การบริจาคเงินอุดหนุนกองทุนเสริมสร้างสันติภาพของสหประชาชาติ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 4, 2009 15:52 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ทั้ง 3 ข้อ ดังนี้

1. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศใช้ดุลยพินิจอนุมัติการจัดทำเอกสารผนวก (Addendum) ของหนังสือความตกลง (Letter of Agreement : LoA)

ระหว่างรัฐบาลไทยกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme : UNDP) เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2550 ซึ่งเป็นไปตามมติ

คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548

2. อนุมัติให้เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก เป็นผู้ลงนามในเอกสารผนวกดังกล่าวในนามของรัฐบาลไทย

3. อนุมัติในหลักการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสามารถใช้ดุลยพินิจในการดำเนินการบางประการได้

กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า

1. สหประชาชาติได้จัดตั้งกองทุนเสริมสร้างสันติภาพของสหประชาชาติ (Peacebuilding Fund : PBF) เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2549 เป็นกองทุนที่ให้การสนับสนุนด้านงบ

ประมาณเพื่อส่งเสริมให้เกิดกระบวนการต่อเนื่องในการรักษาสันติภาพและระดมความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการเสริมสร้างสันติภาพแก่ประเทศที่เพิ่ง

ผ่านพ้นสภาพความขัดแย้ง โดยระดมเงินสนับสนุนด้วยการขอรับบริจาคจากรัฐสมาชิกของสหประชาชาติ องค์การระหว่างประเทศและภาคเอกชน ซึ่งเป็นการบริจาคโดย

สมัครใจและเป็นครั้งๆ ไป และมีสำนักงานกองทุน (Multi-Donor Trust Fund Office) ภายใต้โครงการพัฒนา แห่งสหประชาชาติ (United Nations

Development Programme : UNDP) เป็นผู้จัดการกองทุน และกระทรวงการต่างประเทศเห็นว่า ไทยในฐานะรัฐสมาชิกสหประชาชาติควรสนับสนุนบทบาทของสหประชา

ชาติในด้านนี้ จึงได้บริจาคเงิน จำนวน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ อุดหนุนกองทุน PBF เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2550 โดยกระทรวงการต่างประเทศได้แต่งตั้งให้อุปทูตรองผู้แทน

ถาวรแห่งประเทศไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก (ในขณะนั้น) เป็นผู้แทนไทยลงนามใน LoA ระหว่างรัฐบาลไทยกับ UNDP เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2550

2. กระทรวงการต่างประเทศเห็นว่า ไทยยังควรให้การสนับสนุนกระบวนการสันติภาพของสหประชาชาติ ประกอบกับไทยได้รับการเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการเสริม

สร้างสันติภาพ (Peacebuilding Commission : PBC) ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2553 ดังนั้น จึงควร

บริจาคเงินอุดหนุนกองทุน PBF ครั้งที่ 2 จำนวน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 350,000 บาท)

3. การบริจาคเงินในครั้งนี้ (ครั้งที่ 2) จะต้องมีการจัดทำเอกสารผนวกของหนังสือความตกลงฉบับวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2550 ซึ่งเอกสารดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้

3.1 จำนวนเงินที่จะบริจาคเพิ่มเติม จำนวน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ

3.2 ชื่อผู้บริจาคในนามของรัฐบาลไทย คือ นายดอน ปรมัตถ์วินัย เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ทั้งนี้ เนื้อหาของ

หนังสือความตกลงเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2550 ยังคงเดิม และ UNDP ได้ลงนามในร่างเอกสารผนวกด้วยแล้ว

4. ร่างเอกสารผนวกดังกล่าวเป็นร่างความตกลงเพื่อแก้ไขหนังสือความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับ UNDP ฉบับวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2550 จึงน่าจะเป็นหนังสือสัญญามาตรา

190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กระทรวงการต่างประเทศจึงขอความเห็นจากคณะรัฐมนตรีก่อนดำเนินการแต่ไม่น่าจะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรค

สองที่จะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาก่อนดำเนินการให้มีผลผูกพัน (การลงนาม) เนื่องจากสาระสำคัญของร่างเอกสารดังกล่าวเป็นการระบุเกี่ยวกับการบริจาคเงิน

เพิ่มเติมของไทย โดยเป็นการบริจาคเงินเพียงครั้งเดียวและไม่มีผลผูกพันงบประมาณข้ามปี ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศมีงบประมาณรองรับการบริจาคดังกล่าวแล้ว อีกทั้ง

ไม่น่ามีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญา หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือมีผลกระทบต่อ

ความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งกระทรวงการ

ต่างประเทศสามารถดำเนินการเรื่อง การบริจาคเงินและการจัดทำข้อตกลงได้ภายใต้กฎหมายและข้อบังคับโดยไม่ต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้เป็นไปตามหนังสือสัญญา

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 มิถุนายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ