คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ (กนร.) ครั้งที่ 2/2552 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ) ประธานกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบ
1.1 วาระเพื่อพิจารณาที่ 1 เรื่อง รายงานผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจประจำปี 2551 กนร.รับทราบผลการดำเนินงานของ
รัฐวิสาหกิจในปี 2551 ซึ่งลดต่ำลงกว่าปี 2550 และมีมติ ดังนี้
1.1.1 กำชับกระทรวงเจ้าสังกัดและคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจให้ติดตามผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจอย่างใกล้ชิด
เพื่อให้รัฐวิสาหกิจมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นกว่าปี 2551
1.1.2 ให้รัฐวิสาหกิจนำส่งเงินเข้ารัฐให้ได้ตามเป้าหมาย และให้พิจารณาปริมาณเงินสดที่มีในองค์กรให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
และหากมีเงินสดส่วนที่เกินความจำเป็นในการดำเนินงานและการลงทุนให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินเพิ่มเติม
1.1.3 ให้รัฐวิสาหกิจติดตามการเบิกจ่ายงบลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมาย รวมทั้งเร่งรัดการเบิกจ่ายให้เร็วขึ้นกว่ากำหนด
และพิจารณาโครงการลงทุนเพิ่มเติมระหว่างปีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
1.2 วาระเพื่อพิจารณาที่ 2 เรื่องหลักการและแนวทางการกำกับดูแลที่ดีในรัฐวิสาหกิจ
กนร.เห็นชอบร่างหลักการและแนวทางการกำกับดูแลที่ดีในรัฐวิสาหกิจ ปี .... เพื่อให้รัฐวิสาหกิจถือปฏิบัติต่อไป โดยให้
พิจารณาปรับปรุงถ้อยคำให้มีความชัดเจนขึ้นและเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ
1.3 วาระเพื่อพิจารณาที่ 4 เรื่อง การจัดตั้ง/ร่วมทุนในบริษัทในเครือของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการ
ไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กนร. มีมติดังนี้
กนร.ได้พิจารณาตามกรอบหลักเกณฑ์การจัดตั้ง/ร่วมทุนในบริษัทในเครือตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2550 แล้ว
มีความเห็นดังนี้
1.3.1 เห็นควรให้ความเห็นชอบในหลักการการจัดตั้งบริษัท อีแกท ไดมอนด์ เซอร์วิส จำกัด ของ กฟผ.
1.3.2 เห็นควรให้ความเห็นชอบในหลักการการจัดตั้งบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ของ กฟภ. เฉพาะใน
ส่วนของการดำเนินธุรกิจลงทุนด้านพลังงานไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการจัดฝึกอบรมด้านระบบไฟฟ้า
เท่านั้น โดยให้ กฟภ.ปรับปรุงแผนการจัดตั้งบริษัทฯ ให้สอดคล้องตามความเห็นของ กนร. ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงต้องถือ
ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตามที่หลักเกณฑ์ฯ กำหนด
อนึ่ง ในการเสนอขออนุมัติเงินลงทุนของ กฟผ. และ กฟภ. ในบริษัทในเครือดังกล่าวข้างต้นให้ดำเนินการตาม
กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
1.3.3 เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในธุรกิจสาขาพลังงาน ลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน และมีทิศทางที่เหมาะสมเห็นควร
มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการ
เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงการคลัง กฟผ. กฟน. และ กฟภ. ร่วมกันพิจารณาแผนการจัดตั้ง/ร่วมทุนใน
บริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจกลุ่มไฟฟ้า ทั้งนี้ จะต้องสอดคล้องกับนโยบายของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานด้วย
1.3.4 ในโอกาสต่อไป เพื่อให้เกิดความคล่องตัวแก่รัฐวิสาหกิจในการเสนอขอจัดตั้ง/ร่วมทุนในบริษัทในเครือ จึงเห็นควรให้
รัฐวิสาหกิจนำเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาโดยตรง โดยกระทรวงการคลังจะเป็นผู้เสนอความเห็นเพื่อ
ประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
2. รับทราบ
2.1 วาระเพื่อทราบที่ 1 เรื่อง รายงานสถานะของการสรรหาผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ
กนร. รับทราบรายงานสถานะของการสรรหาผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจตามที่เสนอ พร้อมทั้งให้รัฐมนตรีที่กำกับดูแลรัฐ
วิสาหกิจเหล่านี้เร่งรัดให้รัฐวิสาหกิจในสังกัดดำเนินการสรรหาให้แล้วเสร็จโดยเร็วต่อไป
2.2 วาระเพื่อพิจารณาที่ 3 เรื่อง แผนธุรกิจเพื่อพลิกฟื้นฐานะทางการเงินของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (บมจ.ทีโอที) และ
บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (บมจ.กสท) รับทราบแผนธุรกิจเพื่อพลิกฟื้นฐานะทางการเงินและแนวทางการ
แก้ไขปัญหาการดำเนินธุรกิจของ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท และมอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการ
สื่อสาร ไปดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
2.2.1 พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาข้อพิพาททางกฎหมายระหว่าง บมจ.ทีโอที บมจ. กสท และเอกชน รวมทั้งจัดทำแผน
รองรับความเสี่ยงในกรณีที่ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท แพ้คดี
2.2.2 ร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินการให้สัญญาร่วมการงานระหว่าง บมจ.ทีโอที กับ
เอกชนและสัญญาร่วมการงานระหว่าง บมจ. กสท กับเอกชนเป็นไปอย่างถูกต้องตามกระบวนการตามพระราชบัญญัติว่า
ด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการให้กิจการของรัฐ พ.ศ. 2535
2.2.3 ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจและกรมสรรพากรพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาในเรื่องภาระภาษี
ของ บมจ.ทีโอที จากรายได้ค่าเชื่อมโยงโครงข่าย (Access Charge)
2.2.4 พิจารณาความคุ้มค่าในการลงทุนในโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 (3G) ของ บมจ.ทีโอที โครงการโทรศัพท์
เคลื่อนที่ระบบ CDMA ของ บมจ.กสท รวมทั้งการยกระดับระบบ GSM 900 MHz และ GSM 800 MHz ให้เป็น 3G
ทั้งนี้ จะต้องสอดคล้องกับนโยบายของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ด้วย โดย บมจ.ทีโอทีควร
พิจารณาโครงการลงทุนขยายบริการ Internet Broadband ที่ บมจ.ทีโอที มีความชำนาญให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
2.2.5 พิจารณาวางกรอบการลงทุนในอนาคตของ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท ให้ชัดเจนและไม่ดำเนินการที่ซ้ำซ้อนกัน โดย
ร่วมกันจัดทำแผนธุรกิจในลักษณะพันธมิตรภายใต้กฎระเบียบ การแข่งขันที่เป็นธรรมตามที่ กทช.กำหนด
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 มิถุนายน 2552 --จบ--