ขออนุมัติโครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยเพิ่มเติม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 27, 2009 14:52 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีพิจารณาการขออนุมัติโครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยเพิ่มเติม ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ แล้วมีมติ ดังนี้

1. เห็นชอบในหลักการโครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (โครงการ วมว.) ที่ปรับเพิ่มห้องเรียนวิทยาศาสตร์อีก 20 ห้องเรียน ภายในระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553-2555 จนนักเรียนจบการศึกษาในปี 2557 ซึ่งเมื่อปรับเพิ่มห้องเรียนวิทยาศาสตร์ดังกล่าวแล้วมีผลทำให้มีกรอบวงเงินงบประมาณของโครงการ วมว. ตลอดโครงการเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 1,036 ล้านบาท ทั้งนี้ ให้สำนักงบประมาณให้การสนับสนุนงบประมาณต่อไป

2. การปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนห้องเรียนวิทยาศาสตร์ของโครงการ วมว. เป็น 200,000 บาทต่อคนต่อปี

3. การแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารของโครงการ วมว. เพื่อทำหน้าที่ดูแล กำกับ และติดตามการดำเนินงานโครงการ

ทั้งนี้ ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรับความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรายงานว่า

1. การดำเนินงานโครงการ วมว. ในปีแรกซึ่งมีมหาวิทยาลัย-โรงเรียน 4 แห่ง เข้าร่วมดำเนินโครงการ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่-โรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์-โรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี-โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี-โรงเรียนดรุณสิกขาลัย พบว่าการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์สำหรับผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของโครงการ วมว. รวมทั้งการดำเนินงานโรงเรียนวิทยาศาสตร์และห้องเรียนวิทยาศาสตร์ของโครงการอื่นๆ ยังทำได้ปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายผู้เรียน โดยในปีการศึกษา 2551 มีจำนวนนักเรียนที่สนใจและแสดงความจำนงสมัครเข้าเรียนในโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ห้องเรียนวิทยาศาสตร์โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและห้องเรียนวิทยาศาสตร์ของโครงการ วมว. (ซึ่งรับได้ปีละ 120 คน จาก 4 โรงเรียนๆ ละ 1 ห้องเรียน/30 คน) รวมจำนวน 21,669 คน แต่ทั้ง 4 กลไกดังกล่าวสามารถรับนักเรียนได้เพียง 3,528 คน คิดเป็นร้อยละ 16.28 ซึ่งในเรื่องนี้ได้มีมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีศักยภาพอีกหลายแห่งพร้อมทั้งโรงเรียนได้แจ้งว่า มีความพร้อมที่จะมาเข้าร่วมดำเนินโครงการ วมว. เพื่อรองรับการดำเนินงานพัฒนานักเรียนดังกล่าวให้เพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงเห็นความจำเป็นต้องเพิ่มห้องเรียนวิทยาศาสตร์ให้ครอบคลุมทุกมหาวิทยาลัยของรัฐอีก 20 ห้องเรียน โดยปรับเพิ่มขึ้น จำนวน 8,6 และ 6 ห้องเรียนในปีงบประมาณ 2553,2554 และ 2555 ตามลำดับ

2. การดำเนินงานโครงการ วมว. ให้เกิดสัมฤทธิ์ผลสูงสุดนั้น ควรจัดการเรียนการสอนในรูปแบบของโรงเรียนประจำ เนื่องจากต้องจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรการเรียนการสอนนอกเวลาเรียนให้เข้มข้น และจัดส่งนักเรียนไปร่วมกิจกรรมภายนอกโรงเรียนทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้น ค่าใช้จ่ายในการจัดหลักสูตรการจัดการเรียนการสอน การบริหารจัดการหอพักประจำและการดำเนินการสอบคัดเลือกนักเรียน เมื่อเทียบเคียงคุณภาพและประสิทธิผลกับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ที่มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและฐานการผลิตนักเรียนที่มีขนาด 240 คน/ปี ซึ่งใหญ่กว่าของโรงเรียนในโครงการ วมว. (30 คน/โรงเรียน) แล้ว ทำให้งบประมาณที่จัดสรรให้มหาวิทยาลัยในโครงการ วมว.ไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้ คณะกรรมการบริหารโครงการ วมว. จึงมีมติเห็นสมควรให้ปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายการสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนห้องเรียนวิทยาศาสตร์ของโครงการ วมว.เป็น 200,000 บาทต่อคนต่อปี

3. ในส่วนของการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการ วมว. เพื่อทำหน้าที่ดูแลกำกับและติดตามการดำเนินโครงการ จะมีปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นประธาน รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นรองประธาน อธิการบดีมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการหรือผู้แทน คณบดีคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการหรือผู้แทน ผู้อำนวยการโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ โดยมีผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นกรรมการและเลขานุการ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 พฤษภาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ