เรื่อง การเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง จังหวัดหนองคาย เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ
และพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือแรมซาร์ไซต์
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง จังหวัดหนองคาย เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ และเสนอเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศบรรจุไว้ในทำเนียบพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำต่อไป ตามความเห็นของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรายงานว่า
1. ปี พ.ศ. 2538 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมเดิม) ได้ดำเนินโครงการสำรวจ จัดทำทะเบียนรายนาม สถานภาพและฐานข้อมูลพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่งจากสำนักงานความร่วมมือเพื่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาแห่งเดนมาร์ก [Danish Cooperation on Environment and Development (DANCED)] และพบว่าพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทยประกอบด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำแหล่งน้ำจืด ทั้งแหล่งน้ำไหลและน้ำนิ่ง ได้แก่ คลอง ห้วย ลำธาร แม่น้ำ น้ำตก หนอง อ่างเก็บน้ำ เขื่อน ทะเลสาบ บึง พรุหญ้า พรุน้ำจืดที่มีไม้พุ่ม ที่ลุ่มชื้นแฉะ พื้นที่เกษตรที่มีน้ำท่วมขัง และพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเลได้แก่ ปากแม่น้ำ ชายหาด หาดเลน ป่าชายเลน ปะการัง ครอบคลุมพื้นที่อย่างน้อย 36,616.16 ตารางกิโลเมตร (22,885,100 ไร่) คิดเป็นร้อยละ 7.5 ของพื้นที่ประเทศไทย และได้พิจารณาจัดลำดับความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำออกเป็น 3 ระดับ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2543
2. ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำในลำดับที่ 110 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2541 โดยเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำพรุควนขี้เสียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศหรือแรมซาร์ไซต์ ซึ่งพันธกรณีที่สำคัญประการหนึ่งคือการเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีคุณสมบัติทางนิเวศวิทยาเหมาะสม และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของอนุสัญญาฯ ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศหรือแรมซาร์ไซต์ (List of Wetlands of International Importance) ในปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศแล้ว 11 แห่ง ได้แก่ พรุควนขี้เสียน จังหวัดพัทลุง พื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง จังหวัดหนองคาย พื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอด จังหวัดสมุทรสงคราม พื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ จังหวัดกระบี่ พื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย จังหวัดเชียงราย พื้นที่ชุ่มน้ำเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ (พรุโต๊ะแดง) พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง-ปากน้ำตรัง จังหวัดตรัง พื้นที่อุทยานแห่งชาติแหลมสน-ปากแม่น้ำกระบุรี-ปากคลองกะเปอร์ จังหวัดระนอง พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จังหวัดพังงา พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
3. จากการศึกษาของชุมชนและองค์กรกองทุนสัตว์ป่าโลกประจำประเทศไทย พบว่าพื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิงมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง โดยพบพรรณพืชน้ำ 59 ชนิด และพบพืชชนิดใหม่ คือ ต้นเล็บน้ำ (Coldesia sp.) และสาหร่ายข้าวเหนียวดอกม่วง ปลาน้ำจืดประมาณ 123 ชนิด และเป็นแหล่งพักพิงของนกอพยพและนกประจำถิ่นมากกว่า 100 ชนิด เป็นแหล่งรองรับและกักเก็บน้ำและเป็นแหล่งประมงที่สำคัญของชุมชนในพื้นที่ ปัจจุบันมีแนวโน้มกำลังถูกคุกคามจากการบุกรุกและใช้ประโยชน์ ดังนั้น เพื่อให้สามารถนำมาตรการการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติและระดับชาติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2543 ในข้อ 2.2 มาใช้ในการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง จึงจำเป็นต้องยกระดับให้พื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิงเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ
4. คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีมติในคราวการประชุม ครั้งที่ 5/2551 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2551 เห็นชอบกับการเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง จังหวัดหนองคาย เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติและพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศหรือแรมซาร์ไซต์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนำความเห็นของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
โดยที่พื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง จังหวัดหนองคาย มีคุณสมบัติทางนิเวศวิทยาเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ ซึ่งควรมีการดำเนินงานตามมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติและระดับชาติที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2543 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 พฤษภาคม 2552 --จบ--