองเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ กระทรวงวาสาธารณสุขได้สำรองยาต้านไวรัส และอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อของบุคลากรสาธารณสุขไว้ เพื่อรักษาและป้องกันโรค โดยมีความมั่นใจว่าเพียงพอต่อการระบาดของโรค

4) การให้สุขศึกษาและประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ข้อมูลประชาชนให้รู้ถึงสถานการณ์ที่ถูกต้องและรู้วิธีในการป้องกันโรคอย่างครบถ้วน โดยออกประกาศคำแนะนำประชาชนในการป้องกันโรคและดูแลสุขภาพผ่านช่องทางสื่อต่างๆ

5) การตรวจผู้โดยสารที่เดินทางมาจากต่างประเทศ มีการติดตั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ (Thermo Scan) ที่สนามบินนานาชาติ เพื่อคัดกรองผู้โดยสารที่มีอาการไข้ การเตรียมพร้อมที่จะใช้งานเมื่อมีความจำเป็นโดยจะดูแลผู้เดินทางให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณมากกว่า 100 ล้านบาท ในการดำเนินการดังกล่าว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 พฤษภาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ