คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์เกี่ยวกับอายุความ) ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ เป็นการปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเพื่อให้การดำเนินคดีเกี่ยวกับการทุจริตของเจ้าพนักงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
1. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 96 แห่งประมวลกฎหมายอาญาในกรณีความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายใน 6 เดือน (เดิมภายใน 3 เดือน) นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ (ร่างมาตรา 3)
2. เพิ่มความเป็นมาตรา 98/1 แห่งประมวลกฎหมายอาญาโดยบัญญัติให้
2.1 กรณีได้ตัวผู้กระทำความผิดมาแล้ว ให้พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาดำเนินการให้มีการฟ้องผู้นั้นต่อศาลภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้ตัวมา เว้นแต่ศาลจะอนุญาตให้ขยายเวลา
2.2 กรณีมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษผู้กระทำความผิด ถ้าผู้นั้นยังมิได้รับโทษ หรือได้รับโทษยังไม่ครบถ้วนโดยหลบหนี ถ้ายังมิได้ตัวผู้นั้นมารับโทษนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดหรือนับแต่วันที่หลบหนี แม้จะเกินกำหนดเวลาในมาตรา 98 ก็ไม่ถือว่าเป็นอันล่วงเลยเวลาการลงโทษ ให้ลงโทษผู้นั้นในโทษที่ยังมิได้รับหรือที่ได้รับยังไม่ครบถ้วน (ร่างมาตรา 4)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 พฤษภาคม 2552 --จบ--