คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสังเกตของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
กระทรวงการคลังเสนอว่า จากแนวทางตามมติคณะรัฐมนตรี (25 มีนาคม 2551 และ 13 พฤษภาคม 2552) ทำให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการให้กู้ยืมเงินแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพระหว่างศึกษาต้องเพิ่มบทบาท ภาระหน้าที่ให้สอดคล้องกับการดำเนินโครงการกองทุนเงินกู้ยืมที่ผูกพันกับรายได้ในอนาคต โดยการให้กู้ยืมแก่นิสิตหรือนักศึกษาที่ศึกษาในสาขาวิชาที่ขาดแคลน จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศตามแนวนโยบายแห่งรัฐด้านการศึกษา และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว สมควรปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2541 จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. เพิ่มเติมวัตถุประสงค์การให้กู้ยืมแก่นิสิตหรือนักศึกษาที่ศึกษาในสาขาวิชาที่ขาดแคลน จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ
2. เพิ่มอำนาจของกองทุน ในการจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของกองทุน และระดมเงินทุนโดยการกู้ยืมเงิน การออกตราสารหนี้
และการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พร้อมทั้งจัดระบบบัญชีเพื่อรองรับกิจกรรมทางการเงินเพิ่มขึ้นด้วย
3. แก้ไของค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุน
4. แก้ไขอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการกองทุน และกำหนดให้เป็นผู้แทนของกองทุนในกิจการที่เกี่ยวข้องกับบุคคลภายนอก
5. แก้ไของค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่หนึ่ง และคณะอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่สอง
6. แก้ไขอำนาจหน้าที่ของผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืม โดยตัดเรื่องการดำเนินคดีไปกำหนดเป็นหน้าที่ของผู้จัดการ
7. เพิ่มเติมเงื่อนไขการระงับหนี้เงินกู้ยืม
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 มิถุนายน 2552 --จบ--