ยุทธศาสตร์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 4, 2009 14:34 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการยุทธศาสตร์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ และมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำยุทธศาสตร์ดังกล่าวไปปฏิบัติต่อไป ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ

กระทรวงวัฒนธรรมรายงานว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดีทัศน์เป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยส่งเสริมและสร้างภาพลักษณ์ของประเทศด้วยการถ่ายทอดความเป็นเอกลักษณ์และศิลปวัฒนธรรมผ่านสื่อที่เป็นภาพยนตร์และวีดิทัศน์ให้เป็นที่รับรู้ต่อนานาชาติ สามารถสร้างรายได้และรองรับการจ้างงานภายในประเทศได้จำนวนมากและหลากหลายสาขา ด้วยเหตุนี้ UNCTAD (United Nations Conference on Trade and Development) จึงให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมด้านนี้ เพราะถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สำหรับประเทศไทยมีข้อมูลการศึกษาจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพบว่า ในปี พ.ศ. 2549 ประเทศไทยมีรายได้จากอุตสาหกรรมภาพยนตร์รวมทั้งสิ้น 27,386 ล้านบาท จำแนกเป็นรายได้จากธุรกิจภาพยนตร์ไทย จำนวน 17,800 ล้านบาท และรายได้จากธุรกิจภาพยนตร์ต่างประเทศที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย จำนวน 9,506 ล้านบาท ดังนั้น คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พุทธศักราช 2551 ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคธุรกิจด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์จัดทำร่างยุทธศาสตร์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างภาพลักษณ์ สร้างงานและสร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยกำหนดเป็นกรอบทิศทางและแนวปฏิบัติในการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปปฏิบัติต่อไป โดยมีระยะเวลา 3 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2552-2544 ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. เป้าประสงค์

1.1 เป็นศูนย์กลางในการถ่ายทำ ผลิต เผยแพร่ และจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่สำคัญของโลก

1.2 เป็นแหล่งผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ระดับมืออาชีพ

1.3 เป็นเขตปลอดสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์และวีดิทัศน์

1.4 มีศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์

2. พันธกิจ

2.1 พัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในประเทศไทย ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันการผลิต เผยแพร่ และจำหน่าย

ในระดับโลกเพิ่มมากขึ้น

2.2 พัฒนาบุคลากรรองรับการขยายตัวอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ และการเป็นศูนย์กลางในการให้บริการถ่ายทำภาพยนตร์

และวีดิทัศน์ต่างประเทศในประเทศไทย รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการออกแบบและพัฒนาวีดิทัศน์ของต่างประเทศในประเทศไทย

2.3 ส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาด้านภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของเด็ก เยาวชน และประชาชนที่สนใจทั้งในระบบ นอกระบบ และตาม

อัธยาศัย โดยเฉพาะการส่งเสริมให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่ออุตสาหกรรมวีดิทัศน์ และปรับทัศนคติให้เป็นที่ยอมรับของสังคม

2.4 พัฒนากฎหมาย ระเบียบ แนวปฏิบัติเพื่อลดปัญหาอุปสรรคในการที่ชาวต่างชาติจะเข้ามา ถ่ายทำลงทุน และใช้บริการใน

อุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์

2.5 จัดตั้งหน่วยงานที่มีประสิทธิภาพและเอกภาพ เพื่อรับผิดชอบในการสนับสนุนพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์

2.6 พัฒนาให้มีศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เพื่อให้มีโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีที่เอื้ออำนวยต่อการประกอบ

กิจการในระดับนานาชาติ

2.7 กำหนดมาตรการรณรงค์ ส่งเสริม ให้มีการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์ของผู้ผลิตและสร้างสรรค์อุตสาหกรรมภาพยนตร์และ

วีดิทัศน์เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ

3. ยุทธศาสตร์

3.1 ปรับโครงสร้างการบริหารจัดการอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์

3.2 เสริมสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์เพื่อเป็นรากฐานการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน

ของธุรกิจ

3.3 พัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์

3.4 พัฒนาตลาดภาพยนตร์และวีดิทัศน์

3.5 เสริมสร้างให้ประเทศไทยเป็นเขตปลอดสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์และวีดิทัศน์

3.6 เสริมสร้างค่านิยมที่ถูกต้องในการบริโภค

3.7 ส่งเสริมธุรกิจการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยและความร่วมมือในการสร้างวีดิทัศน์ระหว่างประเทศ

4. กลไกการขับเคลื่อน ให้ความสำคัญกับบทบาทของหน่วยงานภาคเอกชนควบคู่กับภาครัฐ ทั้งในเรื่องความชัดเจนของแนวนโยบาย

กรอบแนวทางการปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกลไกการบริหารที่ชัดเจน มีความเป็นเอกภาพและประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการ

ดูแล กำกับ ตามกฎหมายที่ได้บัญญัติไว้ ซึ่งมีการกำหนดกลไกระดับชาติ ดังนี้

4.1 หน่วยงานหลัก : คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม

4.2 หน่วยงานสนับสนุนภาครัฐ

ภาครัฐ : สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ

ภาคเอกชน : กลุ่มสมาคมและผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 มิถุนายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ