คณะรัฐมนตรีรับทราบโครงการการจัดการของเสียในฟาร์มปศุสัตว์ในภาคพื้นเอเชียตะวันออก (Livestock Waste Management in East Asia Project) และอนุมัติงบประมาณสมทบของกรมปศุสัตว์แบบก่อหนี้ผูกพันงบประมาณในระยะเวลาการดำเนินการ 5 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ.2549-2553) วงเงินรวม 42.57 ล้านบาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานว่า
1. กรมปศุสัตว์ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลกในการดำเนินงานโครงการการจัดการของเสียในฟาร์มปศุสัตว์ในภาคพื้นเอเชียตะวันออก (Livestock Waste
Management in East Asia Project) ซึ่งโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อลดผลกระทบจากของเสียอันเนื่องมาจากฟาร์มปศุสัตว์สู่แหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อม โดย
มี 3 ประเทศที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และประเทศไทย ระยะเวลาดำเนินการโครงการ 5 ปีตั้งแต่ปี
2549-2553
2. ตามเงื่อนไขในการดำเนินงานโครงการ กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก สนับสนุนเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่ประเทศไทย (รัฐบาลไทยและเกษตรกร) จำนวน 2 ล้านดอลลาร์
สหรัฐ รัฐบาลไทยจ่ายสมทบโครงการ จำนวน 3.077 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจ่ายสมทบ จำนวน 2.428 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมเป็นเงิน
โครงการทั้งหมดจำนวนเงิน 7.505 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
3. สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ได้ลงนามในเอกสารข้อตกลงการรับเงินทุนช่วยเหลือจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (โครงการการจัดการของเสียในฟาร์ม
ปศุสัตว์ในภาคพื้นเอเชียตะวันออก) ระหว่างราชอาณาจักรไทยและธนาคารนานาชาติเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนา (ธนาคารโลก) ซึ่งเป็นตัวแทนของหน่วยงานกองทุนสิ่งแวดล้อม
โลกแล้ว เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2549 โดยมีรายละเอียดแผนปฏิบัติงานและงบประมาณโครงการรวม 5 ปี ตั้งแต่ปี 2549-2553 เฉพาะงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวข้อง
กับเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลกแก่รัฐบาลไทยและงบประมาณสมทบจากรัฐบาลไทย โดยสรุปเป็นงบประมาณรวมโครงการระยะเวลา 5 ปี
จำนวน 115,858,154.14 บาท ประกอบด้วย เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก จำนวน 73,289,858 บาท และงบประมาณสมทบของรัฐบาลไทย
จำนวน 42,568,296.14 บาท
4. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า จากปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งรัฐบาลได้ใช้งบประมาณนับหมื่นล้านบาทเพื่อแก้ปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
(เฉพาะปี 2549 ใช้งบประมาณ 21,089 ล้านบาท) เมื่อเปรียบเทียบงบประมาณสมทบจำนวน 42,568,296.14 บาท กับประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเข้า
ร่วมโครงการนี้ดังต่อไปนี้
4.1 ฟาร์มสุกรสาธิตที่มีเทคโนโลยีการจัดการของเสียโดยระบบผลิตก๊าซชีวภาพที่มีประสิทธิภาพ จำนวนอย่างน้อย 20 ฟาร์ม (หรือจำนวนสุกร 200,000 ตัว)
4.2 ผลิตก๊าซชีวภาพจากฟาร์มสุกรที่เข้าร่วมโครงการคิดเป็นมูลค่ารวม 1,296,000 บาทต่อปี ซึ่งสามารถคืนทุนค่าก่อสร้างได้ในเวลา 6 ปี (โดยประมาณจากฟาร์มสุกร
ขนาด 10,000 ตัว/ฟาร์ม ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 360 วันต่อปี)
4.3 โครงการจะส่งเสริมให้ฟาร์มสุกร (จำนวนสุกรประมาณ 120,000-150,000 ตัว) ในโครงการเข้าสู่โครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development
Mechanism ; CDM)
4.4 โครงการมีแผนจัดทำระเบียบปฏิบัติที่ดีด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับฟาร์มปศุสัตว์ เพื่อให้เกษตรกรมีวิธีปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีและเหมาะสมร่วมไปกับการจัดทำแผนเชิง
กลยุทธ์การจัดการพื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์ (Spatial Distribution Planning) ประกอบกับแผนด้านการจัดการธาตุอาหาร (Nutrient Management
Planning) ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากฟาร์มปศุสัตว์อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนบนพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียง
4.5 เกษตรกรและเจ้าหน้าที่ผู้ร่วมโครงการมีความรู้ ความเข้าใจในการจัดการสิ่งแวดล้อมจากฟาร์มสุกรที่ถูกต้อง สามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดและแนะนำผู้อื่น
4.6 การเลี้ยงปศุสัตว์ในประเทศไทยมีมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมเป็นที่ยอมรับของประเทศคู่ค้า ป้องกันปัญหาการกีดกันทางการค้า
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 มิถุนายน 2552 --จบ--