ร่างพระราชบัญญัติกำลังพลสำรอง พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติรับราชการทหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 20, 2009 05:18 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกำลังพลสำรอง พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติรับราชการทหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ และให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติกำลังพลสำรอง พ.ศ. ....

1. กำหนดประเภทบุคคลที่เป็นกำลังพลสำรอง ได้แก่ นายทหารสัญญาบัตร กองหนุน นายทหารสัญญาบัตรนอกราชการ นายทหารสัญญาบัตรนอกกอง นายทหารประทวนกองหนุน พลทหารกองหนุน ทหารกองหนุนประเภทที่ 2 และทหารกองเกิน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายข้อบังคับทหาร หรือระเบียบข้อบังคับของกระทรวงกลาโหมกำหนดลักษณะของทหารแต่ละประเภทดังกล่าว (ร่างมาตรา 3)

2. กำหนดให้ในกรณีที่มีพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง กฎข้อบังคับ หรือระเบียบใดที่มีบทบัญญัติเป็นการกำหนดสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลซึ่งเข้ารับราชการทหารตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร ในส่วนที่เกี่ยวกับการรับราชการทหารตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ให้การรับราชการทหารดังกล่าวหมายความถึงการรับราชการทหารของกำลังพลสำรองตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 4)

3. กำหนดให้มี “คณะกรรมการกำลังพลสำรอง” ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เจ้ากรมเสมียนตรา ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกินหกคน เป็นกรรมการ โดยให้เจ้ากรมการสรรพกำลังกลาโหมเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้เจ้ากรมกำลังพลทหารบก เจ้ากรมกำลังพลทหารเรือ และเจ้ากรมกำลังพลทหารอากาศ เป็นกรรมการและเลขานุการ (ร่างมาตรา 6) และกำหนดให้คณะกรรมการกำลังพลสำรองมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับกิจการกำลังพลสำรอง เสนอแนะคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับกำลังพลสำรอง พิจารณากำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องเกี่ยวกับกิจการกำลังพลสำรอง พิจารณากำหนดแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับกิจการกำลังพลสำรอง เสนอแนะต่อกระทรวงกลาโหมในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่กำลังพลสำรอง และศึกษาและเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายหรือแผนการพัฒนากิจการกำลังพลสำรองและการกำหนดกำลังสำรองแห่งชาติประเภทอื่นเพื่อประโยชน์ในการเตรียมพลของประเทศ (ร่างมาตรา 10)

4. กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับกิจการกำลังพลสำรอง

4.1 กำหนดให้กำลังพลสำรองมีหน้าที่เข้ารับราชการทหารในการเรียกพลเพื่อปฏิบัติราชการ เพื่อตรวจสอบ เพื่อฝึกวิชาทหาร หรือเพื่อทดลองความพรั่งพร้อม และในการระดมพล โดยกำหนดกรอบให้การเรียกพลต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตและวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้โดยได้นำหลักการดังกล่าวมาจากข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการเตรียมพล พ.ศ. 2515 (ร่างมาตรา 15)

4.2 กำหนดให้การบรรจุรายชื่อกำลังพลสำรองในหน่วยทหารและการแจ้งให้กำลังพลสำรองทราบต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงกลาโหมกำหนด (ร่างมาตรา 16 วรรคหนึ่ง)

4.3 กำหนดให้กำลังพลสำรองซึ่งเปลี่ยนแปลงภูมิลำเนา เปลี่ยนชื่อตัวหรือชื่อสกุล หรือเลขประจำตัวประชาชนมีหน้าที่แจ้งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไปยังหน่วยทหารที่ตนมีรายชื่อ และกำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน (ร่างมาตรา 16 วรรคสองและวรรคสาม และร่างมาตรา 23)

4.4 กำหนดให้การส่งคำสั่งเรียกพลหรือหมายเรียกพลต้องกระทำเป็นหนังสือ และให้ส่งหนังสือดังกล่าวโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับหรือการปิดคำสั่งหรือหมาย (ร่างมาตรา 17)

4.5 กำหนดให้กระทรวงกลาโหมมีอำนาจรับสมัครกำลังพลสำรองเพื่อเข้ารับราชการทหารเป็นการชั่วคราวได้ (ร่างมาตรา 18)

4.6 กำหนดให้กำลังพลสำรองที่เข้ารับราชการทหารต้องอยู่ในวินัยทหารและมีฐานะเช่นเดียวกับข้าราชการทหารหรือทหารกองประจำการ โดยให้มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน การเลื่อนยศ หรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง หรือกระทรวงกลาโหมกำหนด แล้วแต่กรณี (ร่างมาตรา 19 และร่างมาตรา 20)

5. กำหนดโทษทางอาญาสำหรับกำลังพลสำรองที่หลีกเลี่ยงหรือขัดขืนไม่เข้ารับราชการทหาร หรือไม่แจ้งการเปลี่ยนแปลงภูมิลำเนา หรือการเปลี่ยนชื่อตัวหรือชื่อสกุล หรือเลขประจำตัวประชาชน (ร่างมาตรา 21 ร่างมาตรา 22 และร่างมาตรา 23)

6. กำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อรองรับให้นำกฎกระทรวง กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ แบบแผน ประกาศ คำสั่ง หรือมติของสภากลาโหมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดให้ทหารกองเกินและทหารกองหนุนมีหน้าที่เข้ารับราชการทหารในการเรียกพลหรือระดมพล ที่ออกตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับกับการรับราชการทหารของกำลังพลสำรองตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะมีการออกกฎกระทรวง กฎ ข้อบังคับ ระเบียบแบบแผน ประกาศ คำสั่ง หรือมติของสภากลาโหมตามพระราชบัญญัตินี้ขึ้นใช้บังคับ (มาตรา 24)

ร่างพระราชบัญญัติรับราชการทหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

1. ยกเลิกความในมาตรา 36 มาตรา 46 และมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 เนื่องจากได้นำหลักการเกี่ยวกับการกำหนดหน้าที่ของทหารกองเกินและทหารกองทุนในการเรียกพลหรือระดมพล และโทษสำหรับการฝ่าฝืนไม่เข้ารับราชการทหารดังกล่าวไปกำหนดไว้ในร่างพระราชบัญญัติกำลังพลสำรอง พ.ศ. .... แล้ว (ร่างมาตรา 3 และร่างมาตรา 5)

2. แก้ไขเพิ่มเติมความในมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 เพื่อให้สอดคล้องกับการยกเลิกความในมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว (ร่างมาตรา 4)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 พฤษภาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ