คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานการเกิดสถานการณ์อุทกภัย (น้ำป่าไหลหลาก) ที่เกิดขึ้นและการดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ระหว่างวันที่ 14-25 พฤษภาคม 2552 สรุปสถานการณ์อุทกภัย (น้ำป่าไหลหลาก)ดังกล่าวดังนี้
1. สรุปสถานการณ์อุทกภัย (น้ำป่าไหลหลาก) และการให้ความช่วยเหลือ (ระหว่างวันที่ 14-25 พฤษภาคม 2552)
1.1 พื้นที่ประสบภัย 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดลำปาง อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ และจังหวัดเลย รวม 4 อำเภอ 16 ตำบล 50 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 5,081 ครัวเรือน 17,073 คน สิ่งสาธารณประโยชน์ ถนน 2 แห่ง ฝาย 20 แห่ง พนัง 2 แห่ง เหมือง 2 แห่ง สะพาน 3 แห่ง และท่อน้ำ 1 แห่ง ได้รับความเสียหาย แยกเป็น
1) จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2552 เวลาประมาณ 15.00 น. เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรในพื้นที่อำเภอเสริมงาม 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลทุ่งงาม (หมู่ที่ 1,5,7,8) ตำบลเสริมซ้าย (หมู่ที่ 3,5,6,9,10) ตำบลเสริมกลาง (หมู่ที่ 2,7,8) และตำบลเสริมขวา (หมู่ที่ 2,10,11,12) ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 3,705 ครัวเรือน 11,833 คน ฝายเสียหาย 3 แห่ง พนัง 2 แห่ง เหมือง 2 แห่ง ปัจจุบันสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
2) จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2552 เวลาประมาณ 03.00 น. เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องที่อำเภอท่าปลาวัดปริมาณฝนได้ 96.8 มิลลิเมตร ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรในพื้นที่ อำเภอท่าปลา 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลท่าปลา (หมู่ที่ 3,4,5) ตำบลน้ำหมัน (หมู่ที่ 1-5,12) ตำบลหาดล้า (หมู่ที่ 3,4,6,7,8) และตำบลจริม (หมู่ที่ 1-12) ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 1,076 ครัวเรือน 4,640 คน ถนน 2 แห่ง ฝาย 17 แห่ง ท่อน้ำ 1 แห่ง ได้รับความเสียหาย ปัจจุบันสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
3) จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2552 เวลาประมาณ 16.00 น.เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรในพื้นที่อำเภอหล่มเก่า 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลนาซำ ตำบลวังบาล ตำบลนาเกาะ และตำบลบ้านเนิน คอสะพานได้รับความเสียหาย 3 แห่ง ปัจจุบันสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
4) จังหวัดเลย เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2552 เวลาประมาณ 20.30 น. เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรในพื้นที่อำเภอด่านซ้าย 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลโคกงาม (หมู่ที่ 2) ตำบลปากหมัน (หมู่ที่ 5) ตำบลด่านซ้าย (หมู่ที่ 7) และตำบลนาดี (บ้านแก่งง่วง) ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 300 ครัวเรือน 600 คน ปัจจุบันสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ
1.2 การให้ความช่วยเหลือ จังหวัด ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเบื้องต้น และเร่งสำรวจเพื่อให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการฯ (งบ 50 ล้านบาท) แล้ว
2. การคาดหมายลักษณะอากาศระหว่างวันที่ 24-30 พฤษภาคม 2552
2.1 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศว่า ในช่วงวันที่ 24-25 พฤษภาคม 2552 ร่องความกดอากาศต่ำกำลังอ่อนพาดผ่านภาคภาคกลาง ภาคตะวันออกตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัด ปกคลุมทะเลอันดามัน และประเทศไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกชุกและมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมในทะเลอันดามันมีกำลังแรง หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 26-30 พฤษภาคม 2552 ร่องความกดอากาศต่ำจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง เว้นภาคใต้ มีฝนลดลง ส่วนคลื่นลมในทะเลอันดามันยังคงมีกำลังแรง ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณ ที่ลาดเชิงเขาและใกล้ทางน้ำไหลผ่าน รวมทั้งพื้นที่ราบลุ่มของภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ให้ระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนักซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้
อนึ่ง เมื่อเวลา 04.00 น. วันนี้ (25 พฤษภาคม 2552) พายุไซโคลน 02B บริเวณอ่าวเบงกอลตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 200 กิโลเมตร ทางทิศใต้ของประเทศบังกลาเทศ หรือที่ละติจูด 20.5 องศาเหนือ ลองจิจูด 89.0 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 75 กม./ชม. พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศเหนือด้วยความเร็ว ประมาณ 15 กม./ชม. คาดว่าจะขึ้นฝั่งบริเวณประเทศบังกลาเทศในวันนี้ (25 พฤษภาคม 2552) ส่งผลให้คลื่นลมในทะเลอันดามันมีกำลังแรง ขอให้ชาวเรือระวังอันตรายในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะ 1-2 วันนี้
2.2 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แจ้งเตือนเกี่ยวกับสภาวะอากาศให้จังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม อันเกิดจากสภาวะฝนตกหนัก อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม สร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ไว้ให้พร้อมเพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ ทันต่อเหตุการณ์เมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้น
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 พฤษภาคม 2552 --จบ--