การดำเนินการตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับการคว่ำบาตรสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 27, 2009 14:41 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบรับรองการดำเนินการตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับการคว่ำบาตรสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติต่อไป โดยให้เป็นไปตามขอบเขตของกฎหมายภายในของไทย รวมทั้งแจ้งผลการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องให้กระทรวงการต่างประเทศทราบ เพื่อรายงานให้สหประชาชาติทราบต่อไป

กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า

1. คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้มีข้อมติที่ 1533 (2004) กำหนดให้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อติดตามการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกและตรวจสอบการละเมิดมาตรการดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วยการคว่ำบาตรทางอาวุธ การห้ามเดินทางผ่านหรือเข้าไปในดินแดน และการอายัดทรัพย์สินของบุคคลและองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความขัดแย้ง รวมทั้งการตรวจสอบแหล่งที่มาของสินค้าประเภทแร่ธาตุที่นำเข้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ซึ่งต่อมาได้มีการรับรองข้อมติอื่นๆ ที่สืบเนื่องจากข้อมติดังกล่าว ได้แก่ ข้อมติที่ 1596 (2005), 1807 (2008) และ 1857 (2008) ตามลำดับ โดยข้อมติล่าสุดมีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2552

2. ไทยในฐานะรัฐสมาชิกสหประชาชาติมีพันธกรณีจะต้องดำเนินการตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงฯ และโดยที่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรองรับเพื่อให้ปฏิบัติตามพันธกรณีตามข้อมติข้างต้นได้อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยึดและอายัดทรัพย์สิน ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่อาจดำเนินมาตรการดังกล่าวได้ กระทรวงการต่างประเทศจึงขอเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบรับรองการดำเนินการตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงฯ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติต่อไป โดยให้เป็นไปตามขอบเขตของกฎหมายภายในของไทย โดยมีข้อมูลประกอบ ดังนี้

2.1 มาตรการคว่ำบาตรทางอาวุธ กำหนดให้รัฐสมาชิกสหประชาชาติดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันการจัดหาและจำหน่ายอาวุธและวัสดุที่เกี่ยวข้อง การเคลื่อนย้ายหรือขนส่งอาวุธโดยเรือหรืออากาศยานของตน รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือด้านคำปรึกษาและการฝึกอบรมทางทหารแก่กลุ่มติดอาวุธสัญชาติคองโกและอื่นๆ ที่ปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่ด้านตะวันออกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (บริเวณ North Kivu,South Kivu และ Ituri) และกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาคีของข้อตกลงสันติภาพ (Global/All-inclusive Agreement) ทั้งนี้ ให้ยกเว้นการดำเนินมาตรการข้างต้นในการจัดหาอาวุธและวัสดุ/สิ่งอุปกรณ์ ที่เกี่ยวข้องให้แก่ภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (United Nations Organization Mission in the Democratic Republic of the Congo : MONUC) กองกำลังนานาชาติ (Interim Emergency Multinational Force) และกองทัพ/ตำรวจคองโก การจัดหายุทโธปกรณ์ที่ใช้เพื่อประโยชน์ในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการป้องกันตนเอง รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการและการฝึกอบรม ซึ่งจะต้องแจ้งให้เลขาธิการสหประชาชาติทราบล่วงหน้า

2.2 การห้ามเดินทาง กำหนดให้รัฐสมาชิกดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลหรือองค์กรตามที่คณะกรรมการฯ ระบุ เดินทางเข้าหรือผ่านดินแดนของรัฐสมาชิก ยกเว้นในกรณีที่คณะกรรมการฯ เห็นว่าการเดินทางดังกล่าวเป็นไปเพื่อความจำเป็นทางมนุษยธรรม ซึ่งรวมถึงศาสนกิจหรือเพื่อช่วยสนับสนุนการสร้างสันติภาพและความปรองดองแห่งชาติในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และสร้างเสถียรภาพในภูมิภาค โดยคณะกรรมการฯ จะพิจารณาเป็นรายกรณี ทั้งนี้ บุคคลและองค์กรดังกล่าวประกอบด้วย

2.2.1 บุคคลและองค์กรที่ละเมิดมาตรการปิดล้อมทางอาวุธ

2.2.2 กลุ่มผู้นำทางการเมืองและทหารคองโกและสัญชาติอื่นที่ละเมิดการปลดอาวุธและการนำผู้ติดอาวุธกลับคืนสู่สังคม โดยยกเว้นกรณีการเดินทางซึ่งเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมและการนำผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศมาลงโทษ

2.2.3 กลุ่มผู้นำทางการเมืองและทหารที่ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับการใช้ทหารเด็ก และปัจเจกบุคคลที่ทำร้ายหรือล่วงละเมิดต่อเด็กในด้านต่างๆ ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งทางอาวุธ

2.2.4 ผู้นำทางการเมืองและทหารของกลุ่มติดอาวุธต่างชาติที่ปฏิบัติการในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ผู้นำทางการเมืองและทหารของกลุ่มเผด็จการทหารคองโกที่ได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติและขัดขวางการปลดอาวุธของสมาชิกในกลุ่ม ผู้นำทางการเมืองและทหารคองโกซึ่งใช้ทหารเด็กในปฏิบัติการขัดแย้งทางอาวุธ ปัจเจกบุคคลซึ่งปฏิบัติการในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกและละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับการทำร้ายหรือล่วงละเมิดเด็กและสตรีภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งทางอาวุธ บุคคลที่ขัดขวางการเข้าถึงและการแจกจ่ายความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และบุคคล/องค์กรที่สนับสนุนกลุ่มติดอาวุธผิดกฎหมายในภาคตะวันออกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก โดยผ่านการค้าทรัพยากรธรรมชาติที่ผิดกฎหมาย

ทั้งนี้ โดยขอให้รัฐสมาชิกจัดส่งรายชื่อและข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลและองค์กรที่เข้าข่ายการถูกคว่ำบาตรให้คณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาประกอบการจัดทำและปรับปรุงรายชื่อบุคคลและองค์กรที่เข้าข่ายการถูกคว่ำบาตรข้างต้น

2.3 การอายัดทรัพย์สิน กำหนดให้รัฐสมาชิกดำเนินมาตรการเพื่ออายัดเงินทุนและสินทรัพย์ต่างๆ ซึ่งอยู่ในการครอบครองหรือการควบคุมของบุคคลและองค์กร โดยใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาเช่นเดียวกับมาตรการห้ามเดินทาง

2.4 การควบคุมการค้าแร่ธาตุ สนับสนุนให้รัฐสมาชิกดำเนินมาตรการตามที่เห็นสมควรเพื่อให้ผู้นำเข้า อุตสาหกรรมแปรรูป และผู้บริโภคผลิตภัณฑ์จากแร่ธาตุของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกตรวจสอบผู้จัดหาและแหล่งที่มาของแร่ธาตุ

2.5 คณะมนตรีความมั่นคงฯ เรียกร้องให้รัฐสมาชิกให้ความร่วมมือในการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรตามข้อมติ และรายงานผลการดำเนินงานให้คณะกรรมการฯ ทราบ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 พฤษภาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ