รายงานผลการเจรจาการบินระหว่างไทย-อินเดีย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 4, 2009 16:28 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding) ระหว่างไทย-อินเดีย เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2551 ตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอ และให้เสนอรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนมอบให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตยืนยันการปรับปรุงสิทธิความจุความถี่และการแก้ไขปรับปรุง ข้อบทว่าด้วยพิกัดอัตราค่าขนส่ง (ข้อ 8 ในความตกลงฯ ) ข้อบทว่าด้วยความปลอดภัย (ข้อ 7 ทวิ) และเพิ่มเติมข้อบทว่าด้วยความร่วมมือด้านการตลาด (ข้อ 8 ทวิ) ต่อไป

กระทรวงคมนาคมเสนอว่า

1. บริษัทการบินไทย จำกัด ได้มีหนังสือถึงกรมการขนส่งทางอากาศแจ้งแผนการเพิ่มเที่ยวบินไปยังจุดต่างๆ ในอินเดีย คือ เดลี มุมไบ เชนไน และบังกาลอร์ พร้อมขอรับสิทธิ

รับขนการจราจรเสรีภาพที่ 5 พ้นไปยังจุดในยุโรป และสหรัฐอเมริกา และดูไบด้วย จึงได้ขอให้กรมการขนส่งทางอากาศดำเนินการเจรจาการบินกับทางการการบิน

พลเรือนอินเดีย เพื่อปรับปรุงความตกลงฯ ให้บริษัทฯ สามารถทำการบินตามแผนที่เสนอมาได้

2. ได้จัดให้มีการเจรจาการบินระหว่างไทยและอินเดียระหว่างวันที่ 25-26 มีนาคม 2551 ที่กรุงเทพฯ เพื่อหารือกัน ในเรื่องเกี่ยวกับบริการเดินอากาศระหว่างกัน โดยคณะ

ผู้แทนทั้ง 2 ฝ่าย ได้จัดทำบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding) โดยลงนามร่วมกันเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2551 และคณะกรรมการผู้แทนรัฐบาลฯ

ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2551 เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2551 ได้มีมติรับทราบผลการเจรจาดังกล่าวแล้ว ซึ่งผลการเจรจาดังกล่าวจะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

ให้ความเห็นชอบบันทึกความเข้าใจฉบับดังกล่าว ก่อนมอบให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตยืนยันการปรับปรุงสิทธิความจุความถี่และ

แก้ไขปรับปรุงข้อบทว่าด้วยพิกัดอัตราค่าขนส่ง (ข้อ 8 ในความตกลงฯ ) ข้อบทว่าด้วยความปลอดภัย (ข้อ 7 ทวิ) และเพิ่มเติมข้อบทว่าด้วยความร่วมมือด้านการตลาด

(ข้อ 8 ทวิ) ต่อไป โดยผลการเจรจาทั้งสองฝ่ายได้ตกลงในเรื่องดังนี้

2.1 ปรับปรุงสิทธิความจุความถี่ของเที่ยวบินผู้โดยสาร เพื่อให้สายการบินที่กำหนดของทั้งสองฝ่ายสามารถเพิ่มเที่ยวบินระหว่างกันได้มากขึ้นตามแผนความต้องการ และ

เป็นการส่งเสริมให้ปริมาณการจราจรในเส้นทางนี้สามารถเจริญเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง อันจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การค้าและบริการระหว่าง

ประเทศทั้งสองให้เจริญเติบโตอย่างมีศักยภาพต่อไป

2.2 ปรับปรุงข้อบทว่าด้วยพิกัดอัตราค่าขนส่ง เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการเดินอากาศฉบับปัจจุบัน

2.3 ปรับปรุงข้อบทว่าด้วยการใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกัน เพื่อให้สายการบินมีความคล่องตัวในการร่วมมือระหว่างกัน

2.4 เพิ่มเติมข้อบทว่าด้วยความปลอดภัยการบินไว้ในความตกลงฯ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยในการดำเนินบริการของสายการบินให้เป็นไปตามมาตรฐาน

สากลขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ

สาระสำคัญของเรื่อง

1. สิทธิความจุความถี่ของเที่ยวบินผู้โดยสาร : ปรับปรุงสิทธิความจุ/สัปดาห์ สำหรับเที่ยวบินผู้โดยสาร ตามช่วงระยะเวลา เป็นดังนี้

การบินของสายการบินของไทย ไปยัง/มาจาก มุมไบ เดลี กัลกัตตา เชนไน บังกาลอร์ และไฮเดอราบัด

จำนวนของที่นั่ง/สัปดาห์ ในแต่ละทิศทาง

                มุมไบ       เดลี   กัลกัตตา    เชนไน    เชนไน/ดูไบ      บังกาลอร์   ไฮเดอราบัด          รวม
ปัจจุบัน          2,135     2,716    1,820    1,050        1,220        3,185       2,350       14,476
ฤดูร้อน 2551     3,880     4,268    3,640    1,830        1,220        3,185       2,870       20,893
ฤดูหนาว 2551    4,656     5,432    3,640    1,830        1,220        3,185       2,870       22,833
ฤดูร้อน 2552     5,432     5,432    3,640    1,830        1,220        3,185       2,870       23,609

การบินของสายการบินของอินเดีย

จากจุดใด ๆ ในอินเดีย ไปยัง/มาจาก กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และภูเก็ต

  • ตั้งแต่กำหนดการบินฤดูร้อน 2551 20,893 ที่นั่ง/สัปดาห์
  • แต่กำหนดการบินฤดูหนาว 2551 22,833 ที่นั่ง/สัปดาห์
  • ตั้งแต่กำหนดการบินฤดูร้อน 2552 23,609 ที่นั่ง/สัปดาห์

2. สิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 5 : คณะผู้แทนไทยได้เสนอให้มีการแลกเปลี่ยนสิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 5 สำหรับเที่ยวบินผู้โดยสารเพิ่มเติมมากขึ้น เพื่ออำนวย

ความสะดวกให้สายการบินมีความคล่องตัวในการวางแผนการบินมากยิ่งขึ้น ซึ่งฝ่ายอินเดียยังไม่มีนโยบายที่จะตกลงแลกเปลี่ยนสิทธิขนการจราจรเสรีภาพที่ 5 เพิ่มเติมใน

ขณะนี้ ทั้งสองฝ่ายจึงตกลงให้คงสิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 5 ไว้เช่นเดิม

3. ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศ : ตกลงให้ปรับปรุงและเพิ่มเติมข้อบทในความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างกับอินเดีย ดังนี้

3.1 ปรับปรุงข้อบทว่าด้วยพิกัดอัตราค่าขนส่ง

3.2 ปรับปรุงข้อบทว่าด้วยการใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกัน

3.3 เพิ่มเติมข้อบทว่าด้วยความปลอดภัยการบินไว้ในความตกลงฯ ทั้งนี้ ได้เสนอร่างความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศฉบับใหม่ให้ฝ่ายไทยพิจารณา ซึ่งคณะผู้แทนทั้งสอง

ฝ่ายตกลงจะติดต่อประสานในรายละเอียด และนำมาหารือเพื่อให้ข้อยุติในการเจรจาคราวต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 มิถุนายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ